หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของศิลปิน
ศิลปะที่แท้ควรเป็นเช่นไร ? คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวตลอดหลายวันที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น คำถามต่อตัวศิลปินเองว่า…จะสร้างสรรค์งานเพื่อเป้าหมายใด ? และเพื่อใคร ?
หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของศิลปิน
โดย : พิสิษฐ์ แซ่เบ๊ เมื่อ : 14/02/2005 |
|||||||||
ศิลปะที่แท้ควรเป็นเช่นไร ? คำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวตลอดหลายวันที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น คำถามต่อตัวศิลปินเองว่า…จะสร้างสรรค์งานเพื่อเป้าหมายใด ? และเพื่อใคร ? ยิ่งเป็นคำถามหนักอึ้งสำหรับคนไม่มีความรู้เรื่องงานศิลปะอย่างผมจะขบแตกได้เพียงข้ามคืน จะเป็นเรื่องเกินเลยความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่านไปหรือไม่หากเชื้อชวนให้ช่วยกันขบคิดและมองเข้าไปในแวดวงศิลปะบ้านเรา กระนั้นเอง ผมคงไม่อาจหาญประเมินคุณค่างานศิลปะของศิลปินท่านใด แต่เป็นเพียงทัศนะหนึ่งต่องานศิลปะและคนทำงานศิลปะ ซึ่งผมเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย ปรากฏการณ์ที่พบเห็นตามสถานที่แสดงงานศิลปะบ้านเราวันนี้ คือ ห้องแสดงงานที่ว่างเปล่าไร้ผู้คน ขนาดศิลปินที่มาจัดแสดงงานจะมีชื่อเสียงเลื่องลืออย่างประเทือง เอมเจริญ ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ใหญ่อีกคนในแวดวงศิลปะ หรือศิลปินใหญ่นามอุโฆษอย่างถวัลย์ ดัชนี และ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์เองก็ตาม หาคนที่สนใจมาดูงานศิลปะน้อยมาก จะมีคนคึกคักอยู่บ้างก็แต่ช่วงเปิดงานวันแรก ซึ่งมองๆ ดูแล้วก็เป็นเพื่อสนิทมิตรสหาย ที่รู้จักมักคุ้นกันในวงการแทบทั้งนั้น น้อยมากที่จะเห็นคนแปลกหน้าแทรกกายเข้ามาชมงานศิลปะ ถามว่าปรากฏการณ์ลักษณะนี้เป็นผลมาจากอะไร อาจตอบแบบไม่สนใจใคร่รู้ว่า ขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง สำหรับผมคิดว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ถึงแม้จะทุ่มงบทำประชาสัมพันธ์ให้ถ้วนทั่วหัวระแหง ผลที่ออกมาคงไม่แตกต่างกันมากมายกับที่เป็นอยู่ หลายคนพูดในทำนองหมิ่นแคลนว่า คนบ้านเรานั้นโง่ เข้าไม่ถึงงานศิลปะ ไม่เข้าใจความพริ้งเพริดในสุนทรียะ ทำให้วงการศิลปะบ้านเราไม่ก้าวหน้า แต่ในทางกลับกันจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าตัวศิลปินเองนั้นมุ่งเสนองานด้วยเทคนิควิธีที่ซับซ้อน เฟ้นหาสัญลักษณ์ รูปแบบที่ยากแก่การตีความ ทำให้ผู้คนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้มาโดยตรงไม่สามารถเข้าใจได้ |
|||||||||
|
|||||||||
บทบาทของศิลปินผู้ผลิตงานศิลปะว่าควรมีหน้าที่อย่างไร ผมค่อนข้างจะสงสัย หากจะย้อนไปในอดีตศิลปินผู้ทำงานศิลปะจะมีอยู่ในแวดวงจำกัด หน้าที่ของศิลปินคือการรับใช้ราชสำนักหรือวัดวาอาราม ผลิตงานศิลปะแนวประเพณี จนมีโรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ.2546 โรงเรียนศิลปากรแผนกช่างปี 2567 กระทั่งตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นปีพ.ศ.2488 แต่บุคคลากรในช่วงที่แรกที่จบออกมา ส่วนใหญ่ก็ทำงานให้กับราชการเป็นด้านหลัก ผลงานจึงไม่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สภาพการเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านหนึ่งงานวรรณกรรมดูจะมีบทบาทโดดเด่นกว่างานศิลปะด้านอื่น ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา บ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหาซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติ รัฐประหารแก่งแย่งอำนาจกันเอง งานวรรณกรรมเป็นหัวหอกสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมยุคนั้น ก่อนที่งานศิลปะด้านอื่นจะขยับเข้ามาร่วมเป็นแนวรบทางวัฒนธรรม แล้วก่อเกิดเป็นศิลปะเพื่อชีวิตขึ้น แนวคิดผมดูจะโน้มเอียงไปในทางที่ว่า การทำงานศิลปะนั้นควรมีเป้าหมายเพื่อรับใช้ประชาชนทุกระดับ ไม่ใช่งานศิลปะที่มุ่งเฉพาะกลุ่ม หรือเน้นเรื่องการค้า ศิลปินควรมีบทบาทเป็นผู้ให้สติปัญญาที่ถูกต้องแก่สังคมโดยสภาวการณ์ทางสังคมจะเป็นตัวบ่มเพาะจิตสำนึกให้คนทำงานศิลปะ ในเมื่อสภาพสังคมที่ต้องทนทุกข์กับการกดขี่ข่มเหง การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ ศิลปินผู้ทำงานศิลปะควรมีหน้าที่สะท้อน ความเป็นจริงของสังคมให้ประชาชนได้รับรู้ ตลอดจนชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาพร้อมนำเสนอทางออกที่เป็นไปได้ตามวิถีทางของศิลปะ ผมเชื่อว่าศิลปินเกิดมาพร้อมกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ นี่ต่างหากคือศิลปะที่ทรงคุณค่าในทัศนะผม แม้งานนั้นจะไม่ได้ประณีตวิจิตรก็ตาม ผมมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องนี้กับ คุณเนาว์รัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านสะท้อนความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า ……เวลาที่คุณทำงานศิลปะคุณต้องทำงานศิลปะเพื่อศิลปะให้ได้เสียก่อน หมายความว่า เมื่อมนุษย์รู้สึกต่อเรื่องราวที่เข้ามากระทบจิตใจ จนเกิดแรงบันดาลใจและสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นงานศิลปะให้คนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ นั่นคือ ศิลปะเพื่อศิลปะ แต่สุดท้ายเป้าหมายสูงสุด ของศิลปิน ก็คือ ต้องทำให้มันนำไปสู่การทำงานศิลปะเพื่อชีวิตเพราะศิลปะเพื่อศิลปะเป็นเพียงแค่รูปแบบวิธีการ ที่หยิบขึ้นมารับใช้เป้าหมาย เนื้อหาของงานศิลปะจะต้องเป็นศิลปะเพื่อชีวิต ต้องรับใช้คนส่วนใหญ่ การประเมินคุณค่างานศิลปะจึงอยู่ที่จุดนี้……. ……ศิลปินต้องต้องสำนึกอยู่เสมอว่า การทำงานศิลปะเพื่อธุรกิจนั้นเป็นเพียงผลพลอยได้ อย่ายึดถือเป็นเป้าหมาย ศิลปินจะต้องมีบทบาทต่อสังคม ผมอยากให้ศิลปินใช้หลัก 4 อย่า 5 ต้อง ในการทำงานศิลปะ 4 อย่า คือ…..1 อย่าตกยุค 2 อย่าล้ำยุค 3 อย่าหลงยุค และ 4 อย่าประจบยุค นี่คือ 4 อย่า ส่วนเรื่อง 5 ต้องของศิลปินคือ 1 ต้องทันยุค 2 ต้องเป็นปากเสียงให้แก่ผู้เสียเปรียบ 3 ต้องตัดทัศนะปัจเจก เห็นเรื่องส่วนรวมสำคัญกว่าส่วนตัว 4 ต้องมีจิตสำนึกทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้สำคัญ และ 5 ต้องทำงานอย่างราชสีห์ คือ ไม่ใยดีต่อมงกุฎที่สวมครอบ…….. วันนี้ ศิลปินบางคนก็เป็นเหยื่อของสังคม แทนที่ศิลปินจะเป็นผู้ดูแลความรู้สึกของสังคม คือ หากใครหลงใหลไปกับสังคม ศิลปินต้องมีหน้าที่ช่วยเขาเหล่านั้น แต่วันนี้ศิลปินเองกลับถูกกำหนดความรู้สึกนึกคิด กลายเป็นเหยื่อในสังคมบริโภค เหยื่อโฆษณา อยู่ภายใต้อิทธิพลต่างชาติเสียเอง… สิ่งที่คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พูดเอาไว้เปรียบเสมือนสำนึกอันยิ่งใหญ่ ที่ศิลปินพึงมีต่อส่วนรวม แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่กลับสวนทาง ผมเห็นศิลปินที่ทำงานศิลปะเพื่อชีวิตนับวันยิ่งลดน้อยถอยลงไป เนื่องจาก สภาวะการณ์ปัจจุบันมีความละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าอดีต เป็นยุคแห่งการแข่งขัน เอาตัวรอดจากปลาใหญ่ที่คอยจ้องกินปลาน้อยตลอดเวลา ผู้คนยึดถือคติว่ามือใครยาวกว่าก็สาวได้สาวเอา ดิ้นรนให้อยู่รอดในเมืองใหญ่ความสนใจอยู่ในวงแคบ ไม่ต้องการเอาเรื่องคนอื่นมาเป็นธุระของตัว ขาดการวิเคราะห์วิพากษ์ให้เห็นถึงความฟอนแฟะในสังคมเพราะรายละเอียดปัญหาซ้อนทับโยงใย ศิลปินเอง ก็ติดกับดักกระแสบริโภคนิยมที่ยากจะต้านทาน จึงหันหลังเดินทางเข้าถ้ำเพื่อเสพสุขในโลกส่วนตัวอันคับแคบ ผลิตงานศิลปะเพื่อหม้อข้าวตัวเอง และตอบสนองอารมณ์ปัจเจกแห่งตน แถมยังสร้างเกราะป้องกันตัวเอง โดยพยายามสร้างภาพลักษณ์งานศิลปะที่ตัวเองรังสรรค์ว่าเป็นสุนทรียะ ระดับสูงผิดจากนี้ถือเป็น ความอ่อนด้อยไร้ชั้นเชิง ที่อยู่ที่ยืนของคนทำงานศิลปะเพื่อชีวิตจึงน้อยลงทุกที พอจะมีอยู่บ้างก็ต้องเผชิญกับความเป็นจริงเรื่องปากท้อง เพราะงานแนวนี้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง ในสังคมซึ่งอาจมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรง ขาดความละเมียดละไม เนื่องจากต้องการให้ผู้เสพงานเข้าถึงโดยง่าย ศิลปินจึงสื่อสารออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่คนในสังคมเองกลับยอมรับไม่ได้ที่จะถูกเปิดเปลือยด้านมืดของจิตใจ เลือกเสพเฉพาะด้านสวยงามอันวิจิตรบรรจงตัวศิลปินที่ทำงานแนวเพื่อชีวิตหลายต่อหลายคน ก็เริ่มผ่อนปรนตัวเอง เพราะยืนขวางกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากไม่ไหว หันไปทำงานตามกระแส จนที่อยู่ที่ยืนตีบแคบลงทุกขณะ เมื่อศิลปินไม่ได้ยึดโยงกับสภาพการทางสังคม เนื้อหาเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาจึงเป็นงานลักษณะปัจเจกนิยม แต่งแต้มด้วยจินตนาการส่วนตัว ใช้รูปแบบเทคนิคในการถ่ายทอดที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของศิลปินนั้นๆ ยิ่งทำให้งานศิลปะในสายตาของประชาชนกลายเป็นของสูงและเข้าถึงยากยิ่งขึ้น ศิลปะสมัยใหม่จึงยิ่งห่างออกไปวิถีชีวิตของคนทั่วไป กลายเป็นเรื่องเฉพาะของคนในกลุ่มเล็กๆ สำหรับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งๆ ที่ศิลปะควรจะเป็นเรื่องของสาธารณะ เป็นสิ่งที่ชี้นำสติปัญญา สะท้อนทั้งด้านบวกและลบให้สังคมได้เห็นในวงกว้าง ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่การจัดงานศิลปะแต่ละครั้งจึงหาคนสนใจน้อยเต็มที |
|||||||||
|
|||||||||
ที่มา : www.thainog.org |