น้ำท่วมแนวใหม่ ด้วยเหตุใหม่ยังไร้นาม

น้ำท่วมปักษ์ใต้รับศักราชใหม่ 2560 ด้วยความรุนแรงทำลายสถิติ คงจะอยู่ในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน  เพราะมันเป็นการท่วมด้วยเหตุใหม่ที่แทบไม่สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้แบบเดิมอีกต่อไป
ประการที่ 1  เป็นอุทกภัยที่ไม่มีชื่อกำกับด้วยชื่อพายุ เช่น ซีต้าร์ ลินดา มหาสมุทรอะไรทั้งนั้น เพราะเที่ยวนี้ฝนตกหนักและท่วมโดยไม่ต้องอาศัยพายุ แปลว่า เกิดและเติบโต ทำลายล้างด้วยตัวเอง
ประการที่ 2  เป็นอุทกภัยที่มีเทคโนโลยีคาดการณ์ล่วงหน้าได้ก่อนกว่า 10 วัน นักวิชาการหลายคนพยากรณ์บอกว่า ฝนตกหนักมีเหตุคล้ายกับอุทกภัยตอนปี 54 ถ้าจำไม่ผิด ไม่มีชื่อเรียกเช่นกัน
ประการที่ 3  เป็นอุทกภัยนอกมรสุม ท่วมซ้ำในที่เดิมๆ เพิ่มขยายกระจายถ้วนหน้า และฉับพลันทันที เช้าท่วมกวาดทำลาย พอสายเติมใหม่พลันทันที จนหนีไม่ทันทำไม่ถูก เก็บกวาดล้างกันสัปดาห์ละครั้งเช่นที่พัทลุง ท่วมตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม ปลายเดือน และเริ่มปีใหม่
ประการที่ 4  เป็นอุทกภัยที่แทบไร้คนบ่น กล่าวโทษด้วยวาทกรรมซ้ำซากว่า “ เพราะพวก..ตัดไม้ทำลายป่า” และปรากฏการณ์ความทระนงของคนปักษ์ใต้ที่พึ่งตนเอง ซึ่งเขาอาจเชื่อว่า รัฐไม่ใช่ที่พึ่ง

น้ำท่วมแนวใหม่ “อุทกภัยไร้นาม”เกิดจากเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไป แต่รัฐยังใช้ชุดความรู้เดิมจัดการแก้ปัญหา แต่การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทำให้สภาพการณ์เปลี่ยนไป เมื่อน้ำอุ่นขึ้น การระเหยเป็นไอน้ำมากขึ้น มวลหมู่เมฆหนาเคลื่อนเข้าหาป่าสมบูรณ์ และตกซ้ำๆ ในที่เดิม นักวิชาการจึงสรุปว่า “ที่ไหนฝนตก จะตกมากขึ้นในช่วงเวลาสั้นลง ที่ไหนไม่ตก ก็แห้งแล้งหนักขึ้น”

ปัญหาชุดความเชื่อเดิมของทางการ นอกจากจะผิดพลาดแล้วยังสร้างปัญหาเพิ่ม

  1. จะทวงคืนผืนป่าต้นน้ำมาปลูกป่า โดยยึดที่ทำกินของชุมชน และจัดงบฯ มาผลาญปลูกแล้วตายต่อไป
  2. จะสร้างเขื่อน งบฯมาก ไร้ประสิทธิภาพ และทำลายพื้นที่เก็บกักน้ำตามธรรมชาติ
  3. จะเวนคืนขุดคลองระบายน้ำให้ลงน้ำทะเลไวๆ
  4. ประกาศเขตภัยพิบัติ แล้วจัดซื้อถุงยังชีพ อุปกรณ์ต่างๆ และมักพบว่า ทั้งที่น้ำแห้งหลายวันแล้ว ของแจกยังเกลื่อนสถานที่ราชการ
  5. ตั้งงบประมาณทำท่อ ทาง ถนน แต่งบฯ ชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัยแทบไม่พอ

ปัญหาจริงของอุทกภัยไร้นาม

  1. การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ทำให้ปริมาณน้ำฝนเกินกว่าธรรมชาติจะรับไหว ยิ่งฝนตกในช่วงปลายฤดูฝน พื้นป่ายังอิ่มน้ำ ไม่สามารถเก็บกักได้อีกแล้ว  จึงไหลบ่าทั้งหมดซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  2. การคำนวณปริมาณน้ำฝนเพื่อคาดการณ์อุทกภัยผิดพลาด ข้อมูลจาก รศ.พะยอม รัตนมณี แห่งคณะวิศวกรรม มอ. พบว่า ปริมาณน้ำฝนบริเวณเขาหลวงมากกว่าในเขตเมือง 65 เท่า ถ้าปริมาณน้ำฝนในเมืองคือ 300 มม./24 ชม.ในป่าเขาหลวงจะมีปริมาณน้ำฝน 300×1.65=495 มม./24 ชม
  3. การคำนวณพื้นที่รับน้ำผิดพลาด เช่น แม่น้ำหลังสวนจะคำนวณมวลน้ำมาจากเขตอำเภอพะโต๊ะ มีพื้นที่ 629,375 ไร่ แต่ในความเป็นจริงมีพื้นที่รับน้ำแก่งใน จ.สุราษฏร์ธานีอีกสองแสนไร่
  4. ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่เกษตรซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นยางพาราและปาล์มเชิงเดี่ยว ซึ่งประสิทธิภาพเก็บกักน้ำหายไปร้อยละ 54 ทำให้น้ำไหลบ่าสู่เบื้องล่างทันที
  5. การขุดลอกคลอง ทำเขื่อนกั้น และการกีดกั้นโดยถนน บีบน้ำที่เอ่อทุ่งให้ลงแม่น้ำ น้ำจึงไหลแรงลงพื้นที่เบื้องล่างรวดเร็วเป็นการฝืนธรรมชาติ ทำให้น้ำท่วมเร็วขึ้น ทำลายตลิ่ง และสิ่งกีดขวาง

หากจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องนอบน้อมธรรมชาติและขจัดชุดความคิด ความรู้ แนวนโยบายเก่า แล้วเริ่มต้นแนวคิดใหม่ เรียกว่า “กฎการแก้ปัญหาอุทกภัยไร้นาม” ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 3 ประการ คือ
ก.สิ่งที่ห้ามทำ                                                                   

  1. ไม่ควรสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ เพราะไม่สามารถบอกได้ว่า เท่าใดจึงจะพอ และมันจะทำลายที่กักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่เหลือน้อยนิดให้สูญสิ้น
  2. ไม่ต้องสร้างช่องทางน้ำ Flood way ขนาดใหญ่ หรือขุดลอกคลองให้น้ำไหลเร็ว โดยไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะการทำให้น้ำไหลเร็วจะทำให้น้ำลงไปท่วมพื้นที่ข้างล่างเร็วขึ้น อันจะสร้างพลังทำลายสูง
  3. ไม่ควรท่องอาขยาน “น้ำท่วมเพราะตัดไม้ทำลายป่า” เท่านั้น เพราะครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติ และครั้งที่ท่วมที่ฝรั่งเศส ไม่มีใครบ่นว่าคนฝรั่งเศสตัดไม้ทำลายป่า เพราะมันเป็นภัยธรรมชาติจริง และต้องยอมรับ

ข.สิ่งที่ควรทำ

  1. เพิ่มที่วัดน้ำฝน หรือคำนวณปริมาณน้ำฝนต่อพื้นที่ลุ่มน้ำให้ได้ปริมาณมวลน้ำ xความเร็วราว 10 กม/ชม และสร้างสมการความสัมพันธ์กับพื้นที่ราบให้น้ำเอ่อทุ่งให้คำนวณล่วงหน้าได้ เช่น ฝนตกในพื้นที่ 1 ล้านไร่ x1,600 ตารางเมตร x ปริมาณน้ำฝน (ปริมาณน้ำฝน 500 มม.) จะได้ปริมาณน้ำ 800 ล้านลบ.ม. หากไหลไปเอ่อทุ่งขนาด 200,000 ไร่ จะมีความสูง5 เมตร เป็นต้น พร้อมการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ
  2. บ้านเรือนในรัศมีคลอง และที่ราบต้องส่งเสริมให้ยกเสาสูง เตรียมพร้อมรองรับ การท่วมเอ่อทุ่ง เอ่อคลองได้ตลอดเวลา
  3. พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวต้องเปลี่ยนเป็นพืชผสมผสานเพื่อให้เก็บน้ำได้ดีขึ้น เพราะเนื้อดินสามารถเก็บกักน้ำได้ครึ่งของหน่วยปริมาตร เช่น ในเนื้อดินชื้น 2 กก. ถ้าตากแดดให้แห้งจะเหลือ 1 กก. ที่หายไปคือน้ำในเนื้อดิน ในพื้นที่ 1 ไร่จะมีเนื้อดินราว 6,400 ลบ.ม. จะสามารถเก็บน้ำได้ราว 3,200 ลบ.ม./ไร่ พื้นที่ราบจะกักเก็บน้ำได้ดีกว่าภูเขา หากมีต้นไม้ผสมผสานจะเก็บน้ำดีกว่าเขื่อน
  4. จัดทำถุงยังชีพล่วงหน้า ประกอบด้วยอาหาร พลังงาน น้ำ ยา สามารถใช้ชีวิตได้ 5 วัน แจกล่วงหน้าไว้ เมื่อเกิดภัยพิบัติสามารถใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องเดินทางไปแจกด้วยความยากลำบาก
  5. ปลูกต้นไม้ริมคลองที่มีรากและเรือนยอดหลากหลาย เพื่อชะลอกระแสน้ำ ป้องกันการชะล้างหน้าดิน
  6. รักษา คุ้ง วัง เนินหินทราย ตามธรรมชาติ เพื่อชะลอให้น้ำไหลช้าหรือให้ท่วมด้านบนลุ่มน้ำนานที่สุด ส่วนด้านล่างต้องให้น้ำเอ่อทุ่งจะเป็นการชะลอความรุนแรง และยังช่วยกระจายธาตุอาหารให้ดินด้วย
  7. เข้าใจภัยธรรมชาติพร้อมรับ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างมีน้ำใจ ตามคุณสมบัติเด่นของชุมชนเรา

ค.สิทธิอันพึงมี

  1. ประชาชนต้องสามารถประเมินค่าความเสียหายด้วยตนเอง ทั้งต้องได้รับการชดเชยเยียวยาตามสมควร
  2. การคุ้มครองจากการประกันภัยในความเสียหาย
  3. วางแผนจัดการป้องกันอุทกภัย/ภัยพิบัติ โดยชุมชนและเครือข่าย และสามารถยับยั้งโครงการของรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต
  4. จัดการตัดแปรรูปต้นไม้ กิ่งไม้ที่เสียหาย เพื่อใช้งานโดยไม่ต้องขออนุญาต

“อุทกภัยไร้นาม” เป็นเรื่องใหม่ ที่เกิดจากเหตุและผลใหม่ แค่ตั้งชื่อยังไม่ได้ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาจึงควรยอมรับความคิดก้าวหน้า เพื่อเท่าทันปัญหาน้ำท่วมแนวใหม่ได้
 
โดย พงศา ชูแนม
นักวิชาการอิสระ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
 
ข่าวประกอบ
เหตุการณ์วิกฤตภาคใต้ ที่เจอกับน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกว่า 1 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย สูญหาย 2 ราย อ่านต่อได้ที่ : http://bit.ly/2iqmTx7
น้ำท่วมภาคใต้11จังหวัดเสียชีวิตแล้ว 25 ราย สูญหาย 2 คน…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/social/general/474834
เตือน11จว.ใต้รับมือฝนหนักอีกระลอก 10 ม.ค. เฝ้าระวังดินถล่ม-น้ำท่วมฉับพลัน อ่านต่อได้ที่ : https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_175730