ข้ามฝั่งแปซิฟิค (6) สงครามปฏิวัติอเมริกา


22 มิถุนายน 2553
 

          เมื่อวานนี้ นั่งสนทนากับพรรคพวกที่เคยเรียนและสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นร่วม 30 ปี เขาบอกว่าญี่ปุ่นฟื้นฟูและพัฒนาประเทศและระบอบประชาธิปไตยมาได้อย่างทุกวันนี้เพราะที่นั่นมีคนญี่ปุ่น ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวเขาเชื่อว่าแม้เอาคนญี่ปุ่นไปวางไว้ที่เอธิโอเปีย ซึ่งแห้งแล้งกันดาร ประเทศนั้นก็จะสามารถเจริญขึ้นมาได้เช่นกัน

          ทำให้ผมนึกย้อนกลับมาที่คนไทยกับประเทศไทยที่แสนอุดมสมบูรณ์เพราะคุณภาพและศักยภาพของคนไทย คือ ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ. ปัจจัยด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม นิสัยใจคอ และแรงบันดาลใจหรืออุดมการณ์ของชาติเป็นแรงขับดันภายในที่ต้องปลูกต้องสร้างอย่างมีทิศทาง มีแผนการ มิใช่ปล่อยให้เป็นไปตามยะถากรรม.

          บทเรียนการสร้างชาติสร้างประเทศของคนอเมริกันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าศึกษามากเช่นกัน. ประเทศสหรัฐอเมริกาถือกำเนิดเพียงแค่สองร้อยปีเศษเท่านั้น อายุไล่เลี่ยกับกรุงรัตนโกสินทร์ของเรา แต่เขากลายเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่มากจนไม่มีใครทาบได้แม้ทุกวันนี้.

         สหรัฐอเมริกาเป็นผลผลิตที่เกิดจากสงครามปฏิวัติอเมริกัน ระหว่างปี 1775 – 1783 ซึ่งในสงครามดังกล่าวคนอเมริกันใน 13 มลรัฐที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษได้รวมตัวกันต่อสู้จนได้รับเอกราชและสร้างประเทศขึ้นมาบนความภาคภูมิใจและอุดมการณ์ของประชาชนฝ่ายปฏิวัติที่รักชาติ

          ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกากินเวลา 24 ปี คือระหว่างปี 1763 ซึ่งมีสนธิสัญญาปารีสยุติสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับชาวอินเดียนพื้นเมือง จนถึงปี 1787 อันเป็นปีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา

          อย่างไรก็ตามห้วงเวลาที่ทำสงครามสู้รบกันจริงๆมีแค่ 8 ปีเท่านั้น คือ ระหว่างปี 1775-1783 จากสงครามครั้งแรกที่ Lexinton , Concord , Skenesboro , Fort Ticonderoga และ Bunker Hillจนถึงปีที่มีสนธิสัญญาปารีสยุติสงครามและโลกยอมรับการมีประเทศใหม่ : สหรัฐอเมริกา.

          การปฏิวัติก่อตัวจากคนอเมริกันในอาณานิคมที่เริ่มไม่พอใจและไม่ยอมรับสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ การค้าขายที่อังกฤษส่งตัวแทนของกษัตริย์มาปกครอง และตั้งสภาตัวแทนขึ้นมาทำหน้าที่ออกกฎหมายและเก็บภาษีสินค้าผลิตผลและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยคนอเมริกันไม่มีสิทธิ์ไม่มีส่วนเลือกตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของตน จึงเกิดเหตุการณ์ประท้วงและจลาจลอยู่เนืองๆ

อันที่จริงอังกฤษไม่ได้เก็บภาษีสูงนัก แต่ประเด็นความไม่พอใจอยู่ที่ว่าคนอเมริกันไม่มีส่วนร่วมเป็นตัวแทน ดังสะท้อนจากสโลแกนการต่อสู้ของพวกเขาที่ว่า “No Taxation Without Representation.” ความเคลื่อนไหวรักชาติ รักความเป็นธรรมได้ก่อตัวขึ้นและขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ปี 1965 เกิดขบวนการลับที่เรียกตนเองว่า “Sons of Liberty” ขึ้นในหลายเมือง , ปี 1773 เกิดขบวนการ “Tea Party ,ปี 1774 มีการก่อตั้ง Provincial Congressขึ้นมาปกครองตนเองในมลรัฐที่ร่วมก่อการ , ฯลฯ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้สะสมพลังประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งเกิดเสียงปืนแตก

          เมื่อสงครามเกิดขึ้นไปได้ 1 ปี มลรัฐทั้ง 13 รัฐ รวมตัวกันเป็นองค์กรนำที่เรียกว่า Continental Congress ซึ่งในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 คองเกรสได้ออกประกาศอิสรภาพเป็นครั้งแรก (Declaration of Independence) เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม , 1776 ซึ่งได้ถูกกำหนดให้เป็นวันชาติอเมริกันในเวลาต่อมา

          สงครามปฏิวัติดำเนินไปอย่างดุเดือด มีสนามรบใหญ่ๆเกิดขึ้นร่วมร้อยสมรภูมิ ยิ่งสู้อังกฤษยิ่งเพลี่ยงพล้ำ จนในที่สุด ปี1781อังกฤษยอมแพ้  ทั้ง13 มลรัฐที่ร่วมทั้งสงครามได้ก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐหลวมๆ (Confederation) ซึ่งเป็นจุดเริ่มของการเป็นประเทศใหม่  ต่อมาปี 1783 สนธิสัญญากรุงปารีสได้ยอมรับการเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ

          ปี 1787 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ได้ทำให้สหพันธรัฐหลวมๆดังกล่าวกลายเป็นสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐบาล Federation ที่แข็งแกร่งในปีต่อมา และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งแรก ซึ่ง Gorge Washington ได้รับเลือกตั้งในปี 1789.

 

          และเมื่อประเทศมีความมั่นคงแล้ว สิ่งสำคัญที่พวกเขาไม่ลืมคือการให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างกว้างขวาง โดยการออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ (Bill of Rights) ในปี 1791

 

         

          อย่างไรก็ตาม ระหว่างกระบวนการต่อสู้ทั้งทางการเมืองและการทำสงครามเอกราช สังคมอเมริกันเกิดความแตกแยกอย่างหนัก คนอเมริกันถูกแบ่งเป็น 3 ฝ่ายอย่างชัดเจน ความแตกร้าวนี้ขยายลงไปถึงชุมชนและครอบครัวทีเดียว

          ฝ่ายแรก – พวกปฏิวัติ , พวกรักชาติ ซึ่งมีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น Patriots , Whigs , Congress-men ,Americans. พวกนี้ถืออุดมการณ์ร่วมกัน

          ฝ่ายที่สอง – พวกภักดีอังกฤษ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 15-20 % ของคนอเมริกันในสมัยนั้น เรียกชื่อต่างๆ เช่น Loyalists , Tories , King’s men. มักเป็นคนสูงอายุและเชื่อมโยงกับโบสถ์คริสต์

          ฝ่ายที่สาม – พวกกลางๆ ที่ไม่สนับสนุนการปฏิวัติ แต่ไม่ต่อต้าน กลุ่มนี้มีแนวโน้มสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์อังกฤษ ได้แก่ พวกคนพื้นเมืองอเมริกัน , ชนเผ่าต่าง ๆ และพวกทาสผิวดำ

 

          ภายหลังสงคราม กลุ่มผู้ภักดี ประมาณ 450,000 – 500,000 คน ยังคงตั้งรากฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกาเช่นเดิมและใช้ชีวิตอย่างปกติสุข บางคนกลายมาเป็นผู้นำที่โดดเด่นในระยะหลังก็มี

 

          ในการก่อตั้งประเทศขึ้นใหม่ภายหลังสงครามปฏิวัติ คนอเมริกันได้ยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งค่อยๆหล่อหลอมขึ้นระหว่างยุคปฏิวัติที่เรียกรวมๆว่า Liberal Republicanism. มีบทบาทเป็นแก่นกลางทางแนวคิดของสังคม และผู้นำในยุคนั้น และเป็นรากฐานทางสังคม ระบบการเมืองการปกครอง คุณธรรมจริยธรรม หรือที่เรียกว่า Core of Political Values ของประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน.

          กล่าวกันว่าอุดมการณ์สาธารณรัฐนิยมเสรีดังกล่าว ได้รับอิทธิพลทางความคิดทฤษฎีมาจาก 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ แนวคิดเรื่องเสรีภาพ (Liberty)ของ John Locke ซึ่งมีอิทธิพลหนุนนำการปฏิวัติ ,ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract)ของ Rousseau ที่ตอกย้ำความเชื่อพื้นฐานที่ว่ามนุษย์มีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะขับไล่ผู้นำที่ทรยศและในส่วนของการออกแบบรัฐธรรมนูญของประเทศและของมลรัฐต่างๆ นั้น พวกเขาใช้หลักวิเคราะห์ “ความสมดุล (Balanced)ของ Montesquieu.  

 

          คงเห็นได้ชัดทีเดียวว่าคนอเมริกันเขาช่วยกันสร้างชาติสร้างประเทศขึ้นมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ และน้ำพักน้ำแรงของสามัญชน เรื่องราวการต่อสู้และปัญหาอุปสรรคที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้ฝ่าฟันมานับร้อยนับพันเหตุการณ์ ได้ถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ สำหรับอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ปลูกฝังความรักชาติและกระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจ มีทั้งหนังสือ ตำรา เรื่องเล่า นวนิยาย บทละคร บทเพลง  ภาพยนตร์ และศิลปวัฒนธรรมทุกแขนง

 

          ใครที่ชอบดูภาพยนตร์อเมริกัน น่าจะเห็นพ้องต้องกันว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ลงทุนทางวัฒนธรรมอย่างมาก เขาจึงสามารถสร้างความภาคภูมิใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สำเร็จ

 

          เรื่องแบบนี้ หากปล่อยตามมีตามเกิดคงหวังอะไรไม่ได้อย่างแน่นอนครับ.