Press : ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) กล่าวว่าห้วงเวลาที่สังคมมีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม คสช.เองก็ได้นำร่องปรับองค์ประกอบคณะกรรมการและเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับสูงกันยกแผง จึงหวังว่ารัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจทั้งระบบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งในปีที่มีการรัฐประหารปี2549 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แม้มีความตั้งใจที่จะทำการปฏิรูประบบตำรวจ แต่เนื่องจากมีเวลาบริหารประเทศในระยะสั้นเกินไปและติดขัดในกระบวนการราชการที่ล่าช้า ซึ่งทำได้แต่เพียงการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบตำรวจขึ้นมาศึกษาและจัดทำข้อเสนอไว้เท่านั้น ต่อมาอีกครั้งในช่วงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้รื้อฟื้นคณะกรรมการพัฒนาระบบตำรวจขึ้นใหม่ แต่ในที่สุดก็ยังไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย
“พล.อ.สุรยุทธ์ต้องการปฏิรูปตำรวจให้ได้ในสมัยนั้น แต่ปรากฏว่าต้องหงายหลังเลย เพราะว่า สุดท้ายข้อเสนอทั้งหลายไปถูกดองที่ฝ่ายข้าราชการประจำจนจะหมดวาระในการเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว ท่านเองก็คงผิดหวัง ทั้งที่ตั้งใจทำเรื่องนี้ มาก” นพ.พลเดช ระบุ
ทางฝ่ายงานภาคประชาชน จากการทำงานวิชาการเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย ((Thailand Development Forum : TD Forum) มีข้อเสนอที่ตกผลึกในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นของไทยอย่างเร่งด่วน 3 ข้อสำคัญ ดังนี้
ข้อแรกการปฏิรูประบบตำรวจต้องปรับโครงสร้างตำรวจ กระจายอำนาจบริหารจัดการ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในปี 2549 ในการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งการศึกษาของ “คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ” ได้เสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจโดยการกระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคทั้ง 9 แห่งและอีก 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล
“เนื่องจากตำรวจไทยทั้งหมดกว่า 300,000 คนและโรงพัก 1,488 แห่ง ปัจจุบันรวมศูนย์อยู่กับส่วนกลางเป็นเสมือนกองทัพ หากเปรียบเทียบกับ ประเทศ ญี่ปุ่นมีตำรวจทั้งประเทศรวม 270,000 คน มีเพียง 7,000 คนเท่านั้น ที่สังกัดอยู่ส่วนกลาง นอกนั้นร้อยละ97 กระจายตัวสังกัดอยู่กับ 47 จังหวัด (พรีเฟคเจอร์) ทั้งสิ้น ดังนั้นในระยะยาว จึงเสนอว่าควรดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการตำรวจทั้งระบบ โดยศึกษารูปแบบของประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ให้บทบาทความสำคัญแก่โครงสร้าง กลไกและระบบตำรวจท้องถิ่น ” นพ.พลเดช ระบุ
นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่าในระยะเฉพาะหน้านั้น ควรกระจายการบริหารจัดการระบบตำรวจ ประจำพื้นที่ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่า กทม.เสียจังหวะหนึ่งก่อน นอกจาก นั้นต้องปรับบทบาท สตช.ให้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจเป็นกลไกกำกับทิศทาง ปรับปรุงสถานีตำรวจให้เป็นศูนย์บริการความปลอดภัยสังคมแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) และยกเลิกระบบชั้นยศแบบกองทัพ
ต่อมาเรื่องที่ 2 คือต้องเพิ่มระบบตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของสังคม โดยจัดให้มีคณะกรรมการตำรวจที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและระดับสถานี รวมทั้งจัดให้มีกลไก ที่เป็นอิสระสำหรับพิจารณากรณีร้องทุกข์ร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือ พฤติกรรมของตำรวจ โดยผลักดันร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ เกี่ยวกับตำรวจ พ.ศ…. และทบทวน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ… ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
“คณะกรรมการควรมีทั้งระดับชาติ ภาค และจังหวัด ระดับที่โรงพัก ผมคิดว่าคสช.ควรตัดสินใจให้ครบวงจร เรื่องที่หนึ่งก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับเรื่องที่สอง ด้วยการทำให้ประชาชนไปเป็นบอร์ดดูแลระดับหน่วยงานย่อยระดับโรงพัก ระดับจังหวัดก็ให้มีภาคประชาชนไปเป็นกรรมการร่วม ให้องค์กรประชาสังคมไปนั่งเป็นบอร์ดด้วย จะได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ เป็นรายจังหวัด ระดับสน.ก็มี ทั้ง 3 ระดับ ต้องมีที่นั่งของภาคประชาชน” หมอพลเดช ระบุ
นพ.พลเดช กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือในข้อที่ 3 ต้องปฏิรูประบบอัยการ โดยมีข้อเสนอในการปรับปรุงภาพลักษณ์และสร้างศรัทธาต่อทั้งระดับสถาบันอัยการและตัวบุคคล เสนอให้ปรับเปลี่ยน “สำนักอัยการสูงสุด” ที่เป็นองค์กรอิสระแบบศาล กลับมา เป็น “สำนักงานอัยการ” ที่ขึ้นต่อกระทรวงยุติธรรม ห้ามอัยการดำรงตำแหน่ง ในรัฐวิสาหกิจและเอกชนอันทำให้เกิดปัญหาประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ในข้อเสนอยังเสนอให้ยกเลิกแบบอย่างการสอบสวนโดยอัยการและกำหนดให้มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานที่ชัดเจนในการพิจารณาสั่งฟ้อง รวมทั้งเปิดโอกาสให้อัยการสามารถจ้างทนายวามแก้ต่างแทนในอรรถคดีทั่วไป โดยจะช่วยลดภาระงานและอัยการก็ควรจะมาทำเรื่องสำคัญเรื่องคดีต่างๆทั้งหลายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งไปแล้ว จะได้ไม่มีข้ออ้างให้หมดอายุไป ซึ่งเป็นปัญหากระทบในภาพใหญ่ของกระบวนการตรวจสอบระบบคอรัปชั่นในปัจจุบัน.
ล้อมกรอบ ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวเสนอแนะความเห็นการพัฒนาประเทศไทย facebook ชื่อ ภาคีพัฒนาประเทศไทย http://on.fb.me/1mxa3Jr