วิถีสุขที่ยั่งยืนของคนกาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ ผืนดินเก่าแก่แห่งแดนอีสาน ที่มีมรดกทางความเชื่อ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ตกทอดมาอย่างยาวนาน แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคนกาฬสินธุ์ในวันนี้ กำลังจะทำให้คุณค่าดั้งเดิมจางหาย…
|
กาฬสินธุ์ ผืนดินเก่าแก่แห่งแดนอีสาน ที่มีมรดกทางความเชื่อ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ ตกทอดมาอย่างยาวนาน แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของคนกาฬสินธุ์ในวันนี้ กำลังจะทำให้คุณค่าดั้งเดิมจางหาย หากจะรักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่ จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญในการทำงานของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านกลางหมื่น เป็นหมู่บ้านที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อท้าวโสมพะมิตร(เชคสะกดกับไฟล์บท) อพยพมาจากนครเวียงจันทร์ มาสร้างชุมชนแห่งนี้ ก่อนอพยพไพร่พลไปอยู่บริเวณริมแม่น้ำปาว ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน ที่บ้านกลางหมื่นแห่งนี้ ยังเป็นชุมชนที่เคยรุ่งเรืองมาทั้งด้านประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรม มีองค์พระเจ้าใหญ่หรือหลวงปู่ เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจที่ยังคงทำให้คนในชุมชนรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่นไว้ได้ ปู่บุญสิน โยธาคึก ผู้อาวุโส บ้านกลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์“แต่ก่อนวัดนี้มาตั้งขึ้น ตั้งพระเจ้าใหญ่ไว้ที่นี่ ใครจะมารบกวนอะไรไม่ได้ ไม้ในเขตนี้ก็แตะต้องไม่ได้ เพราะแต่ก่อน ที่นี่เป็นป่าไม้ และตอนนี้ป่าไม้ก็ยังคงอยู่” |

|

|
อาชีพทำนา
|
ปลูกมันสัมปะหลัง
|
|
ในขณะที่หลายพื้นที่ มีปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน รองรับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เน้นปริมาณของผลผลิต แต่ความโชคดีของคนที่นี่ คือ ความเชื่อที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษยังฝังแน่นอยู่ในจิตใจ ดอนปู่ตาผู้รักษาป่าชุมชนยังคงศักดิ์สิทธิ์ สภาพป่าของหมู่บ้านจึงยังคงอุดมสมบูรณ์ ต้นยางใหญ่ พันธุ์ไม้พื้นเมือง แหล่งน้ำ แหล่งอาหารยังไม่ถูกทำลาย นอกจากจะยังคงผูกพันกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว คนกลางหมื่นยังมีความรักและความห่วงใยต่อกัน โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพกายที่ปลอดภัย และสุขภาพใจที่เป็นสุข ประสงค์ ภูตองโขบ ประธานหมู่บ้าน บ้านกลางหมื่น คือผู้ที่นำคนในชุมชน มาร่วมกันผลิตอาหารปลอดสารพิษสำหรับชุมชน |
|

|
|
ประสงค์ ภูตองโขบ ประธานหมู่บ้าน บ้านกลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
“เดี๋ยวนี้ประชาชนแต่ละหมู่บ้าน แต่ละครอบครัวเราไปซื้อผักตลาดมากิน ล้วนแต่มีสารพิษตกค้างทั้งนั้น พวกผมเลยคิดว่า เรามองเห็นความสำคัญของราษฎรในท้องถิ่น อยากให้กินผักปลอดสารพิษไม่ให้มีพิษต่อร่างกาย จะได้มีสุขภาพแข็งแรงอายุยืน การมาทำงานร่วมกัน ผมปรึกษากับลูกกลุ่มว่า ในช่วง 1 สัปดาห์ แบ่งงานกันทำ แต่พอถึงวันเสาร์ให้มาร่วมกัน เพราะสนุกดี จะมีความสุข ได้มาคุยกัน มองเห็นความสำคัญว่า มีอะไรขาดทุน อะไรได้ หรือเราจะปลูกอะไรบ้าง ความสามัคคีก็จะเกิด” |
|
|
|

|
|
ถาวร ผลถวิล คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .กาฬสินธุ์
“เราใช้โครงการนี้มาเป็นเครื่องมือให้เขาได้มองย้อนไปหาความสุขที่เขาเคยมี ที่มันหายไปเมื่อเกิดแผนพัฒนา ก็เลยใช้เครื่องมือตัวนี้ในการค้นหา ให้เขาได้ค้นหาตัวเองว่าที่ผ่านมา ที่เคยมีความสุข เมื่อเขาค้นหาเจอแล้ว เขาก็จะฟื้นฟูขึ้นและเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราก็จะต้องพัฒนาต่อโดยการมุ่งให้มันเกิดความยั่งยืนด้วยการใช้กระบวนมีส่วนร่วมเป็นหลัก |
ให้ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญ ตระหนัก มันก็จะเกิดความยั่งยืนแล้วก็เกิดความต่อเนื่อง ที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า ชาวบ้านจะร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้นนะครับ ไม่ต่างคนต่างอยู่เหมือนเดิม ความเปลี่ยนแปลง คือ เขาใส่ใจชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น เขาเห็นความสำคัญว่าถ้าท้องถิ่นอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ครอบครัวเขาก็จะมีความสุขด้วย เริ่มมองเห็นทางว่าทุกส่วนนี่มันไม่ได้เกิดเฉพาะกับตัวเอง ชุมชนก็มีส่วน นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น” |
เพื่อให้ “บ้านกลางหมื่น” เป็นหมู่บ้านต้นแบบ “ท้องถิ่นน่าอยู่” และเป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขณะนี้ชาวบ้านได้ร่วมลงเงิน ลงแรง สร้างโรงสีชุมชนขึ้นมา และกำลังจะใช้งานได้ในเวลาอันใกล้ ซึ่งจะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่ง ที่แสดงให้เห็นพลังของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
อีกมุมหนึ่งของเมืองกาฬสินธุ์ ที่อำเภอกุฉินารายณ์ ชาวบ้านในชุมชนมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมหลายกลุ่ม โดยมีวิทยุชุมชนคนกุฉินารายณ์ เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม และส่งสารสู่ชุมชน สมาน ขจรฤทธิ์ ประธานเครือข่ายสมุนไพรบอนเขียว ตำบลนาขาม เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดอนุรักษ์ป่าชุมชน เพราะเป็นแหล่งอากาศ แหล่งอาหาร และแหล่งสมุนไพรผืนสุดท้าย โดยพยายามทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของป่า ผสานกับความเชื่อแบบดั้งเดิมของชุมชน |
|
สมาน ขจรฤทธิ์ ประธานเครือข่ายสมุนไพรบอนเขียว ต.นาขาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
“ถ้าเราศึกษาไปลึกๆ ก็คือ เป็นรัฐธรรมนูญของคนสมัยก่อน เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชุมชน เมื่อตอนเด็กๆจะท้ากันว่าถ้าใครโกหกให้โดนปู่หักคอ และก็ปลูกฝังกันมา ความเชื่อเป็นสิ่งสำคัญ ผู้เฒ่าผู้แก่เขียนตำราว่า ถ้าจะอยู่ให้เตรียมดิน ถ้าจะกินให้เตรียมอาหาร ถ้าจะพัฒนาลูกหลานให้เตรียมพลเตรียมไพร่ ใครจะทำงานใหญ่ให้ดูหน้าดูหลัง ความเชื่อที่มีอยู่ เป็นสิ่งดีที่สุด |
 |
|
ต่อมาก็เกิดความรักหวงแหนป่า คือคนจนกับธรรมชาติมันเชื่อมเข้าหากัน เพราะที่นี่กลายเป็นธนาคารอาหารธรรมชาติ โดยเกิดขึ้นเอง คือฤดูกาลของแหล่งอาหารตามธรรมชาติ มันมีอยู่คือ เดือนหนึ่งเดือนสองเขาจะกินไข่มดแดง เดือนสามเดือนสี่กินแมงกีนูน จักจั่น เดือนห้าเดือนหกกินหน่อไม้แล้วก็เห็ดและผลไม้ป่าต่างๆ เดือนแปดเดือนเก้ากินผลไม้ตามฤดูกาล โดยที่ปลอดสารพิษ ชุมชนก็เลยเข้าใจว่า ป่าคือส่วนรวมของในเขตตำบล ประมาณอีกสัก 100 ปี ป่าป่านี้จะมีลูกหลานเรา ที่เรียนสูงๆ กลับมาผลิต ยาสมุนไพรดีๆ อาจจะให้ชาวโลกได้ใช้ด้วยก็เป็นไป นี่คือความคิดของชาวบ้านที่รักษาป่าแห่งนี้” |
ที่ บ้านเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ เป็นชุมชนชาวภูไท ที่ยังรักษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทั้งภาษาถิ่น การแต่งกาย ศิลปหัตถกรรม ยิ่งไปกว่านั้น ชาวเหล่าใหญ่ยังนำงานหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มาสร้างให้กลุ่มเข้มแข็ง และสร้างรายได้แก่ชุมชนด้วย |
กอง แสบงบาล ประธานเครือข่ายทอผ้าพื้นเมือง ต .เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
“ผู้หญิงน่ะ เป็นเชื้อสายชาวภูไท เมื่อโตขึ้นจะต้องหัดทอผ้าหมดทุกคน ทอผ้าเป็นหมดก่อนแต่งงาน แต่ก่อนมันไม่ได้เรียนหนังสือ ผู้หญิงจะต้องหัดทอผ้า มันเป็นของโบราณที่เราน่าจะอนุรักษ์ของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ให้ไว้ แล้วก็บ้านเราก็นำมาแปลงให้เป็นเงิน และก็ด้วยความจำเป็น เพราะว่าเราทำแล้วก็ขาย แล้วได้เงิน เป็นการสร้างรายได้ เรามีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์นี้ ทำแล้วก็ขายดี” |
|
 |
|
ด้วยความเป็นสังคมเล็กๆ คนเหล่าใหญ่ จึงรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น มีความเอื้อเฟื้อและแบ่งปันกัน ทั้งในด้านความรู้และสิ่งของ เป็นผลให้การดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายผ้าพื้นเมืองเหล่าใหญ่ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
|
 |
|
นำใจ อุทรักษ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.กาฬสินธุ์
“คิดว่าหัวใจหลักคือการเรียนรู้ เพราะว่าถ้าพี่น้องมีองค์ความรู้ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญากันนี่ ผมว่าจุดหนึ่งที่จะทำให้พัฒนาต่อไป คือ เราเห็นองค์ความรู้ เราเห็นความเชื่อมั่นของชุมชน แล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ว่า พี่น้องมีส่วนร่วมจริง” |
กาฬสินธุ์ในวันนี้ มีชุมชนที่กำลังขยายเป็นเมืองใหญ่หลายพื้นที่ เช่นที่ อำเภอสมเด็จ ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชน ความสะอาดของตลาดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก เพราะจะมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของคนในชุมชนด้วย โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงส่งเสริมให้ชุมชนหันมาให้ความสำคัญและร่วมมือกันพัฒนาตลาดไปพร้อมๆกับ การออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง |
|
 |
|
ประเสริฐ เคนสุโพธิ์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .กาฬสินธุ์
“อยากให้เขาตระหนักไม่เฉพาะเรื่องออกกำลังกายอย่างเดียว เพราะถ้าพูดถึงเรื่องสุขภาพเขาก็จะเน้นการออกกำลังกาย เราก็เลยคิดว่าน่าจะทำเรื่องอาหารและโภชนาการด้วย มันก็โยงมาเรื่องของตลาด เพราะตรงนี้เป็นแหล่งสำคัญ ถ้าเกิดมีโรคระบาดก็จะไปอย่างรวดเร็วมาก เราก็เลยเน้นขอความร่วมมือจากเทศบาล ให้ร่วมในการจัดเรื่องสุขบัญญัติ เรื่องโภชนาการ เรื่องผู้ขายเป็นสำคัญ ส่วนผู้ซื้อเราก็จะให้ความรู้อีกด้านคือ เรื่องอาหารและโภชนาการ แต่เราจะเน้นหนักเรื่องผู้ขาย” |
ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวกาฬสินธุ์ ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อีกอย่างหนึ่ง คือ การนวดแผนโบราณ รอด ทองอร่าม ผู้ได้รับการประสิทธิประสาทวิชาจากรุ่นปู่ย่าตายาย จึงรวมกลุ่มกับพ่อหมอแม่หมอในหมู่บ้าน จัดทำ ศูนย์เรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านไทย ต.เหล่ากลางขึ้น เพื่อช่วยรักษาให้กับคนในหมู่บ้าน และอนุรักษ์วิชานวดแผนโบราณไว้ด้วย
|
 |
|
รอด ทองอร่าม พ่อหมอนวดแผนโบราณ บ้านเหล่ากลาง กิ่ง อ .ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์
“เมื่อรวมกลุ่มกันขึ้นมาแล้วอย่างนี้ ประโยชน์มันก็คือ เรามีความภูมิใจที่ว่า ได้รวมตัวกันแล้วได้ช่วยเหลือคนอื่น ยามเมื่อคนในท้องถิ่นเราเองเกิดเจ็บป่วย อย่างสมมติว่าปวดเส้น ปวดเอ็น ปวดแข้ง ปวดขา ไปฉีดยาก็หาย แต่พอหมดฤทธิ์ยาแล้ว มันจะปวดอีก แต่ถ้าหันมานวด มันก็จะค่อยๆดี ค่อยๆหายไปนะครับ คือประโยชน์ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ที่มาใช้บริการนี่ ค่าบริการทั้งกลุ่มพ่อหมอแม่หมอก็ไม่ได้เรียกร้อง แล้วแต่จะทำบุญ แล้วแต่จะให้” |
จิตสำนึกของผู้คน คือจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อสาธารณะ เช่นเดียวกับเกษตรกรส่วนหนึ่งของผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เริ่มหันมาสนใจถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีเลี้ยงกุ้งที่มีต่อลำน้ำพวน ทางเลือกใหม่ของพวกเขาในวันนี้ คือ การเลี้ยงกุ้งแบบชีวภาพ โดยใช้จุลินทรีย์แทนสารเคมีอื่นๆ |
 |
|
สุวิน คำแดง เลขานุการสมาพันธุ์ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม และ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณท้องถิ่นน่าอยู่ จ .กาฬสินธุ์
“ก็ช่วงหลังนี้มันเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงนะครับ เพราะเลี้ยงๆไป พบว่า อายุของการใช้ของบ่อมันยาวนาน เกิดการหมักหมมของตะกอนหรือว่าของเสีย ที่เกิดจากกุ้งขับถ่ายออกมา มันก็เกิดทั้งโรคติดต่อ ทั้งกุ้งตาย กุ้งเลี้ยงไม่โต และก็เกี่ยวกับกระแสชีวภาพหรืออีเอ็มเข้ามา จะช่วยตรงนี้ได้นะครับ แล้วก็ทางผู้บริโภคก็จะได้อาหารที่ปลอดภัยด้วย” |
|
|
|
 |
|
ธวัชชัย ไตรทิพย์ ประธานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .กาฬสินธุ์
“ได้เห็นพี่น้องมีความกระตือรือร้น ได้เห็นวิธีคิดที่แทรกด้วยฐานคิด ภูมิปัญญา เราได้ถอดออกมาแล้ว มันเป็นความรู้ที่มีคุณค่า มีความสำคัญ ได้เห็นว่าทุกคนสามารถเข้าสู่กระบวนการของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นต่างอาชีพ ต่างฐานะ ต่างการศึกษา ต่างเพศต่างวัย พวกเรามาเรียนรู้เรื่องเดียวกัน เรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องวัฒนธรรมภูมิปัญญา มาทำงานเรื่องสื่อ ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ และไม่มีความเหลื่อมล้ำทางความคิด” |
|
แม้ความเปลี่ยนแปลงจะแทรกซึมไปทั่วทุกพื้นที่ แต่คุณค่าดั้งเดิมย่อมไม่เลือนหาย หากคนในชุมชนเห็นคุณค่า และรักษาไว้ให้ยั่งยืน สืบทอดสู่คนรุ่นหลังของ “กาฬสินธุ์” ต่อไป |
|
|
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ร่วมผลิต : Nation TV
ข้อมูลและภาพประกอบ : ทีมงานพัฒนาการสื่อสารฯ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
|