ศ.เสน่ห์ จามริก ชี้ดับไฟใต้ ต้องเข้าใจเรื่อง “สิทธิอธิปไตยชาติ”

การแก้ไขปัญหา ต้องการร่วมกันขบคิดในระดับรากหญ้าอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต้องมีการทบทวน และนิยาม “สิทธิอธิปไตยชาติ” กันใหม่ จากเดิมที่เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ของรัฐ แต่เมื่อปัจจุบันมันกำลังคุกคามสมาชิกในชาติ เราจะประสานความมั่นคงของชาติกับสิทธิของประชาชนกันอย่างไร? จึงจะนำไปสู่ความสมานฉันท์สันติสุขที่ดีขึ้น

เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์ และสันติสุข: เรียนรู้และเข้าใจ วิกฤติไฟใต้
สู่การจัดการปัญหาท้องถิ่นด้วยสันติวิธี (ครั้งที่ 7: กลุ่มจังหวัดภาคกลาง-ตะวันออก)

ศ.เสน่ห์ จามริก ชี้ดับไฟใต้ ต้องเข้าใจเรื่อง “สิทธิอธิปไตยชาติ”
26 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี ศ. เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง จากวิกฤตไฟใต้…สู่การเรียนรู้เพื่อสังคมไทยสันติสุข ในเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมสมานฉันท์และสันติสุข : เรียนรู้และเข้าใจวิกฤติไฟใต้ สู่การจัดการปัญหาท้องถิ่นด้วยสันติวิธี ที่เครือข่ายประชาคมจังหวัดภาคกลาง ตะวันออก ร่วมกับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีพันธมิตร จัดขึ้น
ศ.เสน่ห์ ชี้ว่า วิกฤตไฟใต้เป็นภาพสะท้อนวิกฤตของชุมชนท้องถิ่นไทย ที่กำลังถูกกระแสของชาตินิยมเผด็จการทหารและโลกจักรวรรดินิยมทุนอุตสาหกรรม ที่ผูกขาด ครอบครองทั้งทางธุรกิจ เบียดบังทรัพยากรและอำนาจในการครอบครองทรัพยากร โดยผ่านเทคโนโลยี ข่าวสารข้อมูล เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งกระทบต่ออัตลักษณ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของคนในท้องถิ่น ปัญหาความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น และการแบ่งแยกดินแดนก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากปัญหาพื้นฐานเหล่านี้
การแก้ไขปัญหา จึงต้องการร่วมกันขบคิดในระดับรากหญ้าอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต้องมีการทบทวนและนิยาม “สิทธิอธิปไตยชาติ” กันใหม่ จากเดิมที่เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ ของรัฐ แต่เมื่อปัจจุบันมันกำลังคุกคามสมาชิกในชาติ เราจะประสานความมั่นคงของชาติกับสิทธิของประชาชนกันอย่างไร? จึงจะนำไปสู่ความสมานฉันท์สันติสุขที่ดีขึ้น
อ.พิชัย รัตนพล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และ คณะกรรมการอิสระเพื่อสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวในเวทีเดียวกันนี้ว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นวิกฤติที่สังคมไทยมองข้ามอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน ขาดความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนในพื้นที่ ซึ่งสันติสุขจะต้องอยู่บนฐานของความแตกต่าง ความหลากหลาย เคารพความเป็นตัวตน ทั้งในมิติวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
การแก้ไขปัญหา ต้องไม่มองว่า การเรียกร้องการแสดงออกของอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น กรณีภาคใต้นี้เป็นปัญหาความมั่นคง หรือเป็นอาชญากรรม แต่เป็นสิทธิที่เขาจะสามารถแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของตนเองเช่นเดียวกับคนพื้นที่อื่นๆ ที่สังคมต้องให้เกียรติ ให้คุณค่า ให้ความเข้าใจ และให้เคารพซึ่งกันและกัน
เราต้องให้ความหมายความมั่นคงของชาติกันใหม่ ในอดีตด้วยสถานการณ์ต่างๆ เราอาจจะให้ความหมายความมั่นคงของชาติว่า เป็นการมีรั้วบ้านที่แข็งแรงได้ แต่ปัจจุบัน ความมั่นคงของชาติ ต้องหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขขนความหลากหลายของแผ่นดิน
 
องค์กรร่วมจัด
คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา/คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)/สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม/ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล/เครือข่ายสมานฉันท์ และสันติวิธี ศูนย์สนับสนุนฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศพต.)/เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด 13 จังหวัดภาคกลาง ตะวันนอก/สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา/มูนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ/สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)