ข้ามฝั่งแปซิฟิค (3) ต้นแบบระบอบประธานาธิบดี

11 มิถุนายน 2553
ภายหลังการทำสงครามปฏิวัติของชาวอเมริกันในอาณานิคม 13 แห่ง เพื่อปลดปล่อยประเทศจากอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ.1775-1783 ในที่สุดภายใต้สนธิสัญญาปารีสได้ยอมรับการมีอธิปไตยเหนือดินแดนของประเทศไหม่-สหรัฐอเมริกา
โดยมีขอบเขตดินแดนจรดแคนาดาทางทิศเหนือ, ฟลอริดาทางทิศใต้ และแม่น้ำมิสซีสซิปปี้ทางตะวันตก
รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้เมื่อ 17 กันยายน 1787 โดยเป็นประเทศแรกของโลกที่ใช้ระบอบประธานาธิบดี รัฐธรรมนูญอเมริกันนับเป็นรัฐธรรมนูญที่มีขนาดสั้นที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของโลกอีกด้วย กล่าวคือมีเพียง 7 หมวด 21 หมวด และตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี มีการแก้ไขรวม 17 ครั้ง
ระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา แบ่งอำนาจเป็น 3 ส่วน เช่นกัน คือ อำนาจนิติบัญญัติ ใช้ระบบสภาคู่(Bicameral Congress) ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) และวุฒิสภา (Senate), อำนาจบริหารนำโดย ประธานาธิบดี และอำนาจตุลาการ มีศาลสูงสุด (Supreme Court) เป็นส่วนหัว
ฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 435 คน โดยมาจากฐานเขตเลือกตั้ง (Electoral District) ในระบบวันแมนวันโหวต และสมาชิกวุฒสภา (สว.) มีจำนวน 100 คน โดยมาจากฐานมลรัฐๆละ 2 คนเท่ากันหมด ทั้ง สส. และสว. ล้วนสังกัดพรรคการเมือง, ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน (Direct Vote) และไม่มีหน้าที่ยุ่งเกี่ยวงานบริหารใดๆ (นี่คือตัวอย่างของการแยกบทบาทนิติบัญญัติและบริหารออกจากกันจริงๆ)
สส.ของอเมริกันมีวาระสั้นมาก คือ 2 ปี เท่านั้น ส่วน สว.มีวาระยาวถึง 6 ปี และที่ต่างจาก สส. คือ สว.แต่ละคนมาและไปไม่พร้อมกัน โดยในแต่ละขณะจะมี สว. 3 รุ่น ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันซึ่งแตกต่างตามระยะเวลาทำงานที่เหลือคือ 2,4 และ 6 ปี ตามลำดับ การเลือกตั้ง สว.ในระดับชาติจึงเกิดขึ้นทุก 2 ปี เพราะเหตุนี้ และผลการดำเนินงานของพรรคที่บริหารประเทศมักจะส่งผลต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งแต่ละรอบเสมอ
ในกระบวนการพิจารณากฎหมายของอเมริกันต่างจากบ้านเราแบบสวนทาง กล่าวคือ รัฐบาลต้องเสนอกฎหมายผ่าน สว.มาก่อน(Senate Bill) สุดท้ายจึงมาตัดสินที่การโหวตของ สส.ว่าเอา (YEA) หรือ ไม่เอา (NAY) เปรียบเทียบกับของเราต้องเสนอผ่าน สส.มาก่อนที่จะตัดสินสุดท้ายที่ สว.ครับ
ผมเดาเอาว่าอาจเป็นเพราะอำนาจตัดสินออกกฎหมายได้ให้ความสำคัญอยู่ที่ สส.มากแบบนี้ เขาจึงออกแบบให้ สส.มีอายุทำงานสั้นเพียง 2 ปีเท่านั้น ตรงนี้น่าคิดมาก กล่าวคือยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งไม่ควรอยู่นาน
ปัจจุบันพรรคเดโมแครต กับ รีพับลิกัน มี สว.ในสัดส่วน 258:177 และ สส.ในสัดส่วน 59: 41 จึงเรียกว่า เดโมแครตเป็นฝ่ายเสียงข้างมากทั้งสองสภา
ฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด มีรองประธานาธิบดีเป็นผู้ช่วย 1 คน คณะรัฐมนตรีของสหรัฐอเมริกามีรัฐมนตรีแค่ 15 คนเท่านั้น เขาเรียกว่าตำแหน่ง เลขาธิการ(Secretary General) นอกจากตำแหน่งข้างต้นแล้ว สำนักงานประธานาธิบดีมีตำแหน่ง ผู้อำนวยการอีก 5 และตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานอีก 1 ซึ่งเป็นทีมงานที่เล็กกระทัดรัดมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูฐกำหนดให้งานดูแลประชาชนส่วนใหญ่เป็นภารกิจของผู้ว่าการมลรัฐและนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นท้องถิ่นนั่นเอง
รัฐมนตรีแต่ละคนจะเป็นใครก็ได้ สุดแท้แต่ประธานาธิบดีจะเป็นคนเลือก ซึ่งถ้าใครติดตามการเมืองอเมริกันจะพบว่า ประธานาธิบดีแต่ละท่านจะเลือกคนอเมริกันที่ดีที่สุดสำหรับตำแหน่งนั้นมาทำงานให้กับประเทศ บ่อยครั้งก็เป็นอดีตคู่แข่งของตนก็มี เช่น บารัคโอบามา เลือกฮิลลารีคลินตัน มาเป็นรมต.ต่างประเทศ สปิริตและวัฒนธรรมทางการเมืองตรงนี้เขาแข็งแรงมาก ผิดกับเราที่ต้องเลือกจาก สส. ผู้แก่พรรษาของพรรคมาเป็นรัฐมนตรี ไม่ยังงั้นพรรคแตก
กระบวนการและขั้นตอนในการเลือกผู้นำประเทศของคนอเมริกันก็มีเสน่ห์และไม่เหมือนใคร ผมขออธิบายตามความเข้าใจของตนเองว่าเป็น 3 ขั้น 2 ระบบ
ขั้นที่ 1 เรียกว่า Caucuses เป็นขั้นตอนที่สมาชิกพรรคแต่ละสาขาจะมารวมตัวกัน เพื่อเสนอชื่อและมีการแข่งขันกันขึ้นมาตามระดับชั้น ระหว่างนี้ผู้ถูกเสนอชื่อจะดูความพร้อมของตนเองและความนิยมของสมาชิกโดยผ่านโพลต่างๆ บ้างก็ถอนตัวออกไป ที่เหลือจะเข้าสู่ขั้นที่ 2 กลุ่มนี้เรียกว่า Primary Candidates ของพรรค
ขั้นที่ 2 เรียกว่า Primary Election ซึ่งเป็นการแข่งขันกันภายในพรรคของ primary candidates เพื่อจะขอเป็นตัวแทนพรรคไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในช่วงนี้ผู้มีสิทธิโหวตคือสมาชิกพรรคนั้นๆ ที่ได้รับการเลือกสรรและขึ้นทะเบียนไว้ก่อนแล้วในจำนวนที่แน่นอน การโหวตกระทำกันเป็นมลรัฐๆ ไป โดยสะสมคะแนนมาเรื่อยๆ บางคนก็ถอดใจหลีกทางให้เพราะดูโพลแล้วเห็นทีจะไปไม่ไหว และเวทีสุดท้ายที่เป็นนัดชี้ขาดเขาเรียกว่า Convention ตรงนี้จะรู้ว่าใครคือตัวแทนของพรรคเพียงคนเดียวที่จะไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (Presidential Candidate)
ขั้นที่ 3 เรียกว่า General Election เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างผู้สมัครซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละพรรค การแข่งขันจะเป็นงานที่ใหญ่มาก มีการหาเสียงอย่างเป็นระบบและมีกลยุทธ การลงคะแนนเลือกตั้งแบ่งเป็น 2 ระบบ ซึ่งทำคู่ขนานกันไป
ระบบ Popular Vote ผู้โหวตคือ ประชาชนอเมริกันที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน เป็นการลงคะแนนโดยตรงจึงสะท้อนความนิยมของประชาชน ซึ่งตัวอย่างครั้งล่าสุด โอบามาได้คะแนน 69.45 ล้านเสียง (52.9%) ส่วนคลินตันได้ 59.93 ล้านเสียง (45.7%)
ระบบ Electoral Vote เป็นการลงคะแนนทางอ้อม ผู้มีสิทธิลงคะแนนเขาเรียกว่า Electoral College ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นตัวแทนจาก 50 มลรัฐ และ District of Columbia ซึ่งมีจำนวนรวม 538 คน การโหวตดำเนินการเป็นรายมลรัฐและแพ้/ชนะเขาจะนับกันเป็นรายมลรัฐไป ครั้งล่าสุดโอบามาชนะ 28 มลรัฐ และที่ DC กับ NE-02 รวมเป็น 30 พื้นที่ ส่วนคลินตันชนะใน 22 มลรัฐ
กรณีของ โอบามา-คลินตัน ชัดเจนทั้ง 2 ระบบว่า โอบามาชนะ จึงไม่มีปัญหา
แต่ในกรณีที่ก้ำกึ่ง หรือผล 2 ระบบออกมาต่างกัน เขาจะถือเอา Electoral Vote เป็นใหญ่
ตัวอย่างที่ฮือฮาและอื้อฉาวมากคือการเลือกตั้งปี 2000 ระหว่าง บุช กับ อัลกอร์ ซึ่งในระบบ Popular Vote อัลกอร์ชนะหวุดหวิด ได้ 50.99 ล้านเสียง (48.4%) ขณะที่บุชได้ 50.45 ล้านเสียง(47.96%) แต่ในระบบ Electoral Vote บุชเป็นฝ่ายชนะ 271:266 หรือ ชนะใน 30 มลรัฐ ขณะที่แพ้ใน 20 มลรัฐและที่ DC บุชจึงได้เป็นประธานาธิบดี
ที่ว่าอื้อฉาวก็คือ มีปัญหาการนับคะแนน Electoral Vote ที่รัฐฟลอริดา ซึ่งน้องชายของบุชเป็นผู้ว่าการ และเกิดการนับคะแนนผิดพลาดและไม่โปร่งใสจนต้องมีการนับใหม่ นับเป็นเรื่องนินทากันจนถึงวันนี้ทีเดียวครับ