รายงานพิเศษ
ถ้าเปรียบประเทศไทยเหมือนผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดครั้งใหญ่ อาการเชื้อมะเร็งคอรัปชั่นที่ลุกลามในสังคมอย่างรวดเร็วนี้ เทียบเคียงกันแล้วในทัศนะของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านการปฏิรูปสังคมปฏิรูป
ประเทศ อย่าง “นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) อดีตรมช.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในฐานะอดีตประธานคณะทำงานเฉพาะประเด็นสมัชชาปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอรัปชั่น ประเมินอาการแล้วบอกได้เพียงว่า “อาการป่วยคอรัปชั่นบ้านเรารุนแรงมาก ถ้าเปรียบเป็นมะเร็งก็ขั้นที่ 3-4 ”
ก่อนหน้านี้ มีความเห็นจากนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงอายุความคดีทุจริต โดยแสดงความเห็นว่าจะยังต้องมีอยู่ แต่อาจจะยืดระยะเวลาออกไป ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะมีอายุความ 15 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ไม่มากนัก ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 จะมีอายุความ 20 ปี โดยขณะนี้จะขอเสนอให้ขยายอายุความไปถึง 30 ปี !
แพทย์หัวก้าวหน้าผู้นี้บอกว่า ข้อเสนอการขยายอายุความของป.ป.ช. ยังไม่ใช่การปฏิรูป ต้องระวังจะถูกมองว่าเป็นการทำเพื่อตัวเอง ให้ไม่ถูกข้อครหาว่าปล่อยให้คดีหมดอายุความโดยการขยายเวลาคดีไปอีก 30 ปี การขยายอายุความคนผิดก็อาจแก่ตายไปแล้ว แนวคิดนี้ถ้าคนตามไม่ทันก็ดูเหมือนจะดี
“ผมให้คะแนนการปราบปรามคอรัปชั่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันว่าไม่ถึงเป้า โดยเฉพาะป.ป.ช.นี่ต่ำกว่าเกณฑ์ ในทัศนะผมผลงานของ ป.ป.ช. ถ้า 100 ให้ 40 โดยไม่ใช่ดูแค่แนวคิดอย่างเดียว ดูจากผลงานเชิงประจักษ์ด้วย อย่างกรณีป.ป.จ. (ป.ป.ช.จังหวัด) อันนี้เป็นภาระเลยแทนที่จะเป็นพลัง ผิดทาง ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วจะเป็นปัญหาด้วย กรณีจำนำข้าวการทำงานของป.ป.ช.เมื่อมีคนอื่นเรียกร้อง แล้วก็ยังทำล่าช้าอีก เรื่องนี้เข้าไปตั้งแต่ปี 2555 คุณใช้เวลาอะไรอยู่ถึง 2 ปี คุณกล้าณรงค์ (จันทิก อดีตเลขาป.ปช.)เคยบอกก่อนจะเกษียณ 70 ปี ว่าตั้งใจจะทำเรื่องข้าวให้เสร็จก่อนเกษียณ แต่นี่เกษียณไปนานแล้วก็ยังไม่จบ” นพ.พลเดช ระบุตรงไปตรงมา พร้อมทั้งบอกด้วยว่า จากการทำงานด้านการศึกษาระบบตรวจสอบคอรัปชั่นมานาน มั่นใจว่า ป.ป.ช.กำลังเดินผิดทางในการสู้กับคอรัปชั่นและเป็นเหตุผลที่ต้องมีการปฏิรูประบบตรวจสอบคอรัปชั่นอย่างจริงจัง ซึ่งจะมองข้ามการปฏิรูปตัวหน่วยงาน ป.ป.ช.ไม่ได้เลย
ที่น่าสนใจปัจจุบัน พบว่า สถิติที่เข้ามาสู่ระบบป.ป.ช.ปัจจุบันมีเพิ่มเป็นกว่า 9,000 คดีอีกแล้ว กล่าวคือ จากปี 2546-2550 ป.ป.ช.เคยแถลงว่ามีเหลือคดีค้างเพิ่มขึ้นจาก 4,975 คดีเป็น 11,578 คดี ซึ่งคิดเป็นอัตราพอกหางหมูประมาณ 1,650 คดี/ปี
ต่อมาในปี 2551 มีการมอบหมายคดีตามภารกิจให้แก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)ไปจำนวน 5,900 คดี คงเหลือกับป.ป.ช. เพียง 5,650 คดี แต่จนถึงล่าสุดคณะกรรมการป.ป.ช.โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. ร่วมกับนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ระบุว่า ผลงานด้านปราบปรามทุจริตในปีงบประมาณ 2557 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2556 มีจำนวนที่รับใหม่ 866 คดี รวมกับคดีเดิมที่ค้างอยู่ 8,581 คดี รวม9,447 คดี นับว่าคดีพอกหางหมูกลับมาเพิ่มอย่างรวดเร็วในห้วงเวลาที่ผ่านมา
ปัจจุบันข้อเสนอจากความพยายามของหลายฝ่ายในงานด้านการปฏิรูปแก้ปัญหาคอรัปชั่นในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก หากแต่ “การสังเคราะห์ข้อเสนอ”อย่างเป็นระบบกระบวนการ และ“จัดเรียงความสำคัญ” ว่าอะไรควรทำก่อนหลังเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งกว่า
ความพยายามของโครงการเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum : TD Forum) ที่ทำเวทีมาต่อเนื่องรวม 13 ครั้งที่ผ่านมา อันประกอบไปด้วยหน่วยงานสนับสนุนอย่าง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ถึงวันนี้ข้อมูลได้มีการตกผลึกมากพอ จากองค์กร ภาคีแนวร่วมและสถาบันวิชาการที่หลากหลาย รวมทั้งงานวิจัยเรื่องทุจริตชิ้นต่างๆ จนออกมาเป็น “ 3 ข้อเสนอใหญ่” ในแนวทางการปฏิรูปแก้ปัญหาคอรัปชั่นที่สามารถทำให้เป็นไปได้จริง ส่งมอบให้ผู้เป็นเจ้าภาพรับไปในการขจัดต่อต้านคอรัปชั่น ให้“สภาปฏิรูป” และ“ครม.เฉพาะกาล” ชุดที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่นานจากนี้ เร่งทำและนำไปต่อยอดได้ทันที
มาตรการแรกทำได้เลย หากร่างกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วก็จะมีเครื่องมือทำได้อย่างมีพลังมากขึ้น คือการเสริมสร้างและใช้พลังทางสังคมเพื่อต่อต้านคอรัปชั่น หมอพลเดชบอกว่า ข้อนี้ส่วนที่มีความเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือการดำเนินการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการป้องกันทุจริต ให้เป็นเครื่องมือของสังคมในการสนับสนุนภาคประชาชนต่อต้านทุจริต รูปแบบคล้ายกองทุนสสส. แต่ทำหน้าที่เรื่องเดียว คือเรื่อง “สร้างธรรมาภิบาล ต้านทุจริต”
มีที่มาของเงินกองทุนต้านทุจริตจากส่วนแบ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดในคดีทุจริตที่คดีสิ้นสุดแล้ว โดยแบ่ง 25 % เข้ากองทุนนี้ มีฐานความผิดคดีทุจริตจาก 4 พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) 2) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) 3) พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ คือการค้าทางเพศ การค้าขายแรงงานทาส และ 4) พ.ร.บ.ยาเสพติด
หมอพลเดช อธิบายให้เห็นถึงฐานที่มาของเงินมาจากกองทุน นอกจากนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้มีเงินจากรัฐบาลสบทบให้ปีละอย่างน้อย 100 ล้านบาทเพื่อแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นและการมีส่วนร่วมของฝ่ายบริหาร โดยในทางปฏิบัติมีคืบหน้าในเรื่องนี้ไปมาก ขณะนี้หน่วยงานหลายฝ่ายสำคัญช่วยสนับสนุน เพราะการจะสู้กับคอรัปชั่น กลไกทางสังคมหากเข้ามาร่วมจะมีพลังมหาศาล
นอกจากนี้ยังมีมาตราการทางรูปธรรมอีกข้อคือ เสนอว่าให้มีการตั้งกรรมการร่วมรัฐ–เอกชน–ประชาสังคมขึ้นมา นึกถึงทางธุรกิจเขามีกลไกร่วมที่เรียกว่า คณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน(กรอ.) ตั้งขึ้นมาสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลนนท์ ประกอบไปรัฐบาล ธนาคาร หอการค้า ภาคอุตสาหกรรม มีการประชุมเป็นประจำ ทำให้การขับเคลื่อนทางภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจไปได้ดี ซึ่งจากการหารือทุกฝ่าย ภาคประชาชนก็อยากเห็นรูปแบบนี้ในการต่อต้านคอรัปชั่น แต่อยากให้เติมภาคประชาสังคมเข้าไปด้วย
“การปฏิรูปเรามักจะพูดในเรื่องโครงสร้างอำนาจ กฎหมาย กติกาที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องที่เราไม่ได้พูดและละไว้ในฐานที่เข้าใจคือเรื่องคน แต่สุดท้ายถึงระบบจะดีอย่างไรก็ตามถ้าคนไม่ดีก็พัง อันนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ แม้ระบบแย่อย่างไรก็ตาม ถ้าได้คนดีก็ยังพอไปไหว ปัญหาเรื่องคนของประเทศไทยยังมีลักษณะไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาคอรัปชั่นมากนัก ผมมองดูแล้วยังมีอุปสรรคอยู่เยอะ ยังคงต้องเหนื่อย ผมถึงให้ความสำคัญกับข้อแรกก่อน คือเรื่องพลังทางสังคม ต้องทำให้คนไทยมีจิตสำนึกและวิธีคิดใหม่ รังเกียจคอร์รัปชัน เข้มแข็ง คนฉลาด รู้เท่าทัน การเปลี่ยนจิตสำนึกนี่เป็นงานใหญ่ ต้องเอากองทุนเข้ามาช่วย แล้วไม่ใช่ว่ามีกองทุนแล้วจะเกิดสังคมเข้มแข็งทันทีนะ อาจต้องใช้เวลาเป็น10 ปีกว่าจะสร้างให้เกิดขึ้นมาได้” หมอพลเดชย้ำถึงงานใหญ่ข้อแรก
และมาตรการข้อที่ 2 คือ มาตรการทางภาษีอากร เสนอให้ใช้มาตรการตรวจสอบและเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง กำหนดให้มาตรฐานนักการเมืองต้องเป็นผู้มีอาชีพสุจริตและเสียภาษีเงินได้ ต้องแสดงด้วย นั่นหมายความว่าคนที่จะเป็นนักการเมือง จะเป็นรัฐมนตรี จะต้องมีประวัติบันทึกการเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภงด. เอามาดูว่าเสียเท่าไร แล้วย้อนหลังไป 10 ปีว่าเสียภาษีไปเท่าไร ที่สำคัญแนวทางนี้สามารถเอาไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของป.ป.ช. เช่นเทียบกันว่ามีทรัพย์สินจริงประมาณพันล้าน แต่ว่าทำไมเสียภาษีประจำปีเท่ากับคนมีรายได้แค่ 2-3 ล้านเท่านั้น เพื่อพิจารณาดูว่าแล้วมันสมเหตุสมผลกับสถานภาพตอนนี้หรือไม่
นพ.พลเดช ขยายความว่า ปัจจุบันระบบการแสดงบัญชีทรัพย์สินขณะนี้ค่อนข้างมีจุดโหว่ การแสดงบัญชีทรัพย์สินที่ทำอยู่ขณะนี้ในระบบของป.ป.ช.ก็แสดงไป แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ในการจับผิดคนโกงมากนัก แล้วใครที่ไม่รู้จริงก็ยังไปเรียกร้อง บังคับให้ต้องแสดงบัญชีกันมากขึ้นไปอีก ไม่รู้ว่าเท่าที่เป็นอยู่ก็ใช้ประโยชน์น้อยและเป็นภาระงานที่มากเกินกำลัง จากเดิมให้แสดงบัญชีระดับ 10 เป็นต้นไปต้องแจ้ง ต่อมาก็ขยายมาระดับ 9 ก็ต้องแจ้ง บางคนเรียกร้องให้แจ้งทุกระดับเลย พอออกกฎหมายแบบนี้ดูเหมือนดีแต่ว่าไม่ดี บัญชีที่จะต้องตรวจมันจำนวนมหาศาล ที่ผ่านมามี 70,000 กว่าบัญชีที่พนักงานจะต้องตรวจ แล้วถามว่าจะมีปัญญาตรวจไหม ก็เลยเป็นการตรวจลวกๆ ว่ามีรายการครบไหม มีครบก็จบ แล้วเนื้อในเป็นอย่างไรไม่รู้ ไม่วิเคราะห์เชิงคุณภาพ น่าสงสัยไม่มี เพราะฉะนั้น ปัจจุบันจึงกลายเป็นการเพิ่มภาระงานให้บุคลากรโดยไม่มีผลอะไรดีขึ้นเลย ล่าสุดกรณีการเสนอให้ข้าราชการระดับ 8 ระดับ 9 และผู้นำท้องถิ่นรายงานเพิ่มอีก ธนาคารก็โวยวายว่าเป็นภาระและในทางใช้ประโยชน์ตรวจสอบก็ไม่มี
“ สมมติว่าหมอจะจ่ายยาให้คนไข้เป็นกระป๋องๆหว่านเข้าไป แล้วมันไม่สามารถทำให้คนไข้หายป่วยได้ แล้วจะสั่งให้กินไปทำไม เปลืองเงินคนไข้ด้วย เรื่องบัญชีทรัพย์สินนี่ก็เหมือกัน ที่แสดงนั่นมั่นใจหรือว่าเป็นบัญชีที่ไม่ถูกซ่อนถูกตกแต่งไว้แล้ว จะตรวจสอบอย่างไรก็ไม่มีปัญญาจะทำอะไรเค้าได้เลย ไม่มีทางรู้ คนที่จะเลี่ยงได้เค้าจะเลี่ยงเลย เพราะคุณไปหลงทาง สิ่งที่ไม่ควรทำกลับทำ ล่าสุดป.ป.ช.ออกมาตรการว่าการทำธุรกรรมที่เกินกว่า 5 แสนบาทให้แจ้ง แต่ก่อน 2 ล้านบาท ธนาคารจะต้องถามว่าเอาเงินไปใช้อะไร เป็นการเพิ่มภาระอีกแบบ ถามว่าป้องกันทุจริตได้ไหม ไม่ได้หรอก เพราะถ้าเป็นแบบนี้เขาก็เอาเงินสดไว้ที่บ้านดีกว่า ไม่ต้องให้ธนาคารมาตรวจสอบ มาตรการที่มันผิดทาง สักแต่ว่าได้ทำแล้ว ได้บอกประชาชนว่าฉันได้พยายามออกหมัดแล้ว เป็นนักมวยที่ขยันออกหมัดแต่ชกไม่ถูก ”หมอพลเดชระบุ
มาตรการข้อที่ 3 คือปฏิรูประบบงานปราบปรามการทุจริต
กระบวนการสรรหาป.ป.ช.ทั้ง 9 คนปัจจุบันให้อำนาจของประมุข 5 คน 1) ประธานศาลฏีกา 2 )ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3)ประธานศาลปกครอง4) ประธานรัฐสภา5)หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ให้ 5 คนนี้เป็นคนตัดสิน ความเห็นของหมอผู้สู้คอรัปชั่น เห็นว่า ทั้ง 5 คนนี้ แม้ภาพจะเป็นที่เคารพในทางสังคม แต่ในการตัดสินมักจะมีวิสัยทัศน์ที่จำกัด โดยจะแคบอยู่กับวงการราชการ สรรหาทีไรก็มักต้องเอาข้าราชการไว้ก่อน จะไม่หลุดไปทางอื่น ด้วยกระบวนการสรรหาเช่นนี้ ก็จะไม่มีทางที่จะบุคลากรจากภาคประชาชน ภาคอิสระต่างๆเข้ามาได้ ซึ่งนี่คือข้อจำกัดประการหนึ่ง
ทางแก้คือต้องเปลี่ยนสัดส่วนของกรรมการป.ป.ช. 9 คนโดยควรต้องมีส่วนของภาคประชาสังคมเข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีแต่ข้าราชการเก่าที่เกษียณอายุ องค์กรอิสระกลายเป็นที่ทำงานของข้าราชการเก่าที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพราะว่าเกณฑ์กำหนดไปทางนั้นเสียด้วย คือคนจะสมัครได้ต้องมีระดับเป็นอธิบดีขึ้นไป ระดับ 10 ขึ้นไป เพราะฉะนั้น ในชีวิตจริงของประเทศไทย คนที่ขึ้นมาระดับนี้ได้ก็มักจะต้องเคยเห็นเคยสัมพันธ์คอรัปชั่นมาด้วยกันทั้งนั้น รู้จักคนคอรัปชั่น มีคอนเน็คชั่น เคยร่วมเข้าหลักสูตรผู้บริหารกันมา กลายเป็นว่าลูบหน้าปะจมูกกันไปหมด
หมอพลเดช อดีตประธานคณะทำงานเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอรัปชั่น สรุปภาพคอรัปชั่นให้เห็นว่า การกำจัดคอรัปชั่นแรงต้านที่สำคัญคือราชการ กับนักการเมือง 3 ภาคที่ชั่วร้ายจากข้อสรุปงานวิจัยที่บอกไว้ตรงกัน คือนักการเมือง ข้าราชการและธุรกิจ จากนี้เครื่องมือทางสังคมที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน คือมาตรการข้อแรก ภาคประชาชนอยากเห็นมากที่สุด คือ กองทุนสนับสนุนการป้องกันทุจริต เพราะจะเป็นเครื่องมือกลไกอันสำคัญที่เสริมสร้างพลังทางสังคม สามารถทำได้ทันที และจะช่วยถอนพิษคอรัปชั่นออกจากสังคมไทยได้
ล้อมกรอบ ร่วมติดตามความเคลื่อนไหวเสนอแนะความเห็นการพัฒนาประเทศไทยผ่านทาง facebook ชื่อ ภาคีพัฒนาประเทศไทย http://on.fb.me/1mxa3Jr