หนุนโรงไฟฟ้ากระบี่ สิทธิชุมชนที่ขาดเป้าหมายสังคมอันดีงาม

“ชาวกระบี่ร่วมครึ่งหมื่น แสดงพลัง “สิทธิชุมชน” ยื่นหนังสือสนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” พาดหัวข่าวของเว็บไซด์ www.balanceenergythai.com/we-want-krabi-powerplant/ เมื่อวันที่ 9 กุมพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานรัฐ นำเอาวาทกรรม “สิทธิชุมชน” อันเป็นวาทกรรมหลักที่ฝ่ายชุมชนและประชาสังคมใช้ต่อสู้กับนโยบายและโครงการของรัฐที่ทำลายชุมชนและฐานทรัพยากรมาย้อนศรฝ่ายต่อต้านโรงไฟฟ้า
เอาเข้าจริงในเนื้อข่าว กลุ่มผู้นำชาวบ้านโดยประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ที่มายื่นหนังสือถึงนายอำเภอไม่ได้ใช้วาทกรรม “สิทธิชุมชน” ซักคำเดียว แต่ก็ให้เหตุผลในการสนับสนุนว่า “เพื่อให้ภาคใต้มีความมั่นคงด้านพลังงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงส่วนรวมของประเทศ และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”
แม้เครือข่ายกำนันผู้ใหญ่บ้านจะไม่ได้อ้างแนวคิดสิทธิชุมชน แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ วาทกรรม “สิทธิชุมชน” ที่เว็บไซด์ Balance Energy Thai เอามาใส่นั้นวางอยู่บนหลักการอะไร เหมือนหรือต่างอย่างไรกับ “สิทธิชุมชน” ที่ขบวนการคัดค้านโรงไฟฟ้าหรือขบวนการชุมชนปกป้องฐานทรัพยากรต่างๆ เอามาใช้ เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้กระจ่างจำเป็นต้องทบทวนหลักคิดเรื่องสิทธิ และพัฒนาการวาทกรรม “สิทธิชุมชน” ในสังคมไทย
ในหลักคิดทางปรัชญาการเมือง แนวคิดเรื่องสิทธิเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยม ที่เป็นรากฐานหลักของระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยในปัจจุบัน โดยกลุ่มนักคิดเสรีนิยมเชื่อว่า สิทธิปัจเจกเป็นสิทธิธรรมชาติ ที่มีมาก่อนสังคมการเมือง ดังนั้นเมื่อมีรัฐ สิทธิจะต้องได้รับการปกป้อง และส่งเสริมสิทธิทุกด้าน โดยรัฐจะต้องวางตัวเป็นกลาง สนับสนุนให้สิทธิทุกประเภทได้แสดงออก สิทธิจะต้องมีความเป็นสากล เป็นเกณฑ์คุณค่าในตัวเอง ไม่ผูกพันกับหลักศีลธรรมอันใด แม้การใช้สิทธินั้นจะกระทบต่อศีลธรรมของสังคม แต่รัฐและสังคมต้องปกป้องการแสดงออกสิทธิดังกล่าว ปล่อยให้สังคมเป็นผู้ตัดสินเอง
หากแต่ในสายชุมชนนิยมกลับมองตรงข้ามว่า สิทธิไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง แต่คุณค่าอยู่ที่ผลประโยชน์ร่วมของสังคม สิทธิจะมีได้เมื่อเกิดขึ้นจากการเห็นพ้องของกลุ่ม ชุมชน ชาติ ฯลฯ ในช่วงเวลานั้นๆ สิทธิบนฐานชุมชนนิยมจึงเป็นเกณฑ์คุณค่าเฉพาะตามหลักวัฒนธรรมสัมพัทธนิยม ที่ไม่สามารถเอาเกณฑ์คุณค่าสากลไปจับได้ เช่น สังคมแห่งนี้มีประเพณีให้ผู้หญิงมีสามีได้หลายคน เราไม่สามารถเอาเกณฑ์คุณค่าแบบผัวเดียวเมียเดียวไปวิจารณ์ได้ว่าชุมชนนั้นผิดศีลธรรม
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบสุดขั้วทั้งสองฝ่ายต่างก็มีปัญหาในตัวเอง ฝ่ายเสรีนิยมที่พยายามหลุดพ้นจากศีลธรรมหรือเป้าหมายการมีสังคมดีงาม ก็เผชิญปัญหาว่า สิทธิโดยตัวมันเอง เมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้อำนาจอย่างเสรี เราจะตอบคำถามเรื่องสังคมที่ดีงามได้อย่างไร เช่น เราสามารถป่าวประกาศสิทธิในการเรียกร้องให้ทำลายธรรมชาติ สิทธิสนับสนุนการเหยียดเพศ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม สิทธิในแสวงหาความมั่งคั่งอย่างเสรี และอื่นๆ ได้เต็มที่กระนั้นหรือ และสังคมควรจะต้องสนับสนุนการแสดงออกสิทธิเหล่านี้ด้วยมั้ย
เช่นเดียวกับฝ่ายชุมชนนิยม หากเกณฑ์เรื่องสิทธิเป็นเรื่องเฉพาะ ที่แต่ละสังคมกำหนดเองโดยไม่มีเกณฑ์คุณค่าทางสังคม หรือเป้าหมายทางศีลธรรมเพื่อสังคมดีงามกำกับ ประเพณีที่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์โดยอ้างเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนหรือชาติย่อมทำลายชีวิตของสมาชิกในชุมชนได้เช่นนั้นหรือ หรือการอ้างสิทธิประโยชน์ของชุมชนหรือของชาติในระดับผลประโยชน์งอกเงย (ไม่ใช่ระดับสิทธิมนุษยชนของชุมชน) เพื่อใช้ในการรอนสิทธิของสาธารณะ หรือทำลายสังคมที่ดีงาม ก็เป็นสิ่งที่สังคมควรยอมรับหรือ
ไมเคิล แซนเดล นักปรัชญาสาธารณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดชี้ว่า แนวคิดทั้งสองค่ายผิดที่ยึดติดต่อแนวคิดเรื่องสิทธิตามแบบตนเองแบบเบ็ดเสร็จ แต่ไมได้มองถึงเป้าหมายที่สิทธินั้นๆ สนับสนุนว่านำไปสู่สังคมที่ดีงามหรือไม่ สิทธิไม่ได้ตัดขาดในตัวเองแต่ต้องโยงกับคุณค่าทางศีลธรรมของสังคมด้วย (อ่านรายละเอียดใน ปรัชญาสาธารณะ: ความเรียงว่าด้วยสิทธิ ศีลธรรม และประชาธิปไตย, สฤณี อาชวานันทกุล แปล)
ย้อนกลับมาที่จุดกำเนิดแนวคิดสิทธิชุมชนในสังคมไทยว่าอยู่บนฐานคิดแบบไหน แม้ขบวนการปกป้องฐานทรัพยากรจากชุมชนของสังคมไทยจะมีมาหลายทศวรรษ แต่วาทกรรม “สิทธิชุมชน” ปรากฏสู่สาธารณะจริงเมื่อราวปี 2536 จากการผลักดันของขบวนการป่าชุมชน ที่ต่อสู้ปกป้องป่าอันเป็นปัจจัยดำรงชีพ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ท่ามกลางนโยบายรัฐที่ส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ทำลายป่า และการขยายเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ครอบทับป่าทุกประเภทที่แม้จะมีชุมชนอยู่อาศัย รูปธรรมของข้อเสนอทางนโยบายคือ กฎหมายป่าชุมชน
จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว กลุ่มชุมชนต่างๆ ที่ปกป้องนิเวศ เช่น ปกป้องสายน้ำจากการสร้างเขื่อน ปกป้องทะเลชายฝั่งจากเรืออวนลากอวนรุน ปกป้องผืนดิน ระบบนิเวศจาการทำเหมืองแร่ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือ ปกป้องทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรพันธุกรรมจากการแย่งชิงของประเทศมหาอำนาจและบรรษัทข้ามชาติ และอื่นๆ ต่างก็ใช้วาทกรรม “สิทธิชุมชน” จนสามารถผลักดันให้หลักการดังกล่าวบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมต้องใช้แนวคิดเรื่อง “สิทธิ” มารองรับการปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชน ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ในสังคมประชาธิปไตยใช้แนวคิดเรื่องสิทธิในการกำหนดความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของรัฐที่มีต่อประชาชน โดยเฉพาะหลักการสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏเป็นปฏิญญาสากลมาตั้งแต่ปี 1948 ก็คือ สิทธิความเป็นมนุษย์ที่จะดำรงชีพอยู่รอดได้ ดังนั้น การจะถูกนับให้ปรากฏในนโยบายสาธารณะหรือให้รัฐทำหน้าที่คุ้มครองก็จำเป็นต้องนำเสนอผ่านเรื่องสิทธิ
สิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรได้เอาหลักคิดสิทธิมนุษยชนแบบเสรีนิยมมาเป็นราก แต่ปรับหน่วยของสิทธิให้เป็นชุมชน โดยชูเป็นสิทธิธรรมชาติที่มีมาพร้อมกับความเป็นชุมชน มีความเป็นสากลในแง่ความเป็นมนุษย์ของชุมชน มีความเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี แต่ไม่ไปละเมิดเกณฑ์ความเป็นสากลของความเป็นมนุษย์ รัฐหรือสังคมจึงไม่สามารถอ้างผลประโยชน์ในระดับที่สูงกว่ามาละเมิดสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีพของชุมชนได้ เช่น รัฐหรือสังคมไม่สามารถอ้างสิทธิที่จะได้รับความสะดวกสบายจากการมีไฟฟ้าเพิ่ม ลดค่าใช้จ่าย แต่ต้องแลกกับฐานดำรงชีพของชุมชนที่พึ่งพาฐานทรัพยากรได้
ที่ต้องเป็นกลุ่มหรือชุมชน เพราะอัตลักษณ์ ฐานทรัพยากร นิเวศ วัฒนธรรม และปัจจัยดำรงชีพต่างๆ ที่ผู้คนพึ่งพาร่วมกันถูกกระทบหรือถูกละเมิดร่วมกัน ตัวตนที่ถูกละเมิดจึงไม่ใช่ปัจเจก แต่เป็นตัวตนที่มีรากฐานวัฒนธรรม ฐานทรัพยากร ประโยชน์ร่วม หรือหากมองในเรื่องศักยภาพการปกป้องสิทธิ ลำพังการต่อสู้ด้วยปัจเจกก็ยากจะต่อรองอำนาจภายนอกได้ การมีฐานสิทธิมนุษยชนที่นำเสนอผ่านชุมชนจะมีพลังทางสังคมที่สูงกว่า
สิ่งที่ข้อถกเถียงคือ ชุมชนจะอ้างสิทธิหน้าหมู่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของปัจเจกได้มั้ย เมื่อดูในบริบทฐานทรัพยากรกลับปรากฏในทางตรงกันข้าม เมื่อกฎหมายให้อำนาจรัฐและปัจเจก บวกกับการหนุนเสริมของระบบตลาดเสรี เราจึงเห็นเอกชนเข้ามากว้านซื้อที่ดินในชุมชน เช่น กรณีชุมชนชาวเลหาดราไว ภูเก็ต บางรายยึดลำน้ำ หาดสาธารณะ ใช้อวนลากทำลายทรัพยากรที่ชุมชนปกป้อง เป็นต้น ดังนั้นการกอบสร้างสิทธิหน้าหมู่ในสถานการณ์ที่สิทธิปัจเจกถูกสนับสนุนอย่างเสรี และการอ้างสิทธิรัฐเหนือทรัพยากรเป็นไปอย่างเข้มข้น จำเป็นที่ชุมชนต้องสร้างกระบวนการความร่วมมือของสมาชิกในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน ไม่สามารถที่จะออกกฎ กติกาที่ไปรอนสิทธิการดำรงชีพของปัจเจกได้ ซึ่งหากชุมชนไหนอ้างสิทธิชุมชนไปรอนสิทธิดำรงชีพของปัจเจก ก็จะเจอการต่อต้านของปัจเจกที่สามารถเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐได้
สิทธิชุมชนตามหลักคิดของขบวนการฐานทรัพยากร จึงเป็นการเอาหลักความเป็นสากลเรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มเสรีนิยมเป็นฐาน มาต่อยอดกับหลักเรื่องคุณค่า ผลประโยชน์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชุมชนนิยม แล้วจึงสร้างเป็นสิทธิร่วมขึ้นมาอีกชั้นบนฐานการรับรองสิทธิปัจเจก ทั้งหนุนเสริมให้สิทธิปัจเจกที่จะมีฐานทรัพยากรดำรงชีพที่ดีบรรลุเป้าหมาย และกำกับการใช้สิทธิปัจเจกไม่ให้ไปละเมิดสิทธิส่วนรวมของชุมชน หาใช่การสลาย หรือแทนที่สิทธิปัจเจก และที่สำคัญกว่านั้นคือ ใช้ถ่วงดุลกับอำนาจภายนอกที่จะทำลายฐานดำรงชีพของชุมชน
สิ่งที่สิทธิชุมชนบนฐานทรัพยากร ต่างไปจากทั้งค่ายเสรีนิยมกับชุมชนนิยมแบบสุดขั้ว ก็คือ สิทธิของชุมชนที่ปกป้องนิเวศ ป่า สายน้ำ พันธุ์พืช และอื่นๆ นอกจากปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชนของตน (ซึ่งก็เป็นเกณฑ์คุณค่าสากลที่ดีงามด้วยเช่นกัน) ยังเชื่อมโยงกับเป้าหมายสังคมที่ดีงาม เช่น การจัดการทรัพยากรให้สมดุลและยั่งยืน การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม การมีส่วนร่วมของประชาชน ความเป็นประชาธิปไตย และอื่นๆ ขบวนการฐานทรัพยากรไม่ได้กำหนดสิทธิชุมชนที่เป็นเกณฑ์คุณค่าเบ็ดเสร็จในตัวเองที่จะไปละเมิดปัจเจกในชุมชน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในสังคมภายนอกได้ แต่ต้องมุ่งสร้างความชอบธรรมให้สังคมรับรองและสนับสนุน
แล้ว “สิทธิชุมชน” สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ คืออะไร สิทธิที่ให้รัฐทำลายผืนทะเลที่สวยงาม เป็นระบบนิเวศอันสมบูรณ์ที่ชุมชนและสาธารณะพึ่งพิง สิทธิที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนจากถ่านหินอย่างเสรี สิทธิที่จะสร้างกำไรจาการผลิตไฟฟ้า เพียงเพราะถ่านหินมีราคาถูก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกิน “สิทธิชุมชน” ที่เว็บ Balance Energy Thai เอามาอ้าง จึงเป็นสิทธิที่เปลือยเปล่าจากหลักศีลธรรมหรือเป้าหมายที่ดีงามของสังคม มันจึงเป็นวาทกรรมอันว่างเปล่าที่ไร้แก่นสารใดๆ
ผู้เขียน
กฤษฎา บุญชัย
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา