ตอนที่ 59 ไพบูลย์เข้าไอซียู
13 ตุลาคม 2550
สัปดาห์นี้เป็นช่วงที่ตึงเครียดที่สุด เนื่องจากหลายเหตุมาประชุมกัน
การออกตระเวนต่างจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงานมหกรรมที่อยู่อาศัยโลกเกือบทุกวัน ทำให้ไม่มีเวลาเขียนต้นฉบับบทความวิชาการประจำปีให้สถาบันพระปกเกล้า ต้องใช้วิธีทะยอยเขียน ทะยอยส่ง ในที่สุดทันเวลาจนได้ ส่วนในครม.มีกฎหมายครอบครัวเข้าสู่การพิจารณา โดยไม่มีเวลาได้เตรียมตัวเลย เรื่อง “บิ๊ก พม.ขี้หลี” กำลังถูกถล่มจากสื่อและเครือข่าย NGO ด้านสิทธิสตรี จู่ๆ อ.ไพบูลย์ก็มามีอาการ Heart Attack ในวงประชุม ครม. แต่โชคดีช่วยกันหามส่งไอซียูรพ.รามาธิบดีได้ทัน การเดี้ยงอย่างกระทันหันของรมว.พม. ทำให้สื่อและสังคมหันมาจับจ้องที่ รมช.พลเดช ว่าจะคลี่คลายปัญหาในพม.อย่างไร แรงกดดันเพิ่มขึ้นทุกวัน รมช.พลเดช ต้องปะทะอารมณ์กับสื่อมวลชนที่เป็นแฟนประจำเป็นครั้งแรก ทีมงานรองนายกฯ ไพบูลย์ ที่ทำเนียบแตกตื่นไปกับอาการงอนของสื่อจนไม่เป็นอันกินอันนอน นั่งวิเคราะห์กันทั้งวัน แต่ หมอพลเดช ยังคงเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ปัญหา เพราะมีคำตอบในใจแล้วว่าจะทำอย่างไร เหลือเพียงการเดินยุทธวิธีอย่างมีจังหวะและถูกเวลาเท่านั้น
7 ตุลาคม 2550
– ไป จ.กาฬสินธุ์ ตามภารกิจขับเคลื่อนมหกรรมที่อยู่อาศัยโลกเปิดโครงการบ้านมั่นคง และเป็นสักขีพยานการลงนาม MOU ระหว่างจังหวัด, อบจ., เทศบาล, พมจ. และพอช. ไปร่วมงานของชุมชน 3 แห่ง นายกเทศมนตรีที่นั่นมีความเข้มแข็งมาก ทำโครงการบ้านมั่นคงครอบคลุมทั้งเทศบาล โดยมีเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบให้เป็น “เมืองที่ปลอดสลัม” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่งย้ายมาจาก จ.ยโสธร เข้ามาแสดงชื่นชอบต่อคำปราศรัย/ปาฐกถาของ รมช.พม.มากเป็นพิเศษ ขอนำความรู้ไปใช้และปวารณาตัวเป็นลูกศิษย์สูกหา
8 ตุลาคม 2550
– ส่งต้นฉบับบทความอีกส่วนหนึ่งให้เด็กพิมพ์ ก่อนเดินไปเชียงรายตั้งแต่เช้ามืด งาน World Habitat Day ที่นั่นมีพิธีลงนาม MOU กับนายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดป้าย ปลูกต้นไม้ ลงเสาเอกบ้านมั่นคง เยี่ยมชุมชน 3 แห่ง ชาวบ้านต้อนรับดีมาก โดครงการบ้านมั่นคงเป็นวิธีการสร้างชุมชนเข้มแข็งในกลุ่มประชาชนที่บุกรุกที่ดินของรัฐ เอกชน หรือสาธารณะ ให้มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นสหกรณ์เคหะสถานแล้วนำเงินมาจัดหาที่ดิน สร้างบ้านอยู่อาศัยอย่างมั่นคงด้วยตนเอง
– สั่งการให้รอง ปพม.(กานดา) อำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีปลัดพม.ฉาวและส่ง List รายชื่อเจ้าหน้าที่ที่จะให้ข้อมูล 10-15 ชื่อเป็นเบื้องต้น
– กลับถึง กทม. 6 โมงเย็น ต้องบึ่งไปทำเนียบเพื่อประชุมกับทีมสอบสวนปลัดพม.ร่วมกับอ.ไพบูลย์ อีกครั้ง ถึงบ้านดึกมาก
9 ตุลาคม 2550
– เจ้าหน้าที่มาดักพบเพื่อเตรียมการประชุมตัวชี้วัดกับ กพร. ตอนบ่ายแต่ไม่มีเวลาได้คุยเพราะต้องรับปั่นต้นฉบับบทความวิชาการอีก 2 ส่วน เพื่อส่งให้เด็กพิมพ์เพิ่มจนถึงเวลาต้องเข้าประชุม ครม. ข้าวเช้าไม่ได้กินไปจากกระทรวง
– ที่ ครม. ปกติในระหว่างรอเข้าประชุม รัฐมนตรีต่างๆ จะทานกาแฟ ขนม ข้าวต้ม โจ๊ก ฯลฯ เป็นการรองท้อง พวกเรามักชุมนุมกัน พูดคุยตามอัธยาศัย แต่วันนี้ผมไปช้าและต้องรับเข้าห้องประชุมทันที จึงอดต่อ ต้องเตรียมนำเสนอกฎหมายครอบครัวแทน รมว.ไพบูลย์ ครั้งนี้รองนายกฯ สนธิเพิ่งเข้าประชุม ครม.เป็นนัดแรก
– การประชุมนอกรอบ นายกฯ หารือ 2 เรื่อง 1) ผลการหารือ กกต.เตรียมการเลือกตั้ง กกต.ขอให้รัฐบาลช่วยรณรงค์เลือกตั้งอะไรบ้าง รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆพากันเสนอว่าของตนจะช่วยทำอะไรกัน กกต.ขอให้พม.ช่วยสื่อสารเครือข่ายคนพิการและอำนวยความสะดวกให้คนพิการมาใช้สิทธเลือกตั้ง รมช.พม.เสนอให้ตั้งรางวัลจังหวัดที่มีเปอร์เซ็นต์เลือกตั้งสูงสุด และอำเภอที่มีการตรวจจับคดีทุจริตเลือกตั้งสูงสุดเป็นรายภาค แต่นายกฯ และ ครม.ไม่ซื้อ บอกว่าต้องแล้วแต่ กกต.จะขอมา 2) การอภิปราย สนช.ในวันพุธ นายกฯ ขอให้ที่ประชุมไปร่วมฟัง โดยไม่ต้องชี้แจงอะไร มอบ รมต.ธีรภัทธ์เป็นผู้ชี้แจงคนเดียว
– ในการประชุม ครม. การเสนอวาระ พ.ร.บ.ครอบครัวเป็นไปอย่างตึงเครียด ! เมื่อ รมช.พม. เสนอ มี รมว.วท., สธ., คุณหญิงทิพาวดี อภิปรายสนับสนุน แต่รองนายกฯโฆษิตค้าน และสภาพัฒน์ฯ กับสำนักงานกฤษฎีกา รุมต้านก็ค้าน ในที่สุดรองฯ ไพบูลย์จึงลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างเข้มข้นขึงขังต่อแนวคิดการออกกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเทคนิค (สคก.) มากกว่านโยบาย (รมต.) ว่าไม่ถูกต้อง แต่แล้วในที่สุดนายกฯ ตัดสินใจไม่ส่งกฎหมายครอบครัวให้ สนช. โดยมีจุดยืนไม่ค้านการออกกฎหมายของ สนช. (ถ้า สนช.ผลักดันต่อ) รัฐบาลจะขอออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแทน
– หลังผ่านวาระ พ.ร.บ.ครอบครัวไปได้ประมาณ 15-20 นาที ขณะที่ครม.กำลังพิจารณาเรื่องอื่น รองฯ ไพบูลย์ มีอาการไม่สบาย เดินมาขออนุญาตท่านนายกฯ ไปพักผ่อน แล้วท่านเดินอ้อมมาบอก รมช.พม. ให้รู้ว่าท่านจะไม่อยู่ในห้องประชุม ผมถามว่า “พี่มีอาการอย่างไร” อาจารย์ ไพบูลย์ตอบว่า “รู้สึกแน่นๆ ที่หน้าอก” ผมรู้ด้วยสัญชาติญาณแพทย์ทันทีเลยว่า “Medical Emergency” จึงลุกขึ้นประคองพี่ไพบูลย์ทำเอาที่ประชุมฮือขึ้นทันที ถามว่าเกิดอะไรขึ้นท่านนายกฯ ให้ รมว.สธ. อาจารย์หมอมงคล ไปช่วยดูแล เรารีบเรียกแพทย์ฉุกเฉินมาจากชั้น 3 วัดชีพจรเบื้องต้น BP 90/60, Pulse regular แต่หมอมงคลเพิ่งเคยมีประสบการณ์หลอดเลือดหัวใจตีบมาก่อนเมื่อไม่นานมานี้ จึงตัดสินใจประสานโรงพยาบาลรามาธิบดีและส่งไปตรวจหัวใจทันที
– การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG พบว่ามีความผิดปกติ ST depression หมายถึง เป็นอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน Ishemic Heart Attack แพทย์ส่งเข้า ทำการตรวจสวนหลอดเลือดและฉีดสีดูอย่างละเอียดทันที พบหลอดเลือดตัน 1 เส้น และตีบอีก 2 เส้น จึงทำ Balloon ใส่ขดลวด (Stent) ไว้ 1 เส้นก่อนที่เหลือรอแข็งแรงแล้วทำต่ออีก 2 เส้น รวมเวลาตั้งแต่มีอาการ Heart Attack จนถึงทำ Balloon รักษา ใช้เวลา 1 ชั่วโมงพอดี นับว่าเป็นผู้ป่วยรายพิเศษที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาเร็วและ effective มากสุดๆ เลย
– การป่วยกระทันหันของรองนายกฯ ไพบูลย์ ซึ่งอีกตำแหน่งหนึ่งท่านเป็น รมว.พม. ทำให้ปัญหาที่ท่านแบกรับในฐานะรัฐมนตรีว่าการต้องตกมาอยู่ที่ รมช.พลเดชทั้งหมด เพราะสังคมจะไม่คาดหวังจากท่านอีกแล้ว ต่อไปนี้ทุกอย่างมาลงที่ รมช.พม.
– บ่ายวันนั้นยังคงไม่ได้ทานข้าวกลางวันอีกด้วยเพราะยุ่งและกังวลอยู่กับอาการของพี่ไพบูลย์ การประชุมบางรายการต้องมอบคนอื่นเป็นประธานแทน แต่ประชุมผู้บริหารระดับสูง พม.ยังคงมีต่อ บรรยากาศที่กระทรวงซึมไปหน่อย เพราะวันนี้วิกฤตที่สุด มอบงาน ปลัดพม. และอธิบดีแล้วจึงเลิกประชุม ได้ขอให้อธิบดี/รอง ปพม. ช่วยกันดูแลปัญหาผลกระทบกระทรวงจากสื่อโจมตีด้วย และขอให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย
10 ตุลาคม 2550
– ข่าวไพบูลย์ถูกหามเข้าโรงพยาบาลทำ Balloon เส้นเลือดหัวใจ พาดหัวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งอย่างพร้อมเพียง ข่าว TV.-วิทยุ ลงตั้งแต่เมื่อวานบ่ายแล้ว การป่วยฉุกเฉินในครม.ของรองนายกฯครั้งนี้ทำให้สังคมตื่นตัวสนใจปัญหาสุขภาพและโรคหลอดเลือดหัวใจกันขึ้นมาก ถือเป็นการ ให้การศึกษาสังคม (Civic Education) ครั้งใหญ่เช่นกัน กระแสข่าวหลักๆ คือ
ไพบูลย์ฟุบคาวงประชุม ครม.
หัวใจขาดเลือดกระทันหัน หมอทำ Balloon ช่วยชีวิตได้
มีหมอ 3-4 คนในที่ประชุมครม. ช่วยชีวิตไพบูลย์ได้
โชคดีที่มีอาการในขณะประชุม ครม.
หมอมงคลช่วยไพบูลย์, หมอพลเดชทำให้รู้ว่าฉุกเฉิน
รมว.เครียดจาก พ.ร.บ.ครอบครัว และปัญหาบิ๊ก พม. ฉาว !
– เวลา 08.00 น. ผอ.สสว.ทั้ง12 เขตเข้าพบชี้แจงกรณีหนังสือพิมพ์พาดพิงหาว่าทุจริต รมช.พม.ให้กำลังใจ และขอให้ช่วยสร้างสามัคคีและช่วยกันฟื้นฟูชื่อเสียงเกียรติภูมิของกระทรวง
– เวลา 09.30 น. ไปประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง วันนี้หมอมงคลนั่งเป็นประธานแทนรองนายกฯ ไพบูลย์ มี 3 เรื่องพิจารณา 1) อาชีวศึกษา-โรงเรียนเตรียมวิศวะของสถาบันพระจอมเกล้า 2) สิทธิผู้ป่วยบัตรสุขภาพรักษาฟอกไต 3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง จชต.
– เวลา 13.00 น. เป็นประธานมอบรางวัลเชิดชูเกียรติผู้ทำความดีแก่ผู้ยากลำบาก และผู้ยากลำบากที่เป็นแบบอย่างดำรงชีพได้ จำนวน 32 ราย ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ
– หลังเป็นประธานมอบรางวัล สื่อรุมสัมภาษณ์เรื่องปัญหาคุณธรรมใน พม.ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป รมช.ระเบิดคำตอบใส่นักข่าวแฟนคลับเป็นครั้งแรกเมื่อถูกนักข่าวสาวคนหนึ่งที่ไม่คุ้นหน้าถามด้วยคำพูดเชิง “เหยียดเย้ย “ เล่นเอาทุกคนตะลึง และเกิดเสียงลือกันต่างๆ นานาตามมาว่า “รมช.ปกป้องปลัด พม. !!”
– แต่กระแสข่าวในวันรุ่งขึ้นกับไม่ได้ลงในทางเสียหายกับตัวรัฐมนตรี :“พลเดชบอกสอบบิ๊กไม่สะดุด”, “สอบข้อเท็จจริงแล้วขอ 1 เดือน”, “แก้ปัญหาได้แน่ภายใน 3 เดือน”, “ไม่ย้ายบิ๊กข้าราชการเพราะยังไม่กระทบการสอบข้อเท็จจริง”
– เวลา 14.30 น. เป็นประธานประชุมเตรียมงาน Campaign สหประชาชาติ “Standup and Speak Out” รณรงค์แก้ความยากจนและเป้าหมายงานพัฒนากึ่งทศวรรษ MDG target พร้อมกับประเทศทั่วโลก จะจัดในวันที่ 17 ตุลาคม เวลา 10.00 น.
– เวลา 19.00 น. เข้าฟังสนช.เปิดการอภิปรายรัฐบาลเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่สภา สนช. รมต.ไปกันเกือบทุกคน นั่งหลับกันเป็นแถว เพราะกว่าจะเลิกตีหนึ่งพอดี
ระหว่างนั่งฟังอภิปรายใน สนช. ผมใช้เวลาวิเคราะห์เหตุปัจจัยของปัญหาใบปลิวโจมตี พม.อันเป็นที่มาของวิกฤตจริยธรรมในกระทรวงครั้งนี้ จนมองได้ทะลุและบัดนี้สามารถกำหนดแนวทางแก้ปัญหาได้ครบถ้วนทุกขั้น/ทั้งวงจรแล้ว จึงพร้อมจะเดินหน้าพูดคุยสื่อสารกับนักข่าวและสังคมแล้ว
A > ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง, องค์ประกอบน่าเชื่อถือ, ขอเวลาทำงาน 1 เดือน
B > ตั้งเพิ่มกรรมการกลั่นกรอง, ยืดเวลารับสมัคร C9-10 ที่เหลือทุกตำแหน่ง
C > พูดผ่านสื่อบ่อยๆ ต่อเนื่อง..เป้าหมายคือการอธิบายเรื่องราวต่อสังคม และข้าราชการ พม.
D > ตัดสินใจใช้มาตรการด้านปกครอง / กฎหมายเมื่อมีเงื่อนไขถึงพร้อม
11 ตุลาคม 2550
– เวลา 08.30 น. ให้โอวาททีมเรือเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น จำนวน 25 คน ที่เข้าพบและรับโอวาทก่อนเดินทางไปกับเรือ พวกเขาจะกลับมาถึงประเทศไทยในอีก 2 เดือนข้างหน้า รุ่นนี้มีลูกสาวของ อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ไปด้วย บางคนเป็นอาจารย์หนุ่ม-สาว บางคนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกก็มี
– เวลา 09.00 น. ขอประชุมกับคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งตำแหน่ง C9-10 ของ พม. คณะกรรมการชุดนี้ รมต.เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งตามมติ อกพ.กระทรวง ประชุมเพื่อมอบนโยบายการทำงานให้แก่คณะกรรมการ โดยขอให้ช่วยดูแลการคัดเลือกครั้งนี้ให้ดีที่สุดเพราะกระทรวงกำลังอยู่ในภาวะแตกแยกรุนแรง และขอให้ทำบางอย่างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
1) ทบทวน/เพิ่มเติมเกณฑ์-เงื่อนไขในกระบวนการคัดเลือก เพื่อให้เปิดกว้างและโปร่งใสยิ่งขึ้น
2) ให้มีข้าราชการ C10 อีก 2 คนเพิ่มเข้าไปในคณะทำงานกลั่นกรองคุณสมบัติ และวิสัยทัศน์ (สุภชัย, อุบล) เพื่อให้โปร่งใสและน่าเชื่อถือ
3) เนื่องจากที่ตำแหน่งมี 21 แต่ขณะนี้มีผู้สมัครเพียง 35 คน และบางตำแหน่งไม่มีคู่แข่ง จึงขอให้เลื่อนรับใบสมัครไปอีก 1 สัปดาห์
ที่ทำเช่นนี้เพราะมีเรื่องร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส และรีบร้อนที่ประชุมคณะกรรมการ Happy มาก รอง ปพม. (ชาญยุทธ) ดูท่าพอใจ เรื่องนี้ รมช.พม.หวังว่าจะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงกลุ่มผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเขียนใบปลิวโดยตรงว่า “รมต.มาดูแลแล้วนะ !” (หยุดทำร้ายกระทรวงเสียที !)
– เวลา 10.00 น. ประชุมทีมงาน รมช. เพื่อกำหนดงานรูปธรรมในช่วงโค้งสุดท้าย (3 เดือน) มอบหมายให้ทำ 3 อย่าง
1) ทำโครงสร้าง พม.ใหม่ ให้ได้ข้อยุติ ถึงขั้นสามารถลงมือได้
2) จัดการงบประมาณหนุนเครือข่ายปฏิบัติการให้มีประสิทธิผล
3) ทำเอกสารวิชาการ Document รวบรวมองค์ความรู้รอบ 12 เดือนให้เป็นมรดกแก่พม.
– วิเคราะห์ปัญหาบิ๊ก พม. ให้ทีมฟัง เพื่อให้รู้ว่า รมช.พม.กำลังอยู่ในสถานะใด แรงกดดันมาถึงเราที่นี่อย่างไร และเราจะแก้โจทย์ที่ยากและเร่งด่วนนี้ภายใน 3 เดือนให้ได้ด้วยวิธีไหน
– ทพ.กฤษดา ทีมงานรองนายกฯไพบูลย์ ที่ทำเนียบฯ โทรมาด้วยความกังวล เพราะนักข่าวทำเนียบลือกันว่า “หมอพลเดชปกป้องปลัด พม.” ผมบอกคุณหมอกฤษดาว่าให้อยู่เฉยๆ อย่าวิตกไปเลย ผมจะแก้ปัญหาได้แน่ แต่เขาคงไม่เชื่อ !!
– ผมให้กองประชาสัมพันธ์ช่วยนัดนักข่าวสังคมไปพบที่บ้านราชวิถีก่อนเข้ารายการ Nation Channel แต่ปรากฎว่ามีเพียง TV.7 รายเดียว นอกนั้นไม่สะดวก รถติดบ้าง ต้องรีบปิดข่าวบ้าง TV.9 โทรมาขอเป็นวันอื่นเพราะไม่ว่าง นี่แหละที่มีกระแสว่า : “นักข่าวงอนหมอพลเดช ?!”
– เวลา 17.00 น. ออกรายการ “โจทย์แผ่นดิน” ประจำสัปดาห์เรื่องที่อยู่อาศัย มีพวกแกนนำแฟลตดินแดงจัดตั้งกันมาเคลื่อนไหวด้วยโดยทีมงาน Nation ไม่รู้เท่าทัน จึงมีการปะทะคารมระหว่างแกนนำต้านแฟลตดินแดงกับ รมช.พม.
– ช่วงนี้คงเครียดไปหน่อยและเกรี้ยวกราดบ่อยครั้ง น้องๆ หน้าห้องรัฐมนตรีบอกว่า “ช่วงนี้ไม่ได้ยินคุณหมอผิวปากเลย !!”
12 ตุลาคม 2551
– ไป จ.กระบี่เป็นประธานเปิดสมัชชาคุณธรรม-ตลาดนัดคุณธรรมภาคใต้ 14 จังหวัด เขาจัดที่หอประชุม อบจ.กระบี่ ซึ่งใหญ่โตโอ่อ่ามาก
– บ่ายไปพบปะเยี่ยมเยียน พมจ.กระบี่, มีเจ้าหน้าที่ศพส., สสว.11,12 และสถานสงเคราะห์, รวมทั้ง พอช. และภาคประชาชนมาร่วมด้วย
– ผมถือโอกาสฟังพวกเขารายงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เขามีกำลังใจกันมาก งานภาคประชาชนเป็นที่น่าพอใจ
– ถือโอกาสเล่าความคิดว่าช่วงต่อไปจะทำอย่างไร และ 3 เดือนสุดท้ายจะทำอะไรบ้าง รวมทั้งอธิบายสภาพปัญหาความขัดแย้งในกระทรวงให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ฟัง ดูท่าทีสนุกสนานและเป็นที่พอใจกันมากทีเดียว พัชรา (ผู้ติดตาม) บอกว่า “วันนี้คุณหมอพูดได้มันมาก!”
– กลับถึง กทม. ต้องรีบดิ่งมาที่กระทรวงเพื่อพบกับกลุ่ม NGO ด้านสิทธิสตรี 5 คน ที่ขอเข้าพบเรื่อง “บิ๊กพม.ฉาว” มี ดร.สุชีรา ทอมป์สัน เป็นหัวหน้า บรรยากาศตึงเครียดเพราะถูกพวกเขารุก-กดดันอย่างหนัก แต่ด้วยความจริงจัง-จริงใจ-อิสระแบบหมอพลเดช จึงสามารถทำให้กลุ่ม NGO นักสิทธิสตรีสงบลงได้ด้วยความเข้าใจ และชวนมาทำโครงการเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และสร้าง พม. เป็นกระทรวงตัวอย่าง พวกเขาสบายใจกลับไปทุกคน แต่กว่าจะคุมสถานการณ์ได้ต้องเล่นบท บู๊ เชือดเฉือน ปะทะคารม ทำเอาทีมงานรัฐมนตรีใจหายใจคว่ำ พวกเขาได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีทำงานของหมอพลเดชกันไปมาก พัชราบอกว่า “คุณหมอพูดมันสุดๆ ทุกช็อตเลย”
– เช้าลูกชาย (ยอด) ไปฝึกงานต่างจังหวัด 1 สัปดาห์, เย็นลูกสาว (หญิง) เดินทางไปอเมริกา 1 เดือน, ที่บ้านเหลือลูกสาวคนเล็ก (พลอย) คนเดียว จึงเงียบไปหน่อย
– เวลา 09.00 น. ออกรายการวิทยุ 96.5 FM อ.ส.ม.ท. เรื่อง “ส่องกล้องมองนโยบายสังคม” ร่วมกับ ดร.กนก วงศ์กระหว่าน (ปชป.), ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ (อดีต ทรท.), วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ (ชท.), ดร.สันติ (แทนคุณสุวิทย์ คุณกิติหน.พรรคเพื่อไทย) และ ดร.ธนากร (พรรครวมใจไทย)
– รมช.นำเสนอก่อนว่า 1 ปีใน พม. มองเห็นอะไร ทำอะไร ห่วงอะไร
– ตำแหน่งทุกพรรคการเมืองที่มาร่วมรายการทุกคนกล่าวชื่นชมงาน พม. ในช่วง 1 ปีมาก และออกปากขอให้ผมช่วยทำโครงสร้างของกระทรวงให้พร้อมเพื่อพวกเขาจะได้เข้ามาใช้
– จากงานนี้ได้ความคิดที่ตกผลึกมากยิ่งขึ้น ทุกคนพอใจ จึงน่าจะเป็นบันใดไปสู่การเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมาพูดนโยบายสังคมในโอกาสเร็วๆ นี้
– หลังออกรายการวิทยุไปเยี่ยม อ.ไพบูลย์ ที่รพ.รามาธิบดี และปรึกษา 2 เรื่องสำคัญ เพื่อขอความเห็นและการตัดสินใจในเชิงเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ก่อนที่ผมจะลงมือปฏิบัติด้วยยุทธวิธีของตัวเอง
1)คัดเลือกผุ้ว่าการเคหะแห่งชาติคนใหม่เห้นชอบร่วมกันว่าเป็น “คนใน” ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ
2)กรณีบิ๊ก พม.-บรรทัดสุดท้ายคือ การย้ายออกและปรับขบวน พม.
เมื่อทั้ง 2 คนเห็นตรงกันแล้ว…ต่อไปนี้คือการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย!
พลเดช ปิ่นประทีป