สนุกกับชีวิต มิตรสหาย196 โดย หมอทวี ตอนที่ 7. "จงอางสะอื้น"

สนุกกับชีวิต มิตรสหาย196

โดย หมอทวี
ตอนที่ 7. “จงอางสะอื้น”

เวลาที่องค์กรนำมีคำสั่งให้พวกเรากลับขึ้นไปร่วมประชุม หรือ มีพิธีการงานสำคัญบนฐานที่มั่นภูเขียว (196) สหายที่ทำงานในเขตจรยุทธ์ทุกเขตงานต้องวางแผนการเดินทางและใช้ระยะเวลารอนแรมเดินเท้ากันเป็นสัปดาห์ๆ เพราะระยะทางไกลมากและต้องใช้เส้นทางที่ต้องไต่ไปตามสันเขาและฝ่าป่าดงดิบ
เขตคอนสานและเขตหนองบัวแดงใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ส่วนเขตภูโค้งที่อยู่ไกลสุดบางทีต้องใช้ 3-4 สัปดาห์กันเลยทีเดียว แต่กระนั้นพวกเรากลับไม่รู้สึกเป็นเรื่องที่ยากลำบากอะไรเลย
ส่วนใหญ่จะดีใจด้วยซ้ำที่จะได้ไปพักผ่อนในฐานที่มั่นที่ปลอดภัยเสียบ้าง ก็คล้ายๆกับทุกวันนี้ที่เราใช้เวลาขับรถเที่ยวสบายๆไปพักร้อนในต่างจังหวัดนั่นแหละครับ  อยู่ในเขตแนวหน้าเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่สู้รบมีแต่ความตึงเครียด
ในการเดินเท้าไปในเส้นทางป่าเขา ไม่ว่าจะเดินทางไปทำงานมวลชน ไปสู้รบ หรือไปพักผ่อนบนฐานที่มั่น สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดคืองูจงอางครับ
หนึ่งเป็นเพราะเรามักต้องเดินผ่านหรือพักแรมในป่ารวกหรือป่าคาย ซึ่งใบของมันที่ร่วงหล่นมาปกคลุมไปตามทางที่เราเดิน ทำให้มองไม่ค่อยเห็นว่ามีงูกำลังเลื้อยอยู่ หรือ เราไปพักบนรังของพวกมันหรือเปล่า สองคือพิษมันร้ายแรงมาก เราไม่มีเซรุ่มแก้พิษ ถ้าโดนกัดคงตายแหงแก๋
คราวหนึ่ง ขณะที่เรากำลังเดินทางผ่านป่าโคกเต็งรังที่ร้อนระอุ เพื่อไปทำงานมวลชนในแถบตีนภูแลนคา ปกติเรามักจะเดินทัพเป็นแถวตอนเรียงเดี่ยว มีส่วนนำหน้า ส่วนกลาง และหน่วยระวังหลัง
วันนั้นเกิดมีเสียงดังเอะอะขึ้นจากส่วนหน้า  สหายส่งสัญญาณว่าได้พบสิ่งผิดปกตินิดหน่อย จึงขอให้นั่งพักรอการสืบสภาพสักครู่  จากนั้นเสียงเอะอะยิ่งดังขึ้นๆ สักพักใหญ่จึงได้สงบลง
หน่วยหน้า ซึ่งนำโดยลุงแจ่มกลับมารายงานว่า
“ได้งูเหลือมตัวใหญ่มาฝาก…สำหรับเป็นอาหารมื้อค่ำครับผม ! ”
สหายแจ่ม เป็นสหายชาวนาแห่งบ้านบุสีเสียด  มีเชื้อสายเป็นชาวไทเดิ้ง  เข้ามาอยู่ป่าพร้อมกับภรรยาชื่อสหายรับ (ป้ารับ) คล้ายๆกับกรณีของสหายวากับป้าวรรณ คือ เข้ามาทั้งผัวเมีย และทั้งคู่ไม่มีลูกจึงทำงานคล่องตัวมาก
ลุงแจ่มเป็นสมาชิกในหน่วยของเรา ตาแกเสียไปข้างหนึ่งจึงมีฉายาว่า”แจ่ม ตาเดียว” แกชอบสูบยาเส้นที่มวนด้วยใบตองแห้ง พูดจาติดตลกสนุกสนาน พวกเราทุกคนรักแกมาก
จากเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้ผมได้เห็นศักยภาพและขีดความสามารถเฉพาะตัวของสหายร่วมทีมมากขึ้น โดยเฉพาะสหายชาวนาท้องถิ่น เพราะแต่ละคนต่างมีภูมิปัญญาที่มีคุณค่ามากเหลือเกิน อย่างเช่นความสามารถในการยังชีพอยู่ในชนบทป่าเขา ผักหญ้าต่างๆ สิ่งใดกินได้หรือไม่ได้ รวมทั้งการจับงูมาเป็นอาหาร ซึ่งพวกเราที่เป็นคนเมือง ไม่มีทางสู้ได้เลยในเรื่องเหล่านี้
นอกจากจะจับงูเหลือมแล้ว  สหายแจ่มแกไม่กลัวงูชนิดใดเลย ไม่ว่าจะเป็นงูเห่า งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูสิงห์ งูสามเหลี่ยม เพราะตลอดเวลาหลายปีที่อยู่ป่าด้วยกัน แกได้หามาเป็นอาหารจานเด็ดให้ผมได้กินครบหมดทุกชนิดก็ว่าได้
ผมเข้าใจว่าในตัวของลุงแจ่ม แกคงมีภูมิต้านทางพิษงูสารพัดชนิดอยู่ในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ อันเกิดมาจากเป็นคนชอบจับงูมาแต่ไหนแต่ไร คงได้รับพิษเข้าไปสะสมและเกิดภูมิต้านทานในปริมาณมากเพียงพอที่จะสู้พิษได้ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก
นอกจากนั้นผมยังเคยได้เห็นแกกระโดดลงไปไล่จับงูเห่าในบ่อน้ำ ด้วยสองมือเปล่ามาแล้ว!!
นอกจากนั้น เรายังได้รู้ว่าสหายแจ่ม แกมีความรู้เรื่องสมุนไพรแก้พิษงูเป็นอย่างดีอีกด้วย จากวันนั้นเป็นต้นมา ผมจึงรู้สึกอุ่นใจขึ้นมาก เพราะเรามีผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูพิษต่างๆอยู่กับเรา แกเป็นหมองูประจำหน่วยจรยุทธ์
ลุงแจ่มและป้ารับ เป็นสหายสองผัวเมียอีกคู่หนึ่งที่ผมสนิทสนมมากที่สุด แกก็เป็นห่วงเป็นใยผมมากเป็นพิเศษเสียด้วย เราจึงผูกพันกันมาก
วันหนึ่งผมจึงกระเซ้า แกว่า
“ลุงแจ่มครับ ผมจะตั้งฉายาให้ลุงใหม่จะดีไหม”
” แจ่ม จงอางสะอื้น!!  ”
สหายแจ่มหัวเราะแหะๆๆๆๆ  ส่งเสียงดัง
ว่าแล้วก็ควักยาเส้นออกมามวน
ด้วยมาดเข้ม ตามสไตล์
 
ตอนที่ 8. “บักหำน้อย”