ข้ามฝั่งแปซิฟิค (7) ฟื้นชาติหลังสงครามกลางเมือง


24 มิถุนายน 2553

      ถึงวันนี้ คนไทยโดยทั่วไปยังคงขวัญเสียจากเหตุการณ์เมษา–พฤษภามหาวินาศที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังคงเดินหน้าแผนปรองดองแห่งชาติ 5 แนวทางต่อไป

ศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน) กำลังพิจารณาเสนอนิรโทษกรรมมวลชนผู้ร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ดังระงม. ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมมุ่งมั่นขับเคลื่อนการปฏิรูปสังคม-ปฏิรูปประเทศไทย นัยว่าเป็นการแก้ปัญหาพื้นฐานที่หมักหมมและป้องกันความขัดแย้งในระยะยาว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ บทเรียนสงครามกลางเมืองและการฟื้นฟูชาติของคนอเมริกันน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาเคยผ่านสงครามครั้งใหญ่ที่ทำให้คนอเมริกันแตกแยกกันอย่างรุนแรงถึง 3 ครั้ง คือ สงครามปฏิวัติ (1770’s) , สงครามกลางเมือง (1860’s) และสงครามเวียดนาม (1970’s) ซึ่งครั้งที่เกิดความสูญเสียมากที่สุด คือ สงครามกลางเมืองครับ คราวนั้นคนอเมริกันแบ่งเป็น 2 ฝ่าย สู้รบกันระหว่างมลรัฐ นานถึง 4 ปี (1861-1865) เสียชีวิตรวม 1.03 ล้านคน คิดเป็น 3 % ของประชากรขณะนั้น และในจำนวนนี้เป็นทหารที่ตายในสงครามจำนวนมากถึง 620,000 คนทีเดียว

ความขัดแย้งพื้นฐานอันเป็นที่มาของสงครามกลางเมืองครั้งนั้นคือพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มลรัฐทางภาคเหนือกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม ต้องการแรงงานอิสระ ส่วนมลรัฐทางใต้ยังเป็นเกษตรกรรมที่ต้องการแรงงานทาส ฝ่ายแรกต้องการเลิกทาส ส่วนฝ่ายหลังไม่ยอม ในที่สุด 11 มลรัฐทางใต้ที่มีทาสมากมายจึงประกาศแยกตัวจากประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America : USA) หรือ Union ตั้งตัวเป็นประเทศใหม่เรียกตนว่า Confederation States of America : CSA หรือเรียกกันว่าพวก Confederacyโดยมี Jefferson Davis เป็นประธานาธิบดีซ้อนขึ้นมาและมี Robert E.Lee เป็นผู้บัญชาการกองทัพ

ด้าน Abraham Lincoln ประธานาธิบดีตัวจริงของ USAซึ่งขณะนั้นเพิ่งเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ ออกประกาศว่ารัฐฝ่ายใต้ก่อกบฏ จึงระดมอาสาสมัครจากทุกมลรัฐเข้าร่วมกองทัพไปปราบปราม จุดเริ่มของสงครามเกิดขึ้นเมื่อกองทัพ CSA โจมตีทหารของ USAที่ Fort Sumtre , South Calorina วันที่ 12 เมษายน 1861. การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด ฝ่ายใต้ พยายามดึงพันธมิตรต่างประเทศคือ อังกฤษกับฝรั่งเศสเข้าร่วม ฝ่ายยูเนียน ตีกันด้วยการประกาศเป้าหมายในการเลิกระบบทาสซึ่งเป็นประเด็นที่ก้าวหน้ากว่า และใช้แผนยุทธการ Anaconda Plan โอบรัดเมืองท่าฝั่งแอตแลนติค ทำให้เศรษฐกิจของฝ่ายใต้ ชะงักงันและตีกระหนาบจากทางตะวันตกและทางเหนือจนสิ้นฤทธิ์ สุดท้าย Lee ยอมแพ้ที่ Appomattox Court House เมื่อวันที่ 9 เมษายน 1865

สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในสภาพที่ Union และมลรัฐฝ่ายเหนือชนะ ส่วน CSA เป็นผู้แพ้อย่างราบคาบ.

แต่เพียงแค่ 5 วันหลังชนะสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบยิงเสียชีวิต ทำให้รองประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสันต้องขึ้นรับภารกิจแทน งานสำคัญช่วงนั้นคือการฟื้นฟูชาติที่แตกเป็นสองเสี่ยงให้กลับคืน และสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่

เนื่องจากสมรภูมิอยู่ในดินแดนภาคใต้ เมืองต่างๆเสียหายย่อยยับโดยเฉพาะเมืองท่าชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน ในชนบทก็ถูกทำลายทั้งฟาร์ม ปศุสัตว์ บ้านพักอาศัยและเครื่องมือการเกษตร ที่สำคัญคือทาส ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง ต้องหลุดไปจากมือนายทาสผิวขาว จำนวนมากถึง 4.0 ล้านคน เนื่องจากได้รับอิสรภาพภายหลังสงคราม ซึ่งนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

ในฐานะผู้แพ้สงคราม CSA โดยเฉพาะคนผิวขาวชาวใต้บอบช้ำทางจิตใจอย่างแสนสาหัส นอกจากถูกมิตรต่างประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศสประณามว่าต่อสู้เพื่อคงระบบทาสที่ล้าหลังเอาไว้แล้ว ยังมีปรากฎการณ์ที่ทาสผิวดำของพวกเขาเอง 80,000 คน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับนายของตนอีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะพ่ายแพ้สงคราม ผู้นำของพวกเขายังคงเป็นวีรบุรุษในตำนานและนิยายปรัมปรา ที่ยึดกุมจิตวิญญาณของคนใต้

งานฟื้นฟูชาติหลังสงครามกลางเมืองเป็นภารกิจที่มีความยุ่งมาก และมีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดอีกเช่นกัน แต่คราวนี้เป็นการต่อสู้กันทางแนวคิดแนวทาง และกระบวนการทางกฎหมายอย่างสันติ น่าสนใจว่า เขาไม่เรียกกระบวนการปรองดองแบบบ้านเรา เพราะปรองดองคือการที่คู่ต่อสู้หมดปัญญาที่จะเอาชนะกันแล้วจึงหันมาเจรจากันเพื่อสงบศึกโดยยอมถอยคนละก้าวสองก้าว ที่นั่นฝ่ายรัฐบาล USAเป็นฝ่ายชนะ CSA เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ยอมจำนนและต้องถูกลงโทษ เขาจึงเรียกว่าการฟื้นชาติ (Reconstructing the Nation) ครับ

มี 4 แนวคิดทฤษฎีในการฟื้นชาติที่พวกเขาต่อสู้กัน

1. แนวคิดประธานาธิบดี– เป็นของอับราฮัม ลินคอล์นและแอนดรูว์ จอห์นสัน เป็นแนวทางใจดี-ให้อภัย ไม่ถือว่า CSA กระทำการแยกดินแดน แค่เผลอไผลผิดพลาดไปบ้างเท่านั้น เพียงแค่มาให้สัตย์สาบานว่าไม่เคยคิดแยกประเทศเท่านั้นก็พอ รวมๆแล้วแนวนี้เป็นแนวทางบูรณะซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างกันเท่านั้น (Restoration)

2. แนวคิดฝ่ายใต้ผู้พ่ายแพ้ – เป็นแนวทางของฝ่ายใต้ผู้ก่อสงครามและพ่ายแพ้ เสนอว่าผลของสงครามก็ออกมาแล้วว่าการแยกตัวเป็นไปไม่ได้ จึงขอให้เลิกแล้วกันไป ทุกอย่างให้กลับไปเหมือนเดิมเมื่อก่อนสงครามก็พอ

3. แนวคิดผู้ชนะกินรวบ– เป็นแนวคิดของกลุ่มรีพลับริกันสายสุดขั้ว ซึ่งมีอิทธิพลมากในคองเกรส เห็นว่า CSA ต้องถูกลงโทษเพราะทำลายรัฐธรรมนูญของประเทศ จึงเป็นอำนาจอันชอบธรรมของคองเกรสที่จะเข้าไปจัดระเบียบให้ทั้งหมดโดยฝ่ายใต้ไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง

4. แนวคิดการลงโทษและเพิกถอนสิทธิ์– เป็นแนวคิดค่อนข้างเป็นทางสายกลาง จะประกาศความผิดของ CSA ลงโทษโดยริบคืนสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญบางอย่าง และให้คองเกรสมีอำนาจความชอบธรรมที่จะสร้างหลักประกันแก่ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐในทุกมลรัฐ

การต่อสู้ทางแนวคิดแนวทางระหว่างทฤษฎี 1 กับ 3 นั้นดุเดือดทีเดียว เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นคนบริหารประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนออกกฎหมาย. มีรายละเอียดการชิงไหวชิงพริบและตอบโต้ทางการเมืองทางกระบวนการบริหารและการออกกฎหมายมากมายที่น่าศึกษา

ปี 1866 กฎหมายที่คองเกรสผ่านออกมา 2 ฉบับ ได้ถูกประธานาธิบดีใช้อำนาจวีโต้ตกไป ฉบับหนึ่งคือFreedman’s Bureau Bill ซึ่งจะให้การศึกษาแก่ทาส และจัดที่ทำกินให้รายละ 40 เอเคอร์ พร้อม ฬ่อ 1 ตัว อีกฉบับหนึ่งเป็น Civil Rights Act ที่จะให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่ทาส.

ผลการต่อสู้ระหว่างทฤษฎี1 กับ 3 ในที่สุดออกที่ทางสายกลางคือ 4 ตรงนี้จึงเป็นที่มาของ Reconstruction Act ปี 1867 ครับ

กองทัพของยูเนียนถูกส่งเข้าควบคุมรัฐฝ่ายใต้ตลอดช่วงของการฟื้นชาติ โดยแบ่งเป็น 5 เขตควบคุม มีหน้าที่-ดูแลการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และกระบวนการเลือกผู้ว่าการมลรัฐ จะเรียกว่าเป็นช่วงการปกครองโดยเผด็จการทหารก็ว่าได้ เป็นเช่นนี้จนถึงปี 1870 จึงถอนกำลังหมด

ในด้านการลงโทษผู้แพ้ทหารฝ่ายใต้มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกตัดสินประหารชีวิตคือกัปตัน Henry Wirtz ผู้บัญชาการเรือนจำ Anderson Ville นอกนั้นทหารทั่วไปเพียงแค่กล่าวคำสัตย์สาบานแบบเข้มข้น ก็ได้รับอภัยโทษส่งกลับบ้าน กลับเข้าทำงานได้และมีสิทธิทางการเมืองเหมือนเดิม นอกจากนั้นนายทหารยังได้คนของตนเป็นของแถมกลับไปอีกด้วย

ส่วนผู้นำ CSA ด้านพลเรือน ถูกจับตัวทั้งหมด คุมตัวอยู่ 2-3 เดือนก็ถูกปล่อยออกมาโดยไม่ดำเนินคดี แต่ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและไม่ได้กลับเข้าทำงาน ต่อมาปี 1872 จึงได้รับการอภัยโทษทั้งหมด มีเพียงคนเดียวคือ Jefferson Davis ซึ่งตั้งตนเป็นประธานาธิบดีของ CSA ถูกตัดสินจำคุก2 ปี และไม่นานก็ได้รับอิสรภาพ

กระบวนการฟื้นชาติของคนอเมริกันภายหลังสงครามกลางเมืองกินเวลาถึงหนึ่งรอบนักษัตร คือ 12 ปีทีเดียวครับ ระหว่างเส้นทางการฟื้นชาติชาวใต้ผิวขาวได้รับความเจ็บปวดและขมขื่นมาก ยิ่งรัฐบาลที่มาปกครองเป็นกลุ่มคนที่คองเกรสส่งมาจากข้างนอก ผสมกับคนขาวที่แปรพักตร์ และนิโกรที่เคยเป็นทาสพวกเขามาก่อน มีปัญหาคอร์รัปชั่นระบาดอย่างรุนแรง สร้างความเกลียดชังและมืดมน

แต่ท้ายที่สุดคนใต้ผิวขาวเริ่มทำใจได้ ปรับจิตสำนึกใหม่ ไม่หวนคิดถึงระบบทาส หรือเพรียกหาคุณค่าความเป็นสังคมคนใต้แบบเก่า (Old South) แต่ยกระดับจิตใจและคุณค่าขึ้นใหม่ (New South) กระทั่งสามารถกลับเข้ามาเป็นตัวแทนบริหารประเทศและปกครองมลรัฐอีกครั้ง ในปี 1877.

สงครามกลางเมือง 4 ปี และกระบวนการฟื้นชาติ 12 ปี จึงเป็นอันยุติลง