ประชาคมชายแดนใต้
การเกาะติดงานพัฒนาชุมชนชายแดนใต้ของเรา “สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารพัฒนาที่อำเภอเจาะไอร้อง
จังหวัดนราธิวาส 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ LDI เป็นองค์กร เอ็นจีโอระดับชาติเพียงหนึ่งในไม่กี่องค์กร ที่มีบทบาทเป็นที่รู้จักและยอมรับของภาคี และหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่
เวลานี้ LDI ธนาคารโลก และกระทรวงการคลังกำลังดำเนินงานร่วมกันในชื่อ “โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้” หรือ ช.ช.ต. ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องระยะ 3 ปี (2552 – 2555) โดยเวิล์ดแบงก์เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70 ล้านบาทไทย
รูปแบบหรือแนวทางที่เป็นแกนกลางของโครงการ คือ การพัฒนาที่ใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก หรืองานชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมตามที่เราถนัดนั่นเอง ทางเวิล์ดแบงก์เขาเรียกว่า CDD (Community Driven Development)
โครงการนี้ผ่านมาครึ่งทางแล้ว เราลงทุนตั้งสำนักงานประจำอยู่ที่ปัตตานี มีนุชนาฎ จันทวิเศษ (จุ๊บ) กับ สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร (เม้ง) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก กลางเดือนนี้คุณ Inko และทีมงานจากเวิล์ดแบงก์จะมาติดตามเพี่อประเมินผลครึ่งโครงการ งานของพวกเราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นไปอย่างน่าพอใจ ทั้งที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
มีข่าวแว่วมาว่า คุณ Inko มีแผนที่จะต่อโครงการในเฟสต่อไปแล้วโดยประเทศที่สามสนใจที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณผ่านธนาคารโลก มาคราวนี้คงจะได้ระดมความคิดกันจัดทำรายละเอียด
เรื่องนี้ต้องขอบคุณคุณภมรรัตน์ ตันสงวนวงษ์ (คุณแพม) ซึ่งเป็นตัวเชื่อมสำคัญ นอกจากเวิล์ดแบงค์แล้ว องค์กรระหว่างประเทศอย่าง EU , USAID หรือ UNDP ก็สนใจติดตามผลงานของพวกเราอย่างใกล้ชิด
ที่สำคัญกว่านั้น ต้องขอบคุณพี่น้องผองเพื่อนข่ายงานชุมชนเข้มแข็ง และประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดมากที่สุด เพราะเป็นผู้ลงมือทำงาน ส่วน LDI ก็เป็นเพียงองค์กรภายนอกที่คอยสนับสนุนในเชิงวิชาการและกระบวนการจัดการเท่านั้น
มีเรื่องน่าสนใจ น่าเรียนรู้ และน่าติดตามอีกมากมายจากประชาคมชายแดนใต้ แล้วผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
พลเดช ปิ่นประทีป