ป่า 40% หมกมุ่นในเป้าหมาย หรือวิธีการ “ตอนที่ 3 ธนาคารต้นไม้นวัตกรรมการปฏิรูปประเทศ”
ผมแปลคำว่า “ความเป็นธรรม” หมายถึง “ต้องไม่เอาเปรียบผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นเอาเปรียบ” สิ่งนี้จึงเป็นหลักธรรมพื้นฐานของธนาคารต้นไม้ มันใช้ตอบคำถามและข้อสงสัยว่าธนาคารต้นไม้ คืออะไร ดำเนินการบนแนวคิด ความเชื่อหลักการอันใด ถ้าทบทวน ตรวจทานด้วยหลักธรรมพื้นฐาน “การไม่เอาเปรียบผู้อื่น และไม่ให้ผู้อื่นเอาเปรียบ” ได้แล้ว นั่นหมายถึง สัจธรรมอันแท้ของธนาคารต้นไม้ ซึ่งอาจจะยกประเด็นข้อสงสัยข้องใจ มาถกเถียง เช่น
ถาม “ปลูกแล้วตัดได้ไหม?”
ตอบ “ปลูกแล้วตัดไม่ได้ คนปลูกโดนเอาเปรียบ” นั่น ไม่ใช่ธนาคารต้นไม้
ถาม “ต้นไม้มีมูลค่าเมื่อต้องตายแล้วเท่านั้นใช่ไหม? ”
ตอบ “ไม่ใช่ เพราะเราถูกเอาเปรียบ มันควรมีมูลค่า ขณะที่มีชีวิต” ไม่ใช่ธนาคารต้นไม้ ฯลฯ
ธนาคารต้นไม้ใช้หลักธรรมเป็นฐาน และใช้หลักการแห่งประชาธิปไตย เป็นแบบแผนในร่างพ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้ จึงสรุปย่อให้เห็นหลักการสำคัญ ๔ ข้อ ดังนี้
ข้อที่ ๑ ต้นไม้ที่ประชาชนปลูกต้องเป็นของประชาชนทั้งทรัพย์ และสิทธิ์ : เป็นหลักการของประชาชน
หากตั้งคำถามว่าทำไม ก็เพราะ ปัจจุบันรัฐไทยออกกฎหมายละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์ว่าไม้สัก ไม้ยาง และไม้อีก ๑๕ ชนิด ไม่ว่าขึ้นที่ใด ในราชอาณาจักรถือว่าเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. เสียทั้งสิ้น นั่นหมายถึง ต้นไม้ที่ประชาชนปลูกไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนโดนเอาเปรียบมันขัดหลักธรรมพื้นฐาน
ข้อที่ ๒ ต้นไม้ต้องมีมูลค่าเป็นทรัพย์ขณะที่มีชีวิต : หลักการของประชาชน
ถ้าถามว่าทำไม ก็เพราะ ในความจริงต้นไม้ ต้องตายเสียก่อน จึงจะมีมูลค่าโดยต้องโดนตัด แปรรูป ผ่า เผา อบเสียก่อน จึงจะมีมูลค่า เป็นการเอาเปรียบชีวิตต้นไม้ เอาเปรียบเจ้าของต้นไม้ เมื่อเทียบกับทรัพย์อย่างอื่น เช่น เหล้าในโกดังเป็นทรัพย์ เครื่องจักรในโรงงานเป็นทรัพย์ รถยนต์วิ่งบนถนนเป็นทรัพย์ เรื่องร้องเพลง ท่าเต้น เสียงดนตรี ชุดความรู้ ยังเป็นทรัพย์ได้ ไฉนต้นไม้ที่มีชีวิตยืนต้นบนแผ่นดินประชาชนจึงเป็นทรัพย์ไม่ได้ล่ะ
ข้อที่ ๓ ต้องมีองค์กรบริหารจัดการคนปลูกต้นไม้ และไม้ที่มาจากคนปลูกต้นไม้ เจ้าของต้นไม้ บนหลักการโดยประชาชน
ทำไมหรือ? เพราะองค์กรต่างๆในปัจจุบัน, ยกยอมมอบอำนาจการบริหารจัดการให้ราชการ, นักวิชาการ, นักการเมือง, นักกฎหมาย มันขัดหลักการโดยประชาชน ธนาคารต้นไม้จึงกำหนดรูปแบบโครงสร้างชัดว่า องค์กรบริหารจัดการธนาคารต้นไม้ต้องคัด คนปลูกต้นไม้ หรือเจ้าของต้นไม้มาตามลำดับขั้น เพื่อจัดการกันเอง เพราะให้คนอื่นมาจัดการ หมายถึง เราโดนเอาเปรียบ
ข้อที่ ๔ ต้องมีกองทุนส่งเสริม สนับสนุนในกิจการปลูกดูแลจัดการต้นไม้, บนหลักการเพื่อประชาชน
โดยกองทุนนี้ต้องเก็บมาจากประชาชน ผู้ปลูกต้นไม้ กิจการค้าไม้ และกิจการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถามว่าทำไม? ก็เพราะประชาชนต้องการ และการสนับสนุนทุนในการปลูกดูแลรักษาต้นไม้ ทว่าต้องไม่รบกวน ประชาชนภาคอื่นๆ ไม่งั้นก็เป็นการเอาเปรียบผู้อื่น
ในหลักการสำคัญนี้ โครงสร้างธนาคารต้นไม้จึงประกอบด้วย
สมาชิกที่สมัครใจมารวมกลุ่มกันเป็นธนาคารต้นไม้สาขา ทำหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริม ตรวจนับจัดทำข้อมูลต้นไม้ตลอดจนการเฝ้าระวัง สร้างสังคมคนปลูกต้นไม้ จำนวนสมาชิกว่ากันตามความเหมาะสม ไม่จำกัดเขตพื้นที่ ให้มีคณะกรรมการเป็นตัวแทนสมาชิกที่คัดมาจากสมาชิกเห็นสมควร
กรรมการระดับสาขาถูกคัดเป็นกรรมการระดับจังหวัด ระดับจังหวัดถูกคัดเป็นระดับเขตภูมิภาค ๙ เขต และระดับเขตถูกคิดเป็นระดับชาติ ๒ คณะได้แก่ กรรมการบริหาร ๙ คน และกรรมการระดับจังหวัดถูกคัดเป็นกรรมการขับเคลื่อน ๙๙ คน(รวมผู้ทรงคุณวุฒิ) ปัจจุบันมีมูลนิธิธนาคารต้นไม้เป็นองค์กรคู่ขนานทางสังคม
สิทธิประโยชน์ของประชาชน ธนาคารต้นไม้กำหนดสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้ปลูกต้นไม้โครงการ ฯ รับรองต้นไม้ที่มีชีวิตของประชาชนให้มีมูลค่าเป็นทรัพย์โดยแยกเป็น ๒ ช่วง ได้แก่
ช่วงแรก อายุต้นไม้๑-๑๐ปีให้มีมูลค่าตามราคาทุนที่กำหนดคือต้นละ ๑๐๐ บาทในปีแรก และเพิ่มขึ้นปีละ ๑๐๐ บาท จนถึงปีที่๑๐ ต้นละ ๑๐๐๐ บาท หรือมีมูลค่าเป็นอย่างอื่นตามความเหมาะสม ที่คณะกรรมการจะกำหนดขึ้นทั้งนี้ต้องมีความโตได้ขนาดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ช่วงที่สอง ต้นไม้ที่อายุ ๑๐ ปีขึ้นไปหรือพ้นเกณฑ์ช่วงแรกแล้วให้มีมูลค่าตามราคาจริงที่กำหนดจากการคำนวนเนื้อไม้และมูลค่าอื่นๆ และนำไปใช้ลักษณะทรัพย์สินกับรัฐได้ ๕ ประการได้แก่ ๑.๑) ใช้ประกันตน ๑.๒)ใช้เป็น Bank การันตี ๑.๓)ใช้เป็นสวัสดิการกับรัฐ เช่น ค่าเล่าเรียน ฯลฯ ๑.๔)ใช้เป็นหลักประกันหนี้สินกับธนาคารของรัฐ แทนที่ดิน หรือทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ๑.๕)ใช้เป็นเงินฝาก เงินออมเหมือนพันธบัตรรัฐบาล
กองทุนสนับสนุนค่าตอบแทน: กองทุนสนับสนุนค่าตอบแทนในการปลูกดูแลรักษาต้นไม้อัตรา ๕% ของมูลค่าต้นไม้เป็นเวลา ๑๐ ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจ ในการปลูกดูแลรักษาต้นไม้รวมค่าดูแลต้นละ ๒๗๕ บาท เมื่อมีการจัดการตัดโค่น จัดการผลผลิตไม้ ก็จัดเก็บภาษีมาไว้ในกองทุนเพื่อหมุนเวียนส่งเสริม การปลูกต่อไป ลักษณะเดียวกันกับกองทุนสงเคราะห์ค่าตอบแทนสวนยางพารา
พื้นที่ปลูกต้นไม้ ให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ ๕ประเภทได้แก่
- ในสวนยางพารา การปลูกต้นไม้ในโดยรูปแบบ และระยะการปลูกที่เหมาะสม คือ ยางพารา 3×9 จำนวน ๕๙ ต้น ต้นไม้ 4×9 จำนวน ๔๔ ต้น จากข้อสรุปงานวิจัย “รูปแบบและแรงจูงใจในการปลูกต้นไม้ในสวนยางพารา”
- ในสวนปาล์ม : ปลูกต้นไม้ในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีตัวอย่างหลายกรณี สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดีในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตปาล์มยังคงปกติ หรืออาจลดลงเพียงเล็กน้อย แต่สมดุลนิเวศในพื้นที่ดีขึ้น และต้นไม้เติบโตได้ดี โดยกำหนดระยะ 9×9; 9×4; หรือ 10×10; 10×4
- ในสวนผลไม้ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างสมดุลนิเวศ พืชสวนเชิงเดี่ยวให้เกิดความหลากหลายคล้ายกับป่า ทั้งสวนทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย มะพร้าว ฯลฯ โดยการเสริมไม้ยืนต้นในสัดส่วนประมาณ ๔๐ ต้น/ ไร่ ระหว่างแนวต้นผลไม้ และตามริมขอบเขตที่ดิน
- ปลูกต้นไม้ในไร่นา ซึ่งเป็นการปลูก ผสมกับพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย มัน รวมถึงนาข้าว โดยการปลูกตามคันนา แนวเขตที่ดิน หัวไร่ ปลายนา โดยที่การปลูก เป็นแถวชิดกัน ระยะ 2×3 ความยาวรอบพื้นที่ และเว้นพื้นที่ให้แสงส่องถึงพืชไร่ นาข้าวไร่
- ปลูกในที่สาธารณะ / หรือแบบสวนป่า ซึ่งเป็นการจัดแบ่งพื้นที่การเกษตรออกจากพื้นที่แนวปลูก หรือที่ดินของสาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน ป่าชุมชน ฯลฯ แล้วปลูกไม้ยืนต้นอย่างหลากหลาย 3×3 ;3×4 สลับให้เกิดความหลากหลาย และเหมาะสม อัตรา ๑๓๐-๑๗๕ ต้น/ ไร่
ภายใน ๑๐ปี หากประชาชนปลูกต้นไม้รายละ๔๐๐ต้น สาขาละ ๕๐ ราย จำนวน ๒๕% ของชุมชน คือ ๒๐,๐๐๐ สาขา เท่ากับ ๑ล้านรายสมาชิก มีต้นไม้ ๔๐๐ ล้านต้น ซึ่งมีมูลค่า ๔ แสนล้านบาท หากคิดเฉลี่ย ๔๐ ต้น/ไร่ จะได้ ๑๐ ล้านไร่ ทั้งจะเกิดการปฏิรูปประเทศ ๙ ด้านขนานใหญ่ ได้แก่
ก.ด้านสังคม
๑. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ภายใน ๑๐ ปีโดยการสร้างความเท่าเทียมในทรัพย์จากมูลค่าต้นไม้ที่มีชีวิต(ประชาชนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทันทีจากการรับรองมูลค่าต้นไม้;เมื่อทรัพย์สินเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกันก็ไม่เหลื่อมล้ำอีกต่อไป)
๒. สร้างสังคมและชุมชนเข้มแข็งด้วยการจัดการธนาคารต้นไม้ร่วมกัน.ไม่ต้องพึ่งพาจนท.รัฐ.และไม่สร้างภาระให้คนอื่นภายใต้หลักการของประชาชน/โดยประชาชน/เพื่อประชาชน
๓. สร้างระบบสวัสดิการสังคมอย่างยั่งยืนจากการสะสมต้นไม้และใช้มูลค่าต้นไม้ลงทุนสร้างระบบสวัสดิการด้วยตัวเอง.มีหลักประกันรายได้และสุขภาวะด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดีมีต้นไม้
๔. รักษาที่ดินทำกินไว้อย่างมั่นคงยั่งยืน.เพราะต้นไม้สามารถทำเป็นทรัพย์สินและหลักทรัพย์ในการค้ำประกันหนี้สินแทนที่ดิน
ข.ด้านเศรษฐกิจ
๕. แก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืนโดยการใช้ทรัพย์จากมูลค่าต้นไม้ไปค้ำประกันหนี้สิน.ทำให้ทรัพย์สินสมดุลกับหนี้สินสามารถตัดต้นไม้ขายชำระหนี้ได้ตลอดเวลา
๖. สร้างอาชีพ ทรัพย์สินและรายได้ต่อเนื่องจากมูลค่าต้นไม้และผลผลิตจากไม้
๗. สร้างความมั่นคงด้านพลังงานปัจจัยการผลิตและปัจจัยสี่อย่างยั่งยืนด้วยปริมาณต้นไม้ผลผลิตไม้และความหลากหลายทั้งสามารถทำพลังงานชีวมวลจากต้นไม้อย่างเพียงพอ
ค.ด้านสิ่งแวดล้อม
๘. ลดสภาวะโลกร้อนด้วยปริมาณต้นไม้ที่กระจายอย่างกว้างขวาง..สามารถดูดซับคาร์บอนให้อยู่ในภาวะพอดีสมดุลได้
๙. ป้องกันภัยพิบัติ ท่วม แล้ง จากสมดุลธรรมชาติในพื้นที่เกษตร200ล้านไร่สามารถเก็บกักน้ำไว้ในดินเพียงพอต่อการใช้และรักษาสมดุลนิเวศ
Credit
[1] ภาพประกอบจาก fb.com/champmmg