พัฒนาการเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนของคนเมืองลุง
กว่าสองทศวรรษ วาทะกรรมเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรกรรมทางเลือกจากไม่มีพื้นที่ยืนในกระบวนงานพัฒนาและดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ แต่กลุ่มผู้บุกเบิกได้พยายามเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างเข้มแข็ง โดยมีเพื่อนๆที่เห็นสอดคล้องในแนวทางเดียวกันสนับสนุนให้กำลังใจ และพยายามแสดงรูปธรรมให้เห็น ดังนั้นแล้วเมื่อย้อนไปยี่สิบปีที่ผ่านมาผู้บุกเบิกแนวทางนี้ไม่ว่าในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศไทยอาจจะถือได้ว่าเป็นการมองเห็นสิ่งที่ควรจะเป็นและมีคุณค่าก่อนเวลา ในขณะที่ส่วนพัฒนาอื่นๆยังคงวิ่งตามกระแสหลัก บทพิสูจน์คุณค่าของเกษตรกรรมยั่งยืนข้ามกาลเวลาและยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อสภาพปัญหาต่างๆเข้มข้นขึ้นตามตัว อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาหนี้สิน วัฒนธรรมสูญหาย ภัยพิบัติ ความไม่เป็นธรรม การตลาดที่เอาเปรียบ ตลอดจนความไม่มั่นคงทางอาหาร
สภาพปัญหาเหล่านี้เองที่ประดังเข้ามากลายเป็นเป็นตัวพิสูจน์ถึงคุณค่าของเกษตรกรรมยั่งยืนว่าสามารถเป็นทางเลือกทางรอดได้ และเปลี่ยนการแก้ปัญหาหลายอย่างจากสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ยุทธศาสตร์การเกษตรที่ปัจจุบันกำลังมุ่งสู่แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ว่าในระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นเนื้อหาในงานพัฒนาเรื่องเกษตรนิเวศ หรือในประเทศไทยเองที่พบว่าคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเริ่มจับมือกันเป็นเครือข่ายทำการเกษตรที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตามหลายกลุ่มไม่ได้จัดตั้งกลุ่มและเปลี่ยนทิศทางเกษตรจากแบบกระแสหลักมาเป็นแบบยั่งยืนได้ในไม่กี่วัน แต่หลายกลุ่มได้ผ่านบทเรียนการทำงานมาอย่างยาวนานกว่าจะเป็นกระบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนที่เข้มแข็งได้ ดังตัวอย่างเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนที่ก่อตัวในจังหวัดพัทลุง ที่บ่มเพาะยาวนานจนตกผลึกและกลายเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดในที่สุด
กระบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพัทลุง ได้เดินทางมาเป็นระยะมากกว่า 25 ปี เกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เริ่มมีมากขึ้น ไปพร้อมกับผู้บริโภคที่มากขึ้น อีกทั้งการให้ความสนใจและทำงานร่วมอย่างต่อเนื่องของฝ่ายราชการและองค์การบริหารส่วนจังหวัดและท้องถิ่น จึงเป็นความสนใจของชุมชน สังคมและตกผลึกร่วมกันที่จะขับเคลื่อนวางเป้าหมายให้จังหวัดพัทลุงไปสู่เมืองเกษตรอินทรีย์ โดยได้ร่วมกันประชาคมเกิดแผนยุทธศาสตร์จังหวัดว่าด้วย “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าวอินทรีย์ จังหวัดพัทลุง” ปี 2559-2563 ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าของการสร้างสรรค์การทำงานระดับจังหวัดโดยอาศัยเกษตรอินทรีย์เพื่อยกระดับความสุขให้คนเมืองลุง ผ่านยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งอาจถือว่าคิดได้เร็วกำเนิดก่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ในยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรยังไม่นำเอาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นแนวโน้มหลักในการพัฒนา โดยจะเห็นจากมีเป้าหมายให้เกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.3 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดในปี 2564
การก่อตัวของเกษตรอินทรีย์ก่อนจะถึงการทำยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าวอินทรีย์ จังหวัดพัทลุงที่เริ่มพัฒนาตั้งแต่ ปี 2559 เป็นแผน 5 ปี คือ 2559-2563 แต่การพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนและนาอินทรีย์มีมาก่อนหน้านั้น จุดเริ่มต้นสำคัญของการรวมกลุ่มวิเคราะห์ปัญหาของเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกัน นั่นคือ ประการแรก สาเหตุจากภัยธรรมชาติ เนื่องจากในปี 2518 น้ำท่วมนาข้าวทำให้เกิดความเสียหายมากกับชุมชน ต่อมาในปี 2525 ประสบปัญหาน้ำเค็มไหลเข้าในคลองปากประหนัก และปี 2535 หอยเชอรี่ระบาดทำลายนาข้าว ปี 2548 ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอีกครั้งทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่นาข้าวทำให้ข้าวเสียหาย และปัญหาต่อมาเกิดจากมนุษย์ ในปี 2518 เช่นกัน เกษตรกรใช้ฟูราดาน และสารเคมีทำลายตอยางพาราในพื้นที่ภูเขา ทำให้สารพิษไหลลงสู่แหล่งน้ำ ปลาและพืชอาหารในนาข้าวเริ่มลดลง นอกจากนี้สารพิษตกค้างทำให้ผลผลิตข้าวลดลง สุดท้ายวัฒนธรรมข้าวสูญหายไป เช่น การทำขวัญข้าว การแรกเก็บข้าว การกวนข้าวยาคู ต่อมาในปี 2522 เกษตรกรเริ่มทำนาปรัง โดยใช้รถไถเดินตามและปลูกข้าวพันธุ์ กข7 ข้าวพันธุ์ กข11 และข้าวพันธุ์ กข13 ทำให้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองสูญหาย และสมาชิกในชุมชนเกิดปัญหาหนี้สิน
และในปัจจุบันวิถีการผลิตเปลี่ยนจากระบบเกษตรแบบดั้งเดิมไปอย่างมาก ชาวนาหลายท่านในกลุ่มเกษตรกรรมเลือกเมื่อครั้งคุยแลกเปลี่ยนความคิดเรื่อง เวทีทบทวนความรู้และพัฒนาโจทย์เพื่อการปรับตัวของชาวนาไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงการผลิตและการตลาดข้าว” [ที่มา : 2 สิงหาคม 2559 ณ. วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ] ความงดงามของวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ คนในชุมชนมีความสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างคนในชุมชน และคนกับสิ่งแวดล้อม ถูกเปลี่ยนเป็นระบบเกษตรเพื่อการค้า มีการส่งเสริมการใช้สารเคมีทางการเกษตร การปลูกพืชเชิงเดี่ยว และระบบการผลิตที่ทันสมัย เกษตรกรเป็นนักจัดการนา คือจ้างเกือบทุกอย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนเริ่มหายไป
จากกระบวนการกลุ่ม รวมกันวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ผนวกกับมีหลายองค์กรด้านงานพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน อาทิ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดพัทลุง ฯลน เข้าร่วมทำงานผลักดัน โดยสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกันในการนำระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ไปใช้เพื่อเป็นทางออกกับปัญหาต่างๆ และมีต้นแบบที่วิเคราะห์ปัญหาและสร้างทางออกในการแก้ปัญหาโดยใช้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ทำให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรรมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภูมินิเวศ
การก่อตัวของเครือข่ายชาวนาทางเลือก เครือข่ายในพื้นที่นา เป็นกลุ่มที่มีการพัฒนาแบบวิถีชุมชน โดยเริ่มจากการเป็นสมาชิกในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเมืองลุง ตามความต้องการร่วมกันของสมาชิกในชุมชน เดิมเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเมืองลุงเมืองจำนวนสมาชิก 10 กลุ่ม รวมทั้งหมด 209 ครอบครัว และมีภาคีองค์กรชาวบ้านร่วม 6 กลุ่ม [ที่มา : สำรวจข้อมูลปี 2558] ปัจจุบัน คือ ปี 2560 กลุ่มได้มีการขยายตัวมากขึ้น [ที่มา : ข้อมูลจากผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ปี 2560]
การรวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์จังหวัดพัทลุงแบ่งได้ 3 ขั้นตอน ได้แก่ เป็นขั้นการเริ่มต้น ขั้นการรวมกลุ่ม และขั้นการบริหารจัดการกลุ่ม ดังแผนภาพข้างล่างซึ่งในแต่ละระยะให้ความสำคัญต่อประเด็นเนื้อหาแตกต่างกันในขั้นเริ่มต้นมีการวิเคราะห์ปัญหา จัดการข้อมูล และประเด็นสำคัญร่วมต่างๆของเครือข่าย อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมและลดลง รายได้ไม่เพียงพอ วัฒนธรรมสูญหาย ฯลฯ ต่อมามีการรวมกลุ่ม ซึ่งการรวมกลุ่มสามารถแบ่งเป็น 3 ระยะ และในขั้นสุดท้ายมีการจัดการความรู้ และบริหารจัดการกลุ่ม ซึ่งเน้นเรื่องการจัดการองค์กร จัดการทุนและสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น
พัฒนาการของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จังหวัดพัทลุง หากเริ่มนับจากปี 2537 สามารถแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 : ระยะค้นหา สร้างผู้นำและการเรียนรู้ของสมาชิกชุมชน เริ่มจากการจัดสมัชชาเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ในปี 2535-2539 ค้นหาเกษตรต้นแบบ เช่น ลุงเคียง คงแก้ว สวนสังคมวนเกษตร ซึ่งมีแนวคิดและพื้นที่รูปธรรม มีสาระของการจัดการเพื่อการพึ่งตนเอง เชื่อความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และระบบภายในแปลงพืช ผัก ต้นไม้ สัตว์ อยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีการพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกภายในชุมชนและเครือข่ายได้มีการนำความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแกนนำและกำลังพัฒนาระบบเกษตรกรรมทางเลือก/เกษตรอินทรีย์ซึ่งเน้นการพึ่งตนเองของชุมชน เรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม
ระยะที่ 2 : ระยะจัดตั้งและการพัฒนาเครือข่ายเกษตรทางเลือกเมืองลุง ชุมชนรวมกลุ่มเรียนรู้ครั้งแรกจากการจัดสมัชชาเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ จากนั้นปี2540-2543 ได้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ ในระบบเกษตรเน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น สวนสมรม ไร่นาสวนผสม และได้มีการร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ มีการหนุนเสริมให้แกนนำแต่ละพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างกลุ่มและพลังของชุมชน ทำให้มีการพัฒนาเกิดเป็นกลุ่มในแต่ละพื้นที่ จำนวน 7 พื้นที่ และต่อมาก็ได้มีคนทำงานของเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ หนุนเสริมให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละกลุ่ม มีการศึกษาดูงาน เวทีประชุม สัมมนา ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาจนเกิดการเชื่อมร้อยเครือข่ายขึ้น เป็นเครือข่ายในระดับจังหวัด ชุมชนจัดตั้งเป็นเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จ.พัทลุง และพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น ต่อมาในปี 2547 เปลี่ยนชื่อเป็นเครือข่ายเกษตรทางเลือกเมืองลุง โดยแบ่งกลุ่มสมาชิก ตามลักษณะภูมินิเวศเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และพัฒนาระบบเกษตรที่สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศ และระบบนิเวศ และการฟื้นระบบความสัมพันธ์เชื่อมโยงช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างภูมินิเวศ เรียก เกลอเขา เกลอเล เกลอนา พื้นที่แบ่งได้ 3 โซน ได้แก่ โซนนา โซนเล และโซนเขา ประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อยจาก 10 กลุ่ม
ระยะที่ 3 : ระยะฟื้นฟูภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ด้วยวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมักมีการพบปะสนทนาและนำผลผลิตทางการเกษตรที่ตนผลิตได้มาทำบุญในงานบุญต่างๆ ร่วมกัน ทำให้สมาชิกชุมชนมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับผลผลิตที่ได้และการทำการเกษตรของแต่ละคน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จากวงสนทนาสมาชิกหลายรายเกิดแนวความคิดต้องการฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิม มีการทำงานร่วมกับภาคีแบบมีส่วนร่วม กระบวนการผลิตนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้ และฟื้นความเชื่อและวัฒนธรรมข้าวในการเคารพแม่โพสพ แม่คงคา แม่ธรณี การทำขวัญข้าว การกวนข้าวยาคู ประเพณีการทิ่มเม่า และการลงแขก (ซอมือ) ออกปากกินนาวาน เป็นต้น นอกจากนี้ในปี 2541 รัฐส่งเสริมให้ปลูกผักพื้นบ้านในบริเวณบ้านไว้บริโภคและจำหน่าย โดยมีคำขวัญการขับเคลื่อน ดังนี้ ‘ผักพื้นบ้าน สืบสานบรรพชน เพื่อคนรุ่นใหม่’ และมีตลาดสีเขียวสำหรับการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และส่วนมีการกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้านในท้องถิ่น
ระยะที่ 4 : การจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นจากกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเมืองลุงสนใจผลิตเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี จึงมีแนวคิดจัดตั้งกลุ่มทำนาเกษตรอินทรีย์ และแนวคิดดังกล่าวขยายสู่กลุ่มอื่นๆ ด้วยกลไกการแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชน และกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเมืองลุงสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตพืชอินทรีย์ ทำให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์เพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้น จึงจัดตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในที่สุด และตั้งแต่ปี 2548 นั้น ประเด็นข้าวถูกให้ความสำคัญเป็นหลักในการขับเคลื่อน เนื่องจากการลดลงของพื้นที่นาข้าว มีการใช้พื้นที่นาปลูกยางพาราและปาล์มมากขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการทำนาปัจจุบันต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก เช่น เกษตรกรต้องซื้อพันธุ์ข้าว จ้างไถนา การขาดสืบต่อจากคนรุ่นใหม่ ฯลฯ ครัวเรือนที่มีนาที่นาจึงเลิกทำนาปล่อยเป็นนาร้างมากขึ้นเช่นกัน สำหรับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีการรวมกลุ่มวิเคราะห์ปัญหาจึงเห็นร่วมกันว่าชาวนาควรจะเปลี่ยนรูปแบบมาให้ความสำคัญกับการทำนาอินทรีย์ ที่เป็นการพึ่งตนเอง และเกื้อกูลระบบนิเวศ จึงจะเป็นรอดได้
ข้างต้นจะเห็นว่าการระเบิดและแพร่หลายของเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดพัทลุงเริ่มต้นจากคนไม่กี่คน โดยรวมกลุ่มพูดคุย แลกเปลี่ยนกันถึงสภาพปัญหา และตกลงเลือกใช้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาและสร้างกระบวนพึ่งตนเอง และเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มแล้ว จึงรวมกันเป็เครือข่ายและสถาบันในที่สุด สำหรับนโยบายนั้นพึ่งก่อเกิดภายหลังพัฒนาการที่เล่ามานี้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การขยายงานนั้นต้องอาศัยกระบวนการทางด้านงานพัฒนาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน อาทิ มีการจัดกระบวนการที่ดี มีประเด็นเหมาะสม มีการเชื่อมโยงประเด็นกับปัญหามิติอื่น มีภาคีหลายระดับ เป็นต้น
กว่าสองทศวรรษ วาทะกรรมเกษตรกรรมยั่งยืนหรือเกษตรกรรมทางเลือกจากไม่มีพื้นที่ยืนในกระบวนงานพัฒนาและดูเหมือนว่าเป็นไปไม่ได้ แต่กลุ่มผู้บุกเบิกได้พยายามเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างเข้มแข็ง โดยมีเพื่อนๆที่เห็นสอดคล้องในแนวทางเดียวกันสนับสนุนให้กำลังใจ และพยายามแสดงรูปธรรมให้เห็น ดังนั้นแล้วเมื่อย้อนไปยี่สิบปีที่ผ่านมาผู้บุกเบิกแนวทางนี้ไม่ว่าในจังหวัดพัทลุงและทั่วประเทศไทยอาจจะถือได้ว่าเป็นการมองเห็นสิ่งที่ควรจะเป็นและมีคุณค่าก่อนเวลา ในขณะที่ส่วนพัฒนาอื่นๆยังคงวิ่งตามกระแสหลัก บทพิสูจน์คุณค่าของเกษตรกรรมยั่งยืนข้ามกาลเวลาและยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อสภาพปัญหาต่างๆเข้มข้นขึ้นตามตัว อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาหนิ้สิน วัฒนธรรมสุญหาย ภัยพิบัติ ความไม่เป็นธรรม การตลาดที่เอาเปรียบ ตลอดจนความไม่มั่นคงทางอาหาร สภาพปัญหาเหล่านี้เองที่ประดังเข้ามากลายเป็นเป็นตัวพิสูจน์ถึงคุณค่าของเกษตรกรรมยั่งยืนว่าสามารถเป็นทางเลือกทางรอดได้ และเปลี่ยนการแก้ปัญหาหลายอย่างจากสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้……….
เขียนโดย เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน
แหล่งข้อมูลที่อ้างถึง
โครงการศึกษาองค์ความรู้การจัดการเกษตรกรรมยั่งยืน สู่การขับเคลื่อนระดับนโยบาย จังหวัดพัทลุง.2558. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)
http://www.nesdb.go.th/ewt_news.php?nid=6101&filename=index เผยแพร่ วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ