สนุกกับชีวิต มิตรสหาย196 โดย หมอทวี ตอนที่ 5. "วินัยเหล็ก"

สนุกกับชีวิต มิตรสหาย196

โดย หมอทวี

ตอนที่ 5.  “วินัยเหล็ก”

การทำงานมวลชนของบรรดาเหล่าสหาย ทหารปลดแอกประชาชนไทย หรือ ทปท. แท้ที่จริงก็คือการออกไปพบปะประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนอันเกิดจากการปกครองของรัฐบาล โดยเฉพาะมวลชนชาวนา กรรมกร ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ตามแนวทาง “ชนบทล้อมเมือง แล้วยึดเมืองในที่สุด” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อจะชี้แจงให้เข้าใจถึงต้นเหตุใหญ่ของความยากจน ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งบทพรรณนาที่เรามักใช้กันคือเรื่องที่ว่าด้วย “ใครสร้าง ใครเลี้ยง” และจากนั้นจึงจะชี้ว่าใครคือศัตรู ใครคือมิตรของพวกเขา และโฆษณาแนวทางการต่อสู้ของพรรคและกองทัพปลดแอกไปด้วยตามสูตร
สำหรับหลักการและขั้นตอนในการทำงานมวลชน ที่บรรดาสหายยึดกุมและใช้ปฏิบัติกันอย่างได้ผลดีมาก ประกอบด้วย “ปรับทุกข์-ผูกมิตร-ปักหลัก-ชักชวน-จัดตั้ง” หลักการเหล่านี้ ต่อมาฝ่ายความมั่นคงก็มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานการเมืองนำการทหารของพวกเขาด้วยเช่นกัน
เวลาทำงานมวลชน สหายทุกคนต้องมีความสำรวมตน รักษาบุคลิกให้ดูน่าเชื่อถือและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย เพราะสหายแต่ละคนที่ลงไปหามวลชน ก็คือตัวแทนหรือฑูตของกองทัพปลดแอกและพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง ถ้าเป็นสมัยนี้ ภาษาในแวดวงการบริหารองค์กรธุรกิจ เขาก็เรียกว่าเป็นการสร้างและรักษา “ภาพลักษณ์องค์กร” (Brand)
เครื่องมือที่สำคัญในการสร้างแบรนด์ของพรรคคอมมิวนิสต์ คือ วินัยสิบข้อของกองทัพปลดแอก ซึ่งปรับมาจากของวินับสิบข้อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้เป็นต้นตำรับ  เขาจึงมีเพลงที่แต่งไว้สำหรับสหายได้ร้องปลุกใจ เตือนสติและทำให้จดจำได้ง่าย บรรดาสหายร่วมอุดมการณ์ในยุคนั้น ต่างร้องกันได้ทุกคน
วินัยสิบข้อของ ทปท. ประกอบด้วย

  1. ปฏิบัติการทุกอย่าง ฟังคำบัญชา
  2. ไม่เอาข้าวของของประชาชน
  3. เคารพช่วยเหลือประชาชน พูดจาต้องสุภาพ
  4. ซื้อขายต้องเป็นธรรม ยืมของต้องคืน ทำของเสียหายต้องชดใช้
  5. ไม่ทำให้พืชผลประชาชนเสียหาย
  6. ไม่ดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่
  7. ไม่ดุด่าทุบตีผู้อื่น
  8. ไม่ลวนลามสตรี
  9. ไม่ทารุณเชลย
  10. สินสงครามต้องมอบให้ส่วนรวม

ในคราวหนึ่ง ราวๆปี2521 ในช่วงที่ผมมีภารกิจต้องกลับจากเขตหนองบัวแดง ขึ้นไปฐานที่มั่นภูเขียว และได้อยู่ที่นั่นติดต่อกันหลายสัปดาห์ พอดีช่วงนั้น เป็นเวลาที่สหายบนภูเขียวกำลังจะไปขนลำเลียงข้าวสารขึ้นมาจากทางเขตคอนสาน  ไม่อยากอยู่เปล่าๆ ผมจึงขันอาสาไปร่วม” เป้ข้าวขึ้นภู” กับเขาด้วย
การเป้ข้าวสารและสิ่งของอุปโภคบริโภคขึ้นมาสะสมไว้บนภู นับเป็นงานพื้นฐานที่สหายทุกคนต้องมีประสบการณ์มาด้วยกันทั้งนั้น เพราะเราไม่มีข้าวกินเพียงพอ จึงต้องลำเลียงขึ้นมาจากหมู่บ้านและในเมือง และยังต้องสำรองไว้เพื่อการสู้รบอีกด้วย
ข้าวสารที่บรรจุเต็มถุงปุ๋ย เมื่อมัดปากถุงดีแล้วก็ใช้”ผ้าข้าวม้า”คล้องจากปากถุง มาผูกไว้กับก้นถุงทั้งสองชาย เท่านี้ก็พร้อมที่เราจะสอดแขนทั้งสองข้างเข้าไป เพื่อบรรทุกขึ้นบนหลัง  พวกเราทุกคนล้วนสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว  ถ้าถามว่าเข้าป่าหลายปีทำอะไรเป็นบ้าง  ที่ทำได้เก่งที่สุดอย่างหนึ่งก็ต้องนี่เลย “เป้ข้าวขึ้นภู”
ข้าวสาร 1 กระสอบ หนักประมาณ 100กิโลกรัม โดยเฉลี่ยสหายที่ตัวเล็กก็ใช้วิธีแบ่งสาม ที่แข็งแรงหน่อยก็หักครึ่งกันเลย
จากไร่นามวลชนเชิงเขา ขบวนแถวเหล่าสหายซึ่งบรรทุกข้าวสารและสิ่งของอยู่เต็มหลัง  บ่าไหล่ทั้งสองข้างตึงเป๊ะด้วยน้ำหนักบรรทุก เดินผ่านเส้นทางที่ใช้ขนส่งลำเลียงเป็นประจำแบบกองทัพมด  จากหนองไร่ไก่  ผ่านซำผักหนาม หินแผงม้า บึงแปน ….จนถึงทับที่ตั้ง เป็นอยู่อย่างนี้
แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ไม่มีใครบ่นท้อถอย การเป้ข้าวสารขึ้นภูสูงและหน้าผาในแต่ละเที่ยว ได้ช่วยฝึกฝนร่างกายและจิตใจของพวกเราไปในตัว
ในคราวนั้น หน่วยจรยุทธ์ที่รับผิดชอบพื้นที่นั้น คือหน่วยของสหายชิด สหายช่วง สหายชอนและสหายสิงห์  กลางคืนวันหนึ่ง สหายมีนัดประสานงานกับมวลชนเพื่อเตรียมการขนส่งลำเลียงอย่างที่ว่า ผมมีโอกาสได้ร่วมทีมไปพบปะมวลชนกะเขาด้วย  ด้วยอยากไปดูว่าสภาพงานมวลชนทางนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเขตงานหนองบัวแดงของเรา จะแตกต่างกันอย่างไร
ณ เถียงไร่มวลชนในคืนนั้น จำได้ว่ามีตัวผม (สหายทวี)สหายช่วงและสหายสิงห์ นั่งคุยกับมวลชนอยู่รอบกองไฟ ท่ามกลางอากาศที่เย็นเฉียบ เรื่องที่คุยคือการให้การศึกษาแก่มวลชน ให้เข้าใจถึงการต่อสู้ปฏิวัติของพวกเรา มวลชนครอบครัวนั้นตื่นตัวมากและมีจิตสำนึกการปฏิวัติร่วมกับเราอย่างเต็มที่
คุยกันไปนานสองนาน  มวลชนจัดหาของว่างมารับรองพวกเราเหล่าสหาย แบบกินกันไปคุยกันไป มีทั้งหัวมันเทศเผา ข้าวจี่ กล้วยน้ำว้าสุขเป็นเครือๆ และถั่วดินต้ม  อาหารขบเคี้ยวเท่านี้ก็เรียกว่าสุดยอดแล้วตามประสาชาวบ้านป่า  สิ่งที่วางอยู่ตรงหน้าทำเอาสหายต่างพากันเปรี้ยวปาก แต่ไม่มีใครหยิบก่อน ต่างคนต้องสงวนท่าที่และรักษาภาพพจน์กันไว้บ้าง
สหายช่วง เริ่มเปิดฉากพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องว่าประเทศนี้เป็นของใคร ใครเป็นผู้สร้าง ใครเป็นผู้เลี้ยงสังคมกันแน่  จากนั้นผมก็ต่อด้วยการปฏิวัติบนหนทางปืนและแนวทางชนบทล้อมเมืองของพรรค
คุยกันไป สายตาก็เหลือบมองที่กล้วยสุขเครืองามๆ ในใจคิดว่า”ท่าจะหวานชื่นใจดีนะ”  สามสหายต่างเหลือบมองไปที่ของขบเคี้ยวแล้วหันสบตากันอยู่บ่อยครั้ง ครั้นจะหยิบกินบ้าง ต่อหน้ามวลชนก็กลัวถูกมองว่าไม่เรียบร้อย เรียกว่าระหว่างนั้นพวกเราแทบไม่ได้แตะของที่มวลชนนำมาประเคนกันเลยก็ว่าได้
ส่วนสหายสิงห์เป็นสหายชาวนา พูดไม่เป็น ทำหน้าที่นั่งฟังอย่างเดียว ปล่อยให้สหายนักศึกษาสิงห์เหนือ(ช่วง คอนสาน) กับเสือใต้(ทวี หนองบัวแดง) โชว์บทบาทปลุกระดมมวลชนกันไปจนใกล้ดึก
ทันใดนั้นมีเสียงหมาเห่าดังอยู่ไกลๆ  มวลชนจึงขอตัวไปดูว่ามีเหตุการณ์อะไรผิดปกติหรือไม่ สหายรอที่นี่ก่อนนะ  ว่าแล้วก็คว้าปืนแก๊ปและมีพกติดตัวไปด้วย
มวลชนออกไปได้พักใหญ่  เราสามสหายก็รออยู่ว่าเมื่อไรจะกลับมา  ระหว่างนั้น ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มหยิบของกินเป็นคนแรก  แต่ทว่าเพียงครู่เดียวเท่านั้น คนละหมุบคนละหมับ เล่นเอากล้วยสุขหนึ่งเครือ ถั่วดินต้มทั้งกาละมังและของขบเคี้ยวอื่นๆที่มวลชนเตรียมมาให้ ได้อันตรธานหายวับไปกับตา เป็นที่ “เรียบร้อยโรงเรียนสหาย”
แหมนึกว่าจะแน่สักแค่ไหน…สู้อุตส่าห์รักษาภาพลักษณ์กันมาตั้งนาน!
ก็ของมันยั่ว…จนตบะแตก!!  นานๆจะได้กินที ไม่ว่ากันหรอกครับ
ตอนดึกคืนนั้น พวกเราเดินจากมวลชนออกมา พร้อมกับแบกกล้วยสุขอีกเครือใหญ่เป็นของฝากกลับที่พักชายป่า
มีเสียงสหายฮัมเพลง “วินัยสิบข้อ” กันอย่างคึกคัก ไปตลอดทาง.
…………………………………………
หมายเหตุ
เรื่องนี้ ผมกับสหายช่วง(ดร.วีระพันธุ์ พรหมมนตรี ผู้จากพวกเราไปแล้ว) เมื่อมาทำงานพัฒนาชบบทร่วมกันในภายหลัง ยังจำเหตุการณ์กันได้ดี เราสองคนสบตากันเมื่อไรเป็นได้หัวเราะร่วน คิดถึงวันเก่าๆ .
 
ตอนที่ 6. “แกะรอยสหาย”