สนุกกับชีวิต มิตรสหาย196 โดย หมอทวี ตอนที่ 9. "ก้อนข้อล่อแค่แร่"
สนุกกับชีวิต มิตรสหาย196
โดย หมอทวี
ตอนที่ 9. “ก้อนข้อล่อแค่แร่”
เวลาผ่านไปสามปี นานวันเข้าสถานการณ์สู้รบในพื้นที่เขตงาน196 โดยรอบภูเขียวและป่าดงข้างเคียงมีความดุเดือดขึ้นทุกที
สหายบนบนภูเขียวมีการเคลื่อนย้ายกองกำลังทหารหลักจากเขตภูซางส่วนหนึ่งมาประจำการ มีทั้งมวลชนและสหายนักรบทปท.ที่แข็งแกร่งและมีประสบการณ์โชกโชน เข้าใจว่าเป็นมติของฝ่ายนำในระดับสูงที่คงมีแผนยุทธศาสตร์ใหม่ๆเกิดขึ้น
ด้านหนึ่งช่วยทำให้พวกเรา สหายนักศึกษาและสหายชาวนาที่นี่ เกิดความมั่นใจขึ้นเยอะว่า บัดนี้จะได้มีกำลังรบมาช่วยทำศึกและต้านทานการล้อมปราบ ที่มีกระแสข่าวกันมาโดยตลอด
แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้จำนวนประชากรบนภูเขียวเพิ่มมากขึ้น จนเกิดภาระมากขึ้นในการผลิตและการลำเลียงเสบียงอาหารขึ้นไปหล่อเลี้ยง
เมื่อพิจารณาประกอบกับความเข้มแข็งของงานมวลชนในเขต21 ที่เติบโตขึ้นมาก และการที่มีภูมิประเทศหลังอิงที่เป็นป่าเขาอันสลับซับซ้อนและอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเสียงเรียกร้องของครอบครัวมวลชนที่อพยพขึ้นมาจากที่นั่น ก็ประสงค์จะย้ายลงไปสร้างฐานที่มั่นสำรองเป็นแห่งที่สอง
ดังนั้นองค์กรนำจึงมีมติให้เคลื่อนย้ายครอบครัวมวลชนจำนวนหนึ่งกลับไปบุกเบิกที่มั่นในเทือกเขาพญาพ่อ โดยให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสหายมานะ
การเดินทัพทางไกลขบวนน้อยๆของพวกเราจึงเริ่มต้นขึ้น จาก”บึงแปน”บนภูเขียว สู่ ปลายทางที่”ดงโค่โล่ะ”ในหุบเขาพญาพ่อ
ระยะทางขึ้นๆลงๆและคดเคี้ยวไปมา รวมแล้วคงประมาณหนึ่งร้อยกิโลเมตรเห็นจะได้ เราต้องใช้เวลาเดินทางร่วมเดือน
มันเป็นขบวนแถวของมวลชนแบบกองพะรุงพะรัง มีทั้งเด็กน้อย คนแก่และผู้หญิงแม่บ้าน กว่าสิบครอบครัว แต่ละครอบครัวต่างพากันหาบข้าวของสัมภาระกันกระโตงกระเต็ง กองกำลังทหารที่คุ้มกันไปในคราวนั้นก็มีเพียงหนึ่งหมวดเศษๆเท่านั้น
น่าจะนับได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นคือลองมาร์ชในชีวิตจริงของพวกเราเหล่าสหายที่นั่น นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หนึ่งในหลายๆหน้าของการต่อสู้ปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตงานภูเขียวกันเลยทีเดียว
ด้วยเหตุที่ขบวนพะรุงพะรังของเรามีสภาพสู้รบที่ต่ำมาก จึงต้องค่อยๆเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง หน่วยนำทางต้องแสวงหาเส้นทางใหม่ๆที่ลึกลับแบบไม่มีใครเขาใช้กัน ยากลำบากหน่อยก็ต้องเอา เพราะกลัวเสียลับระหว่างทาง หรือหากเกิดเหตุปะทะกันกลางทาง คงโกลาหลที่สุด
บางช่วงดีหน่อยที่หน่วยหน้าตัดป่าไปเจอเส้นทางเดินของช้างป่า และสามารถเดินตามรอยมันไป ไม่ว่าจะเป็นรอยเก่าและรอยใหม่ เพราะเราจะเดินกันได้สะดวกหน่อย เราเย้าแหย่กันเล่นว่า
“บริษัทเอราวัณการทางเขาทำไว้ให้ สหายโชคดีจัง! ”
แต่ในใจผมก็ยังทึ่งอย่างเหลือเกินว่า สหายท้องถิ่นเขาสามารถนำพาพวกเราเดินตัดป่าข้ามเขาไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างแม่นยำได้อย่างไร โดยไม่ลงเดินผ่านที่ราบกันเลย
ในคราวนั้น เรามีสหายท้องถิ่นเป็นผู้นำทางและเป็นผู้พิทักษ์ความปลอดภัยให้กับขบวนพ่อแม่พี่น้องมวลชนของเขาเอง อาทิ สหายสอง สหายทีป สหายวีป สหายหนา สหายสน สหายคม สหายเคียว สหายเพ็ญ สหายนภา สหายอาทิตย์ สหายวีระ และ ฯลฯ สหายเหล่านี้ล้วนเป็นคนท้องถิ่นที่เติบโตและหากินอยู่กับป่าแถวนี้จนช่ำชอง
ก่อนถึงกำหนดวันออกเดินทาง มวลชนที่จะเดินทัพทางไกลต่างเตรียมเสบียงอาหารสำหรับการเดินทาง ข้าวสาร พริก และเกลือเป็นปัจจัยหลัก นอกนั้นใครมีปลาร้า ปลาเค็ม เนื้อย่าง หรืออื่นใดก็พากันขนเอาไปหมด เพราะข้างหน้าไม่รู้จะมีอะไรกินกัน
ผมไปเยี่ยมครอบครัวของสหายสองและแม่ยวน เห็นแกกำลังง่วนทำอะไรบางอย่างบนเตาไฟ แกเอาน้ำตาลและเกลือผสมกัน ตั้งไฟเคี่ยวจนข้นและแห้งขอด ใส่ผงชูรสเข้าไปเป็นช้อนใหญ่ เมื่อมันจับเป็นก้อนสีน้ำตาลอ่อนๆ ส่งกลิ่นไหม้นิดๆก็ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วบรรจุห่อไว้เป็นเสบียงสำหรับเดินทาง
ผมสงสัยว่า มันจะเป็นยาหรืออาหารประเภทใดกันแน่ จึงสอบถาม แต่แกไม่ยอมตอบ หากพูดตัดบทด้วยความเอ็นดูว่า
“เอาเถอะน่าหมอ อย่าเพิ่งมาถามเลย เดี๋ยวก็รู้เองแหละ”
สหายสองผู้นี้ก็คือลุงหก อดีตพรานใหญ่ที่เป็นผู้นำพาหน่วยจรยุทธ์ของเราไปบุกเบิกงานมวลชนเขตหนองบัวแดงในครั้งแรกคนนั้นแหละ หลังจากนั้นต่อมาไม่นาน แกตัดสินใจเข้าป่ามาร่วมต่อสู้กับพรรค ทั้งยังพาลูกหลานเข้ามาเป็นทหารปฏิวัติเป็นจำนวนมาก พวกเราเรียกติดปากกันว่า”พ่อสอง”
ในช่วงวันหลังๆของการเดินทาง เสบียงอาหารหร่อยหรอลงมาก ไม่มีกับข้าวกับปลาเหลืออยู่อีกแล้ว จะหานกหาปลาก็ไม่มีที่ จะมีก็แต่หยวกกล้วยป่า หน่อไม้และเห็ดป่าบ้าง ที่พอจะนำมาปรุงกับพริกป่นและเกลือพอเป็นกับข้าวแก้ขัดกันไปเป็นมื้อๆ
พ่อสองสังเกตุเห็นว่าผมกินข้าวเปล่าๆคงไม่อร่อย ทันใดแกจึงควักก้อนวิเศษอย่างหนึ่งออกมานำเสนอ
“ลองนี่ซิหมอ!”
ผมจำได้ว่ามันคือ “ก้อนข้อร่อแค่แร่”ที่แกเคี่ยวอยู่เมื่อวันก่อนนั่นเอง
ว่าแล้วแกก็เอาก้อนวิเศษดังกล่าวมาผสมน้ำ ใส่พริกป่นลงไปหน่อย มันกลายเป็นน้ำปลาพริกรสเด็ดในบัดดล เมื่อมีผักป่าลวกร้อนๆก็กลายเป็นกับข้าวมื้ออร่อยทันที
ในใจผมนึกชื่นชมว่าคนท้องถิ่นเขามีภูมิปัญญาในการจัดการเสบียงอาหารสำหรับการเดินป่าแบบนี้นี่เอง
ผมจึงแหย่ไปว่า
“พ่อสองครับ น้ำปลาก้อนๆของพ่อยี่ห้อนี้ ตั้งชื่อ รึยัง ”
แล้วผมก็ตั้งชื่อให้ว่า “น้ำปลาตราสองนคร !”
พวกสายหายได้ฟังก็พากันหัวเราะครื้นเครง
เพราะทุกคนรู้ดีว่า ชื่อจริงของแกคือ นายสองเมือง !!
ตอนที่ 10. “เกิบแตะ” (ตอนจบ)