PGS กับการเป็นแนวร่วมการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในยุค Thailand 4.0
ทิศทางเกษตรกรรมยั่งยืนที่บรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) มีเป้าหมายการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 5 ล้านไร่ ในปี พ.ศ. 2564 มีการกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ระบุถึงการขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง คือ การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานและส่งเสริมกระบวนการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System: PGS)
ที่มา: สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
บทความนี้อยากจะช่วยขยายความระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 ที่เน้น “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ควบคู่กับกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เน้นเรื่องศักยภาพของเกษตรกรไทย การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ มีองค์ความรู้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง
โดยอยากจะชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมระบบรับรองแบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มโอกาสและขยายฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง จะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของเกษตร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคตามปรัชญาของระบบรับรอง/ระบบประกันคุณภาพแบบมีส่วนร่วม (PGS) ที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการดูแลคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมๆกัน ตั้งแต่เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการผู้จัดจำหน่ายผลผลิต และผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายทางของสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า ระบบ PGS จะเป็นแนวร่วมที่สำคัญในการยกระดับและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ไทยได้อย่างไร แนวทางและวิธีการจากรูปธรรมการขับเคลื่อน แสดงให้เห็นได้ ดังต่อไปนี้
การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
การส่งเสริมความรู้ต่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งกับผู้บริโภค พบว่าความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภายใต้ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ ความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นทางการ และความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ กล่าวคือ
1) ความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นทางการ ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะเชื่อมั่นในเครื่องหมายหรือตรารับรอง PGS ที่ผ่านการรับรองที่เป็นทางการของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ซึ่งพบได้ในการกระจายสินค้าอินทรีย์สู่ตลาดภายนอก หรือตลาดต่างประเทศ เนื่องจากได้รับการยอมรับร่วมกันของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลที่รับรองโดย IFOAM ได้จัดทำระบบและกระบวนการเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2551 ได้มีการนำไปใช้หลายประเทศ
ตรา PGS สากล รับรองโดย IFOAM
อย่างไรก็ตาม ตรารับรอง PGS ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยมีเพียงบางประเทศที่ IFOAM ให้การรับรองมาตรฐานตรา PGS เช่น ประเทศบราซิล อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ ในขณะที่ ตรา PGS ของประเทศไทย ที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่ผ่านการรับรองจาก IFOAM
2) ความเชื่อมั่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ และรับรู้ร่วมกัน เกิดขึ้นทั้งกับ
การเรียนรู้ร่วมกันผ่านกระบวนการกลุ่ม ตั้งแต่การจัดตั้งกลุ่ม การกำหนดกรอบการบริหารจัดการกลุ่ม กิจกรรมตรวจแปลง หรือการร่วมตรวจรับรองมาตรฐานของผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ผ่านการปฏิบัติตามข้อกำหนด ตามหลักการเกษตรอินทรีย์สากล COROS[1] และอ้างอิงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย มกษ.9000 เล่ม 1 และ 2 ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มหรือชุมชนต้องมาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อแปลงเป็นภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ และเหมาะสมกับวิถีการผลิต ขนาดของฟาร์ม ทรัพยากรที่มีอยู่ สอดคล้องกับเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม และความรู้ความเข้าใจของเกษตรกร
การติดต่อสื่อสารหรือการสร้างความสัมพันธ์กันผ่านพื้นที่รณรงค์ เช่น ตลาดสีเขียว เวทีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค
เริ่มต้นจากการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ผลิต เนื่องจากหลายคนไม่เชื่อมั่นในการผลิตภายใต้วิถีเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะผลผลิตที่จะได้ เครือข่ายจึงมีการเสริมความมั่นใจด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ ที่สำคัญคือ การเข้ามามีส่วนรวมของหลากหลายองค์กรที่ไม่จำกัดเพียงแค่องค์กรด้านการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เช่น สถาบันการศึกษาที่เข้ามาให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงดิน การเข้าถึงราคาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่มีราคาสูงขึ้น เช่น กรณีเครือข่าย PGS จังหวัดสุรินทร์ มีอาจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการรับรองผลผลิตอินทรีย์แบบ PGS มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ได้นำความรู้ทางธุรกิจไปคิดแผนการตลาดและการขายข้าว ผ่านโครงการ Rice for Life และเชื่อมโยงมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อร่วมหาแนวทางในการดึงทรัพยากรจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนธุรกิจเพื่อชุมชนและสังคม เป็นต้น
กระบวนการกลุ่มเพื่อการหนุนเสริมเกษตรกรและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเกษตรอินทรีย์
กระบวนการ PGS จึงสามารถจัดการปัญหาเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรรายย่อยและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเกษตรอินทรีย์ ได้ดังนี้
หลักการที่สำคัญของระบบ PGS คือ การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม โดยระบบกลุ่มจะเป็นกลไกในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผลผลิตมีจำนวนมากพอที่จะทำการตลาดได้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการรับรองแบบชุมชนมีส่วนร่วม (PGS) โดยมีการดำเนินงานใน 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาระบบการรับรองแบบชุมชนมีส่วนร่วม (PGS) ให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งขณะนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เนื่องจาก PGS ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีความหลากหลาย ทำให้ยากต่อการควบคุม และอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าได้
(2) การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้เข้าสู่มาตรฐาน PGS โดยมีการดำเนินงาน 2 หน่วยงาน ได้แก่
- สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินงานเกี่ยวกับระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน หรือ Green net โดยใช้มาตรฐาน IFOAM เป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 16 จังหวัด กลุ่มเกษตรกร 28 กลุ่ม จำนวน 650 ราย หากผ่านการรับรองระบบมาตรฐานแล้วจะสามารถติดฉลาก PGS IFOAM ที่ตัวสินค้าได้
- กรมพัฒนาที่ดิน (พด.) ได้มีการดำเนินการส่งเสริม PGS ร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และในปี 2558 พด. ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ในโครงการ “ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้ทำการผลิตเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS” ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ นครปฐม เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และลำปาง เกษตรกรจำนวน 250 คน
อย่างไรก็ตาม การขยายผลจะเกิดประสิทธิภาพได้ แต่ละส่วนจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทเพื่อให้กระบวนการรวมกลุ่มเกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน โดยเกษตรกรต้องริเริ่มบทบาทของการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง ในขณะที่หน่วยงานรัฐก็ต้องปรับบทบาทสู่การเป็นผู้สนับสนุน (supporter) มากกว่าการเป็นผู้นำความรู้ในการจัดอบรมเหมือนเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้การรวมกลุ่มของเกษตรกรไม่หยุดเพียงแค่การมีโครงการฯจากหน่วยงานราชการไปส่งเสริม แต่พอเงินสนับสนุนหมดก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร จึงเป็นการขยายผลที่มีประสิทธิภาพ เกิดความต่อเนื่อง และยั่งยืน
การรวมกลุ่มเป็นการคัดกรองและสร้างสภาวะความตกลงปลงใจร่วมกัน (agreement state) เพื่อขับเคลื่อนการทำงานที่มีเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดแจ้งมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางที่ขับเคลื่อนโดยปัจเจกบุคคล จึงทำให้ไม่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงมากนัก ดังเช่นที่มีการแลกเปลี่ยนจากเกษตรผู้เข้าร่วมในเวที National PGS Forum ว่า ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมนี้จะทำให้เกษตรกรในระบบเกษตรอินทรีย์จะต้องเหนื่อยขึ้นไปอีก แต่เป็นการมีกำลังใจที่จะเหนื่อยต่อ เพื่อที่จะต่อสู่ร่วมกันอย่างมีคามหวัง เพื่อให้เพื่อนเกษตรกรในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้สามารถเข้าสู่ระบบการรับรองได้ร่วมกัน กระบวนการกลุ่มภายใต้ระบบ PGS นี้ จึงถือเป็นการพัฒนาชุมชนในอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ทำให้มีแต่ผู้ที่แข็งแรงเท่านั้นที่อยู่รอดได้ แต่มีระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันกับผู้ที่ยังไม่พร้อมหรือยังอ่อนแออยู่ ให้สามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้
การรวมกลุ่ม สามารถสร้างระบบในการตรวจสอบคุณภาพการผลิต และรับรองมาตรฐานสินค้าระหว่างกันได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วม ทั้งนี้ กระบวนการเรียนรู้ เริ่มต้นจาก “การจัดเงื่อนไขของกระบวนการเรียนรู้” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ทุกคนเกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย
(1) การบรรยาย เพื่อนำสู่ความเข้าใจเชิงข้อมูลและแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ลักษณะของการบรรยายจะใช้การสื่อสารสองทาง (two-way communication) คือ ทั้งให้ข้อมูล สาระความรู้จากวิทยากรในด้านมาตรฐาน กระบวนการผลิตและการยื่นขอรับรอง เทคโนโลยีชีวภาพ ด้านพืช ด้านข้าว ตลอดจนช่องทางการตลาดและการจำหน่ายสินค้าที่ผ่านการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS และการถามความเห็น การโต้แย้งทางความคิด และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมของผู้เข้าร่วม
อย่างไรก็ตาม การบรรยายจะเกิดการรับฟัง ก็ต่อเมื่อผ่านการละลายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมและสร้างข้อตกลงร่วมกันของกระบวนการเรียนรู้
(2) การลงมือปฏิบัติ ผ่านการจัดกิจกรรม workshop เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง พร้อมกันกับการจัดทำมาตรฐานและข้อกำหนดมาตรฐาน PGS ของกลุ่ม การตรวจเยี่ยมแปลงซึ่งเป็นการเรียนรู้จากแปลงเกษตรจริง (peer review)[2] สร้างการเรียนรู้แบบจดจำได้จากการลงมือปฏิบัติหรือประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อน ที่สำคัญ คือ มีการให้กำลังใจกัน ในการตรวจเยี่ยมแปลงด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบตรวจรับรองให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด เช่น การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและคุณภาพชีวิตของชุมชน เช่น กรณีเครือข่าย PGS จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 10 ปีก่อน ชุมชนบ้านทัพไทย ถือได้ว่าเป็นชุมชนยากจนอันอับ 1 ของ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ แต่ปัจจุบันกระบวนการกลุ่มของสหกรณ์และระบบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน และผลสำเร็จที่สำคัญยิ่ง คือ การดึงคนในชุมชนให้กลับมาสามารถทำมาหากินในชุมชนได้ โดยกว่า 50% ของคนที่อพยพไปทำงานต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ได้กลับมาร่วมในวิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์ของเครือข่าย ผลจากรูปธรรมของ “ตลาดเขียว” ที่สร้างรายได้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในชุมชนให้สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างสังคมครอบครัวและชุมชนให้อยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดได้ นอกจากนี้ ความสำเร็จเล็กๆแต่ก็มีความสำคัญ คือ การเปลี่ยนวิถีการบริโภคของชุมชน จากครัวเรือนที่ต้องซื้อข้าวบริโภคจนสามารถผลิตข้าวที่ปลอดภัยไว้บริโภคเองในชุมชน
นัยสำคัญของระบบ PGS ต่อการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยเห็นได้จากทั้งแนวคิดและภาคปฏิบัติของหลายหน่วยงานที่ขับเคลื่อนและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ PGS ซึ่งเป็นการถมช่องว่างของปัญหาสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่น่าเชื่อถือของระบบตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ปัญหาปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด ปัญหาการไม่สามารถขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ตรงตามเป้าหมาย ฯลฯ ทั้งนี้ ระบบ PGS ในการการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในยุค Thailand 4.0 จึงไม่ใช่การเติบโตแบบโดดเดี่ยว คือ ปล่อยให้คนที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอดในสังคมแห่งการแข่งขัน โดยปล่อยคนที่อ่อนแอทิ้งไว้ข้างหลัง หากแต่เป็นระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมที่เกิดจากการริเริ่มของกระบวนการทางสังคมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมในสังคมในตัวของมันเอง และไม่ใช่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือมาตรฐานการส่งออกที่ถูกออกแบบมาจากภายนอกแล้วมากำกับเกษตรกรให้ต้องยอมรับหรือปฏิบัติตาม แต่กระบวนการ PGS จำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานและกระบวนการกลุ่มที่สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มหรือเครือข่าย การออกแบบวิธีการจัดการเกษตรอินทรีย์ การรวบรวมผลผลิตในชุมชนสู่ตลาด การจัดการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิค นวัตกรรมภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะเอื้อประโยชน์ต่อระบบกลุ่ม และการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับวิถีของท้องถิ่นแต่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ
ผู้เขียน
ปิยาพร อรุณพงษ์
[1] COROS: Common Objectives and Requirements of Organic Standards เป็นกรอบของเกณฑ์ข้อกำหนดกลางและเป้าหมายที่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ควรมีเป็นพื้นฐานขั้นต่ำ
[2] ระบบการตรวจเยี่ยมแปลง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมประเมิน ให้คำแนะนำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน
ที่มาของข้อมูล
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. เอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2558 เรื่อง “ทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)”
การเสวนาหัวข้อ “ข้อเท็จจริงของการรับรอง แบบ PGS” ในงาน Organic & Natural EXPO 2015 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 กรกฎาคม 2558.
เวทีเสวนา “ระบบการรับรองแบบมีส่วนรวม (PGS)” ในงานมหกรรม “วันสังคมสุขใจ” ครั้งที่ 2 ณ สวนสามพราน ระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม พ.ศ. 2558.
งานสัมมนาการขับเคลื่อน PGS ของประเทศไทย (National PGS Forum) ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559.