การประเมินคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์และการจัดการระบบเศรษฐกิจรากฐานของชุมชน กรณีศึกษา การทำประมงในพื้นที่อ่างน้ำพาน อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี

ฐานทรัพยากรของชุมชน เป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยเฉพาะฐานเศรษฐกิจจากการบริการของระบบนิเวศ (Ecological services) หรือการเก็บหาผลผลิตจากธรรมชาติในระบบนิเวศต่างๆ ของชุมชน ทั้งเพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือการทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากการใช้ประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม เช่น การเก็บหาของป่า การหาปลาจากหนองน้ำ การจับปลาในทะเล การใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในท้องถิ่น หรือผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพที่เก็บหาได้จากที่ดินสาธารณะ หรือที่ดินซึ่งคนในชุมชนใช้สอยร่วมกัน เป็นต้น
การประเมินคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์จากฐานทรัพยากรในระบบนิเวศของชุมชน จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่า ชุมชนได้ทำให้เกิดมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ในระบบนิเวศนั้นๆ มากน้อยเพียงใด จะว่าไปแล้ว ระบบเศรษฐกิจฐานรากจากการบริการของระบบนิเวศ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก มีมูลค่ามากมายมหาศาล แต่มักจะไม่ได้มีการสำรวจ หรือผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจหลักเท่าใดนัก
กรณีตัวอย่างจากการทำประมงในพื้นที่อ่างน้ำพาน อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี โดยการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงของชุมชนทั้งหมด 7 หมู่บ้าน จำนวน 228 ครัวเรือน พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ที่ให้ข้อมูลมีอายุระหว่าง 50-59 ปี จบการศึกษาระดับประถมศึกษา มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน 4-6 คน ส่วนใหญ่อยู่อาศัยในชุมชน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) และมีอาชีพเสริมคือทำประมง มีรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ระหว่าง 5,000-10,000 บาท/เดือน
ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า อ่างน้ำพาน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 8,000 ไร่ เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และแหล่งหารายได้เสริม เช่น การทำประมง การแปรรูปสัตว์น้ำ ชนิดของสัตว์น้ำที่ชาวบ้านจับหาได้ปริมาณมาก มี 15 ชนิด เช่น ปลากระดี่นาง ปลากระดี่หม้อ ปลาช่อน ปลาซิวแก้ว ปลาตองกราย ปลาตะเพียน ปลาสร้อยขาว/ปลาขาว ปลาแขยง ปลาบู่ ปลาก่า ปลากดนา ปลาดุกอุย ปลาชะโด ปลาช่อน และปลาสวาย เป็นต้น โดยการจับสัตว์น้ำของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นการจับหาเพื่อยังชีพ และส่งขายให้พ่อค้าแปรรูป การแปรรูปสัตว์น้ำที่สำคัญๆ มี 7 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปลาแห้ง ปลาย่าง/ปลารมควัน ปลาส้ม ส้มไข่ปลา ส้มไส้ปลา ปลาร้า และปลาร้าบอง (ปลาร้าสับ) นอกจากนี้ยังพบว่า มีการนำปลาที่รับซื้อมาจากที่อื่นมาแปรรูปร่วมด้วย เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เช่น ปลาที่หาได้จากห้วยหลวง (ลำห้วยสาขาของแม่น้ำโขงที่เชื่อมต่อกับอ่างน้ำพานในฤดูน้ำหลาก) ชนิดปลาที่ได้จากห้วยหลวงที่สำคัญ คือ ปลาดุก ปลาชะโด ปลาสวาย ปลาตะเพียน และปลาตอง ส่วนปลาที่ได้จากอ่างน้ำพานมากที่สุด คือ ปลาสร้อยขาว/ปลาขาว และปลาบู่ อุปกรณ์ที่ใช้ทำการประมงส่วนใหญ่มี 5 ชนิด คือ ลอบ ตาข่าย ยอ แห และเบ็ด เครื่องมือประมงส่วนใหญ่ชาวบ้านทำขึ้นเองจากวัสดุในท้องถิ่นและการซื้อวัสดุ อุปกรณ์มาประกอบเอง
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณค่าของอ่างน้ำพาน พบว่า ร้อยละ 46.3 เห็นว่าอ่างน้ำพานมีประโยชน์มากและได้เข้าไปใช้ประโยชน์เป็นประจำ และมีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ สัตว์น้ำมีจำนวนลดลง (ร้อยละ 83.6) และเห็นว่าคุณค่าของอ่างน้ำพานสามารถประเมินค่าได้บางส่วน (ร้อยละ 62.7) ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการลดลงของผลผลิตการประมงมีสาเหตุจากการเพิ่มของประชากรและการทำประมงเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ นอกจากนี้ ประชาชนยังเห็นว่าได้มีส่วนร่วมที่จะอนุรักษ์อ่างน้ำพาน ร้อยละ 47.5
คุณค่าทางเศรษฐกิจของอ่างน้ำพาน เป็นคุณค่าที่เกิดจากการจับสัตว์น้ำ ซึ่งมีมูลค่ารวม 13,500,357 บาท/ปี และคุณค่าที่เกิดจากการแปรรูปสัตว์น้ำ เท่ากับ 1,743,577 บาท/ปี คุณค่าการใช้ประโยชน์จากการจับสัตว์น้ำและแปรรูปอาจจะมีคุณค่ามากกว่าที่ประเมินคุณค่าได้ แต่เนื่องจากในการศึกษาครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์เฉพาะหมู่บ้านรอบอ่างเท่านั้น ส่วนมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่าย และมูลค่าเผื่อใช้ในอนาคต คิดเป็น 105,784 บาท/ปี และมูลค่าให้คงอยู่ คิดเป็น 84,305 บาท/ปี (171 บาท/ครัวเรือน/ปี และ 147 บาท/ครัวเรือน/ปี) หรือโดยสรุปแล้ว ชาวบ้านรอบอ่างน้ำพานยอมที่จะจ่ายเพื่อให้อ่างน้ำพานคงอยู่และจ่ายเพื่อเป็นค่าบริการในการใช้ประโยชน์รวมแล้วเท่ากับ 190,090 บาท/ปี รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงในอ่างน้ำพานของชุมชน 7 หมู่บ้าน เท่ากับ 15,434,024 บาท/ปี
ดังนั้น มูลค่าทางเศรษฐกิจจากระบบนิเวศอ่างน้ำพาน จึงชี้ให้เห็นว่า
ฐานทรัพยากรท้องถิ่นสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้เข้มแข็งได้ เมื่อนำมารวมกับการที่ชุมชนมีทัศนคติยอมจ่ายเพื่อจะรักษาอ่างน้ำพานเอาไว้และจ่ายเพื่อเป็นค่าบริการใช้ประโยชน์ ก็นับเป็นตัวเลขที่น่าสนใจว่าหากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการนำเงินที่ชุมชนยอมจ่ายเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มาดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่ออ่างน้ำพาน ก็จะเป็นการสร้างกลไกในการจัดสรรผลประโยชน์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การอนุรักษ์และฟื้นฟู ทำให้อ่างน้ำพานเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ตอบสนองต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยอาจจะมีการจัดองค์กรชาวบ้าน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมถึงมาตรการในหลายๆ ด้าน เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากอ่างน้ำพานเกิดความเป็นธรรม เกิดความสมดุลต่อทุกฝ่าย เพื่อให้ประชากรเกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น การออกข้อบังคับท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ การมีกองทุนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรประมง การประสานงานร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการ เป็นต้น
 
Credit
[1] บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย เรื่อง การศึกษาความหลากหลายชนิดพันธุ์ปลาและความสัมพันธ์กับระบบนิเวศแหล่งน้ำ เพื่อการประเมินการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงในอ่างน้ำพาน อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี โดย สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ และ ขวัญเรือน ยอดคำ ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, 2559
[2] นายสันติภาพ ศิรัวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
[3] ภาพประกอบ http://www.matichon.co.th/news/97047