นางชุติมา บุณยประภัศร ที่ปรึกษาการพานิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวงพานิชย์ ชี้แจงถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำเอฟทีเอว่า เราต้องเปิดการค้าเสรีกับนานาประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคง และความได้เปรียบทางการค้า-การส่งออก-การลงทุนกับต่างประเทศ เพราะการเจรจาเปิดการค้าเสรี ผ่านเวทีพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) นั้นมีความยากลำบากมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การค้าเสรีในทุกวันนี้ได้ตกเป็นเป้าโจมตีว่า ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสินค้าเกษตรกรรม ชาวไร่ ชาวนา และคุณภาพชีวิตของคนโดยทั่วไป แต่ก็อยากให้มองการค้าเสรีเป็นเรื่องของการได้บ้าง-เสียบ้าง เพราะคงไม่มีประเทศคู่เจรจาไหน ที่ได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความพร้อม และการปรับตัวของเรามากกว่า
“การเปิดเสรีการค้าของไทยยึดหลักที่จะทำกับตลาดหลักของเราก่อน เพราะหากประเทศคู่ค้าหลักได้ไปเปิดการค้ากับประเทศคู่แข่งของเราอื่น ๆ เราก็เสียประโยชน์มากกว่าที่จะเปิดเสรีกับเขาเสียอีก นอกจากนี้ก่อนที่จะทำก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นผลกระทบที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่รับรู้ล่วงหน้า และได้เตรียมการให้มีผู้ได้รับผลกระทบต่างปรับตัวแล้ว” ที่ปรึกษาการพานิชย์ กล่าวอย่างหนักแน่น
ด้านนายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ช่วยต่อเติมภาพของการค้าเสรีว่า การเจรจากับทุกประเทศรวมถึงอเมริกานั้นได้ดำเนินไปตามกรอบของ สำนักงานยุทธศาตร์การค้าระหว่างประเทศ กำหนดไว้ คือ คำนึงถึงหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลกัน โดยคำนึงถึงสถานะ อย่างไรเราก็ต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานทั้งสินค้าทางการเกษตร และอุตสาหกรรม
นอกจากนี้การเจรจาก็ควรได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ตนยอมรับว่าการเจรจาทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะน้อย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการทำความเข้าใจขอบเขตการเจรจาระหว่างกันอยู่ การเจรจารอบต่อไปที่จะเกิดขึ้นในต้นปี พ.ศ.2549 นั้น ก็เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงนำเสนอข้อมูลกับประชาชน และสมาชิกสภาให้มากกว่าที่ผ่านมา
“เราต้องปรับตัวให้พร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้เต็มที่ เพราะนี่คือประตูสู่โอกาสการค้ากับสหรัฐ ขณะเดียวกันก็อาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับเราเอง เพื่อเปิดทางให้การเจรจาทำได้ง่ายขึ้น”
ส่วนข้อมูลของกรมการค้าระหว่างประเทศก็สนับสนุนว่า การเปิดการค้าเสรีจะช่วยลดภาษีขาเข้า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนทางอ้อม ทั้งการลดภาษีนำเข้ายังช่วยกดดันให้ราคาสินค้าชนิดเดียวกัน หรือสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ที่ผลิตในประเทศลดราคาลงตาม นอกจากนี้ การลดภาษีศุลกากรยังทำให้มีการนำเข้าสินค้าชนิดใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อน เพราะเจอกำแพงภาษีในอดีต
|