เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs กับปฏิบัติการของพื้นที่ ผ่านการจัดการป่าไม้ ที่ดิน ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

บริบทความเปลี่ยนแปลงของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากในอดีตที่ได้บริหารจัดการ ควบคุมโดยกลไกของหน่วยงานภาครัฐเพียงหน่วยงานเดียว ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เพียงพอในเชิงประสิทธิภาพศักยภาพ ในการดูแลรักษาทรัพยากรที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ เกินกำลังที่จะควบคุม ป้องกันไว้ได้ ขณะเดียวกันนโยบายรัฐรวมถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในอดีตที่ผ่านมาส่งผลต่อการเข้าไปละเมิดสิทธิ กีดกันชุมชนออกพื้นที่ป่า การดูแลรักษา การใช้ประโยชน์ นำไปสู่ความขัดแย้งในการอนุรักษ์ ปกป้อง การใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากร ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และชุมชน
จากบทเรียนความขัดแย้งที่ผ่านนั้นเอง ได้เกิดการสรุปบทเรียนในหลายๆฝ่ายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ได้พยายามค้นหาแนวทางใหม่ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการต่อรอง จัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ ยกระดับปฏิบัติการในการสร้างพลังที่เชื่อมโยงให้เกิดกลไกความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจ ในรูปแบบการจัดการร่วมหรือ Co-Management Approach ซึ่งทำงานภายใต้การยอมรับซึ่งกันและกัน ผ่านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล ชุดความรู้ แผนยุทธศาสตร์ แผนกิจกรรม/งบประมาณ บุคลากร ในการจัดการดูแลรักษาพื้นที่ป่า ที่ดิน รวมทั้งสร้างเครื่องมือใหม่ๆที่จะทำให้เกิดความชัดเจนระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของชุมชน ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่สำคัญคือธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ( Environmental Governance) ที่จะต้องอาศัยกลไกที่สำคัญ 3 ระดับ คือ ระดับการวางกรอบกติกาของชาติ ระดับนโยบายและกฎหมายที่ต้องเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม และการตรวจสอบจากภาคประชาชน และระดับปฏิบัติการ  ที่จะนำไปสู่การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน มาตรการจากการจัดระเบียบโลก (New World Order) ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการตัดสินใจในทางนโยบายของรัฐมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเด็นความเปลี่ยนแปลงของการบริหาร จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบสังคม การเมือง รวมถึงเศรษฐกิจกันเป็นอย่างมาก Sustainable Development Goals (SDGs)หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนในเชิงสำนึกร่วมของพลเมืองโลก ที่ต้องการเห็นอนาคตของแนวทางในการจัดการทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนความยั่งยืน ความเป็นธรรม (Justice) ความเท่าเทียม ( Equity ) ซึ่งส่งผลไปในวงกว้างของประเทศต่างๆอย่างต่อเนื่องและมีพลัง โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมาย

ซึ่งภายใต้แนวทางในการจัดการทรัพยากร ที่ได้ปรากฏให้เห็นจากกระบวนการในการทำงานในระดับพื้นที่และนโยบาย ได้เชื่อมโยงให้เห็นถึงแนวทางในการจัดการที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในการพัฒนากับ เป้าหมายที่ 13 ว่าด้วยดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และเป้าหมายที่ 15 การพิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งทั้ง 2 เป้าหมายจึงมีฐานะที่แสดงถึงความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยการปรับตัวในการทำงาน การปรับปรุง ปฏิรูปกลไก กติกาต่างๆในการจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม ระบบการผลิต เศรษฐกิจ รวมถึงยึดโยงกับปฏิบัติการณ์ที่เป็นรูปธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) โดยมีหน้าที่ ที่สำคัญ เช่น 1) การกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ให้ครอบคลุมทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและบูรณาการ 2. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน 3. กำกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ ยั่งยืนของประเทศ โดยได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน 3 ชุด คือ 1. จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทำหน้าที่จัดทำข้อมูลตามตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs จัดเตรียมระบบติดตามประเมินผล รวมทั้งจัดทำรายงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาจจัดตั้งคณะทำงานตามเป้าหมายแต่ละด้าน 2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ 3. คณะอนุกรรมการการจัดทำฐานข้อมูล
เมื่อสถานการณ์ภาพรวมของแนวทางในการรณรงค์ ผลักดันการสร้างความยั่งยืน ความเป็นธรรม ที่ขยายวงกว้างไปสู่ประชาคมโลก จึงเป็นเหมือนผลสะท้อนที่ผลักดันให้การกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ในการกำกับแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้เกิดสิ่งที่เป็นธรรมาภิบาลในการทำงาน ในระดับต่างๆ ไม่ว่าในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีอํานาจหน้าที่ในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี( พ.ศ. 2560 – 2579 ) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่“ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ภายใต้กรอบคิดหลัก จึงจําเป็นจะต้องมีการวางแผนและกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะยาว และกําหนดแนวทางการพัฒนาของทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้เป็นกรอบแนวทาง การพัฒนาในระยะ 20 ปี ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ ด้านความมั่นคง (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (4) ยุทธศาสตร์ด้าน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

กระบวนการสร้างแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ชาติรวมถึงสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในบริบทที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ ได้ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากการทำงานในพื้นที่ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริบทพื้นที่ตำบลแม่แดด จะประกอบไปด้วย 2 กลุ่มชาติพันธุ์ได้แก่ ชาติพันธ์ปกาเก่อญอ(กระเหรี่ยง) และชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งมีประชากรประมาณ 2,068 คน 1040 ครัวเรือน มีจำนวน 7 หมู่บ้าน 12 หย่อมบ้าน โดยสถานภาพอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (โซน C) และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 116,000 ไร่ คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ตำบลแม่แดด ซึ่งพื้นที่หมุ่บ้านและพื้นที่ทำการเกษตร อยู่ในเขตชั้นคุณภาพลุ่มนํ้าที่ 1 ประมาณ 10,0512 ไร่คิดเป็นสัดส่วน 86.3 เปอร์เซ็นต์ เขตชั้นคุณภาพลุ่มนํ้าที่ 2 ประมาณ 13,450 ไร่คิดเป็นสัดส่วน 11.6 เปอร์เซ็นต์ ชั้นคุณภาพลุ่มนํ้าที่ 3 ประมาณ 2,056 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 1.8 เปอร์เซ็นต์ ตำบลแม่แดดจึงไม่ต่างไปจากชุมชนในเขตป่าพื้นที่อื่นๆที่มีปัญหาในด้านการเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และการทำมาหากินในเขตป่าไม้

จากแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ถูกยกระดับไปสู่การใช้แนวทางโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม อมก๋อย ในช่วงปี พ.ศ. 2551-2554 (ซึ่งในขณะนั้น อำเภอกัลยาณิวัฒนา ยังขึ้นอยู่กับอำเภอแม่แจ่ม ยังไม่ได้มีการแยกออกมาเป็นอำเภอใหม่) ซึ่งเน้นการจัดระเบียบควบคุมที่ดินทำกินตามสภาพความเป็นจริง เพื่อหยุดยั้งผลกระทบหมอกควันที่เกิดขึ้น โดยใช้รูปแบบการบูรณาการการบริหารจัดการรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่แม่แจ่ม อมก๋อย รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ วิชาการ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนในช่วงปีพ.ศ. 2553 ได้พัฒนาไปสู่โครงการต่อยอดต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย และอำเภอกัลยาณิวัฒนา ได้มีการสำรวจข้อมูลจำแนกพื้นที่ทำกิน ป่าไม้ ที่อยู่อาศัย ที่สาธารณะ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน นำไปสู่แนวทางการพัฒนาแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา
จากการดำเนินการดังกล่าว ในพื้นที่ตำบลแม่แดด อำเภอกัลยาณิวัฒนา ได้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม การเข้าใจร่วมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นของผู้นำชุมชน คณะกรรมการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการในระดับพื้นที่ จึงได้ผลักดันให้เกิดข้อบัญญัติตำบลแม่แดด ว่าด้วยการสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ปี 2554 นำไปสู่การพัฒนากลไกคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทำหน้าที่สนับสนุน เสริมสร้างจิตสำนึก รวมถึง พัฒนาระบบฐานข้อมูลแสดงขอบเขตการบริหารจัดการจำแนกที่ดินทำกินรายแปลง ที่อยู่อาศัย พื้นที่ป่าไม้ ที่นำไปสู่การวางแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาระเบียบกติกาว่าด้วยการบริหารจัดการที่ดิน-ป่าไม้ ในระดับตำบลและในระดับหมู่บ้าน
ภายใต้กระบวนการทำงานที่ผ่านมานั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความชอบธรรมที่สำคัญประการหนึ่งคือกรอบกติกาในระดับชาติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ชุมชนท้องถิ่นนำมาใช้ในการอธิบายสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ได้ปรากฏให้เห็นจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 แต่ในเงื่อนไขปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านกระบวนการลงประชามติ เมือวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากร ได้ปรากฏให้เห็นในภาพกว้าง เช่นในหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในมาตรา ๔๓ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ (๑) อนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ (๒) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ หรือในหมวดที่ 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ในมาตรา ๕๗ รัฐต้อง (๑) อนุรักษ์ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรม ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย (๒) อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟูบริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์ อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ
ซึ่งจากมาตราที่เกี่ยวข้องภายใต้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามตินั้น จำเป็นต้องนำไปสู่การสร้างชุดความรู้ สร้างความเข้าใจจากหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เชื่อมโยงรวมถึงการประยุกต์ การตีความเพื่อนำไปสู่การสร้างการเชื่อมโยงกับบทเรียนจากกระบวนการทำงานร่วมกันของหลายๆฝ่ายในระดับปฏิบัติการในพื้นที่ท้องถิ่น รวมถึงกระบวนการในระดับจังหวัด
ท้ายที่สุดจากทิศทางในระดับเวทีประชาคมโลก ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมิติต่างๆที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยพยายามให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงการพัฒนา การลดความเหลือมล้ำ ช่องว่างทางสังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงแนวทางยุทธศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับนโยบายของประเทศและนโยบายในระดับจังหวัด จึงเป็นเสมือน Soft Power ที่ใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างพื้นที่ของภาคประชาชน พื้นที่การทำงานในกระบวนทัศน์ใหม่ที่มุ่งเน้นไปสู่การสร้างความรับผิดชอบ (Accountability) ความชอบธรรม ( Legitimacy) การถ่วงดุลการใช้อำนาจ ( Check and Balance) ในแก้ไข บริหารจัดการปัญหาที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน เป็นธรรมของทุกฝ่าย ซึ่งได้สะท้อนผ่านบทเรียนของการทำงานของชุมชนท้องถิ่น ที่ร่วมกับภาคส่วน ภาคีในระดับต่างๆที่หลากหลาย โดยอาศัยหลักคิดในการจัดการร่วม เข้ามาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อไป
 
ผู้เขียน : โอฬาร อ่องฬะ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
ขอบคุณภาพจาก https://travel.kapook.com/view20216.html