ใต้กระแส : ชีวิตสาธารณะกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI) และเครือข่ายพันธมิตรได้จัดการสัมมนาเวทีวิชาการประชาสังคมเรื่อง “ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย: ความท้าทายของยุคสมัย” และได้ให้โอกาสแก่ผมไปร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ผมจึงขออนุญาตนำเอาประเด็นร่วมของสิ่งที่คิดไว้นี้มาสู่สาธารณะครับ..
อรรถจักร สัตยานุรักษ์ | |||||||||||||
18 พฤศจิกายน 2549 | |||||||||||||
|
|||||||||||||
|
|||||||||||||
กิจกรรมร่วมกันของเมืองที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นบนจุดประสงค์ของการทำให้เป็นสินค้าทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมของชุมชนท้องถิ่นที่ถูกนำมาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมของเขตเมืองหรือสินค้าประจำจังหวัด จึงไม่น่าแปลกใจที่พิธีกรรมสำคัญๆของชุมชนท้องถิ่น เช่น งานลอยกระทง งานสงกรานต์ ถูกหน่วยราชการและกลุ่มธุรกิจดึงมาจัดแบบรวมศูนย์ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ในเขตจังหวัดของตน และโฆษณาเพื่อขายแก่ตลาดนักท่องเที่ยว โดยไม่มี “ชีวิตสาธารณะ” ของคนในชุมชนหรือท้องถิ่นเหลืออยู่ในพิธีกรรมเหล่านั้นอีกต่อไป จนท้ายที่สุดแล้วงานลอยกระทงก็กลายเป็นการลอยกระทงและโคมลอยส่วนตัว ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับชุมชนและท้องถิ่น และเริ่มกลายเป็นงานสงครามประทัดและดอกไม้ไฟ ส่วนงานสงกรานต์ก็เป็นเพียงการทำสงครามน้ำกันเพื่อความสะใจส่วนตัวเท่านั้นมิพักต้องพูดถึงงานผีตาโขน งานดอกฝ้ายบาน ฯลฯ ที่มุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยควรจะท้อถอย เพราะทุกอย่างก็พังพินาศไปหมดสิ้นแล้ว เราย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า คนทุกกลุ่มทุกสังคมย่อมต้องการพลังจาก “ชีวิตสาธารณะ” และต้องการ ” อัตลักษณ์ท้องถิ่น” อยู่ ไม่มีสังคมใดที่จะมั่นคงได้โดยมีแต่หน่วยปัจเจกชนดำรงอยู่โดยปราศจากสายสัมพันธ์ทางสังคม เพียงแต่มีความจำเป็นที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนความหมายของ “ชีวิตสาธารณะ” และ “อัตลักษณ์ท้องถิ่น” ให้ชัดเจน เพื่อที่เราจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์และถักทอสายสัมพันธ์ทางสังคมขึ้นมาใหม่ อันจะทำให้เราทั้งหลายมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายในโลกปัจจุบัน และสามารถที่จะใช้พลังที่เกิดขึ้นนี้ ในการแก้ปัญหาของสังคมที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น การเลือกใช้”ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เป็นสายใยร้อยรัดผู้คนให้มีโอกาสหวนกลับมานั่งนึกถึงอดีตที่ผ่านมาของตนเอง ตลอดจนโคตรเหง้าเหล่ากอที่เป็นบรรพบุรุษของตนเอง ว่าเคยดำรงชีวิตอยู่อย่างสัมพันธ์กับ “ชีวิตสาธารณะ” อย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง การรื้อฟื้น”ชีวิตสาธารณะ” และสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นทำได้ด้วยการรื้อฟื้นความทรงจำร่วมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบอกแก่คนทุกคนในชุมชนท้องถิ่นว่า ทุกคนมีอดีตร่วมกัน ซึ่งหมายถึงมีปัจจุบันและอนาคตร่วมกันด้วย และด้วยพลังของคนทุกคนเท่านั้นที่จะสร้าง “ความทรงจำร่วม” เกี่ยวกับอดีต และสร้างปัจจุบันกับอนาคตที่ดีกว่าร่วมกันได้ ด้วยสำนึกผูกพันกับท้องถิ่นหรือ “ชีวิตสาธารณะ” เช่นนี้ ก็จะไม่มีใครอีกแล้ว ที่นิ่งเฉยต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ทุกคนจะแสดงตนออกมาปฏิเสธ “ความไม่ถูกต้อง” ที่จะเกิดแก่บ้านของตน และนับวันกระบวนการสร้างความซับซ้อนของชีวิตสาธารณะก็จะดำเนินไปอย่างเข้มข้นขึ้น |
|||||||||||||
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ หน้า 8 ฉบับวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2549 |