ข้ามฝั่งแปซิฟิค (4) การปกครองท้องถิ่นของอเมริกา


12 มิถุนายน 2553

      มีผู้กล่าวว่ารัฐบาลมลรัฐ (State Government) เป็นกลไกการปกครองถิ่นที่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนอเมริกันมากที่สุดซึ่งก็คงจริง    ใครที่ชอบดูภาพยนตร์อเมริกันน่าจะเห็นบทบาทของตำรวจแอลเอ  ศาลและอัยการมลรัฐ  

โรงเรียน  มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และบริการสาธารณะท้องถิ่นต่างๆ ที่ดำเนินการโดยมลรัฐและเมือง(เทศบาล) ปรากฏในวิถีชีวิตประจำวันของตัวแสดงตามท้องเรื่องอยู่เสมอ

      ภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา  มลรัฐต่าง ๆ ยังมีรัฐธรรมนูญของมลรัฐและสามารถออกกฎหมายของตนเองได้    กฎหมายของมลรัฐ (Code of Laws) มักเกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นฐาน 4 เรื่อง คือว่าด้วยเรื่องทรัพย์สิน  อาชญากรรม  สุขภาพ และการศึกษา

      มลรัฐไม่สามารถพิมพ์แบ๊งค์ใช้เองได้   แต่สามารถหารายได้จากการเก็บภาษี (Tax) และการออกพันธบัตร (Bond) ของตนเอง   ดังนั้นจึงมีฐานรายได้อย่างเพียงพอสำหรับโครงการพัฒนาและความริเริ่มใหม่ ๆ ของท้องถิ่น  อย่างที่เห็นได้จากการที่มีหลายมลรัฐดำเนินการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพของประชาชนของตนก่อนที่โอบามาจะผลักดันร่างกฎหมาย Health Care Reform Bill ผ่านรัฐสภาได้เสียอีก

      ตำแหน่งบริหารสูงสุดของมลรัฐคือ  ผู้ว่าการมลรัฐ (State Governor)   ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลมาก  ประธานาธิบดีส่วนใหญ่ก็มักผ่านการเป็นผู้ว่าการมลรัฐมาก่อน  เช่น บุญ เป็นอดีตผู้ว่าการมลรัฐเท็กซัส ส่วนโอบามาเป็นอดีต สว.

      มลรัฐมีกลไกการออกกฎหมายของตนเอง  เป็นระบบ 2 สภา เช่นกัน (Bicameralism) มีระบบศาลของตนเอง (State Court System) ซึ่งประกอบด้วยศาลสูงและศาลล่าง เหมือนระดับชาติ

      ระบบการปกครองท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาเขานับตั้งแต่ระดับที่ต่ำกว่ามลรัฐลงมาทั้งหมด ซึ่งมี 7 รูปแบบที่สำคัญ ได้แก่

1. เมืองใหญ่ หรือ นคร (City, Metropolitant)  มีนายกเทศมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุด

2. เมือง (Town)  มีนายกเทศมนตรีสูงสุดเช่นกัน

3. คณะกรรมการมณฑล (Connty Board) ซึ่งบางแห่งมีอำนาจน้อย  แต่บางแห่งมีอำนาจมากถึงขนาดที่เก็บภาษีและบังคับใช้กฎหมายได้

4. เขตบริหารจัดการน้ำ (Water Management District)

5. เขตบริหารจัดการดับเพลิง (Fire Management District)

6. เขตบริการห้องสมุด (Library District)

7. อื่น ๆ ที่คล้ายกันนี้

      รูปแบบ 1 และ 2  ไม่น่าแปลกใจเพราะบ้านเราก็มี  นายกเทศมนตรีก็ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเช่นเดียวกัน     แต่รูปแบบ 3,4,5,6  นี่ซิน่าแปลกเพราะเขาถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ  Local Government ด้วย และคณะกรรมการก็ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน

      ผมมีโอกาสไปทำธุระและใช้บริการของเทศบาลเมืองมิลพิทัส (City of Milpitas) กับครอบครัวของน้องสาวที่ศาลาที่ทำการเทศบาล   ย่านซิลิคอนแวลเล่ย์    ลูกหลานคนหนึ่งอยากเรียนเปียโน  อีกคนหนึ่งอยากเต้น Modern Dance  ประชาชนมีปัญหาอะไร ๆ ก็สามารถใช้ที่นั่นเป็นที่ติดต่อประสานงานได้ ทั้งเรื่องบ้านเรือน อาคารสถานที่ ระบบความปลอดภัย ตำรวจ วิศวกรรม ดับเพลิง ห้องสมุด  พัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ไฟแนนซ์  จัดหางาน  เก็บขยะ  รีไซเคิล จัดหาน้ำสะอาด  สวัสดิการสังคม  อาสาสมัคร ฯลฯ

      มิลพิทัส  เป็นเมืองขนาด 14.5 ตารางโมล์  มีประชากร 69,419 คน มีบ้าน 17,132 หลังคาเรือน, อายุเฉลี่ยประชากร 33.4 ปี, รายได้เฉลี่ย 88,500 USD/ปี

      สัดส่วนการใช้สอยพื้นที่ของเมืองนั้นน่าสนใจเพราะสะท้อนถึงการผังเมืองซึ่งเป็นอารยธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น  มิลพิทัสมีพื้นที่รวมของเมือง 12,417 เอเคอร์   แบ่งเป็นพื้นที่เนินเขา 5,625 ที่อยู่อาศัย 2,830  ที่การค้าสำนักงาน 848  ที่สำหรับอุตสาหกรรม 1,804  โรงเรียน/คุก 311สวนสาธารณะ 347  ถนนหนทาง 652 เอเคอร์ ตามลำดับ

      นับเป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่  มีผังเมืองดี  ผู้คนไม่แออัด  มีความสะดวกสบาย และมีพื้นที่สีเขียวในสัดส่วนที่ลงตัวทีเดียว

      เทศบาลเข้มแข็งและเมืองน่าอยู่แบบนี้คือเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืนครับ