วิถีคน…วิถีคลอง ที่สุราษฎร์ธานี
ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2548
เทือกเขาหลวง เขาสูงสลับซับซ้อนยาวเหยียดในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราชแห่งนี้ คือต้นกำเนิดของแม่น้ำลำคลองหลายสาย รวมทั้งลำคลองกะแดะ ที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนจนถึงสุราษฎร์ธานี
 |
สถิตย์ คำเหล็ก ผู้อาวุโสบ้านหนองสวน อ.กาญจนดิษฐุ์ จ.สุราษฏร์ธานี
“น้ำใสสะอาด น้ำมากพอสมควร การใช้สอยของคนหมู่บ้านนี้หรือหลายๆหมู่บ้านที่ริมคลอง จะต้องใช้น้ำคลองนี้ทั้งสิ้น จะอาบ จะกิน ใช้อุปโภคบริโภคทุกอย่าง” |
 |
ละม้าย ทวดสิญ ผู้อาวุโสบ้านหนองสวน อ.กาญจนดิษฐ ์ จ.สุราษฏร์ธานี
“น้ำใส เช้าๆ เราจะขนน้ำมาไว้กิน พ่อแม่บอกว่าหิ้วน้ำมาได้แล้ว มาใส่ตุ่มใส่ไหไว้ที่บ้าน เช้าๆมาวัวควายไม่ได้ลง สายๆให้ควายลงไปกินน้ำ น้ำในคลองสมัยก่อนสะอาด ปลาเยอะมาก จำได้ว่าถ้าอยากกินปลาก็เอาเบ็ดไปปักไว้ที่ตลิ่ง อาหารการกินก็สมบูรณ์ น้ำไม่เคยแห้ง อุดมสมบูรณ์ตลอดปี” |
 |
อเนก ปัทมพงษา ผู้อาวุโสบ้านหนองสวน อ.กาญจนดิษฐุ์ จ.สุราษฏร์ธานี
“น้ำในคลองสมัยก่อนใช้ดื่ม ใช้อุปโภคบริโภคได้ทุกอย่างครับ น้ำใสสะอาด ปลาเยอะมาก จำได้ตอนเด็กๆ บ้านอยู่ริมคลอง แล้วถ้าวันไหนอยากจะกินปลา ก็เอาเบ็ดไปปักที่ริมตลิ่ง เสียบเหยื่อไว้นิดหน่อย รุ่งเช้าไปดู จะได้ปลาดุกปลาช่อนตัวโตๆมา อาหารการกินก็สมบูรณ์มีปลาเยอะสวยงามมาก” |
ตลอดลำคลองกะแดะที่มีความยาว 20 กิโลเมตร ไหลผ่านชุมชน 10 หมู่บ้าน ใน อำเภอกาญจนดิษฐ์ น้ำทุกหยดถูกนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป ประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนขยายใหญ่ขึ้น ยิ่งทำให้ปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการที่เปลี่ยนไป จากการใช้ร่วมกัน กลายเป็นการแย่งชิง จากการใช้อย่างเห็นคุณค่า กลายเป็นการกอบโกย และยังถูกซ้ำเติมด้วยของเสีย ขยะ การใช้สารเคมีจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการพัฒนาที่ขาดความเข้าใจ ลมหายใจของคลองกระแดะวันนี้จึงแผ่วลงเรื่อยๆ
 |
สถิตย์ คำเหล็ก ผู้อาวุโสบ้านหนองสวน อ.กาญจนดิษฐุ์ จ.สุราษฏร์ธานี
“ลุงเกิดมา 80 ปี น้ำแห้งแล้งที่สุดก็ตอนนี้ ต้นน้ำลำธารถูกทำลาย ป่าไม้ทำให้แห้งแล้ง เมื่อก่อนลุงไม่เชื่อ ด่าแต่ป่าไม้ แต่มาตอนหลังรู้ว่า เราเป็นผู้ทำลาย ไม่ใช่ใครเป็นผู้ทำ เราทำเอง นี่สำคัญ” |
 |
อเนก ปัทมพงษา ผู้อาวุโสบ้านหนองสวน อ.กาญจนดิษฐุ์ จ.สุราษฏร์ธานี
“จากน้ำที่เราเคยมีมาตลอด ตอนนี้น้ำไม่สามารถมาได้ตามที่เคยมา ไม่แน่ใจว่า เกิดจากน้ำไม่พอ หรือ มีการทำเขื่อน ไม่แน่ใจตรงจุดนั้น เพราะน้ำไม่ไหลมาปกติ” |
ในอดีต ชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำมาตลอด แต่วันนี้ลำคลองอันเป็นวิถีชุมชนถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากการพัฒนาด้วยนโยบายของรัฐ ในการจัดการลุ่มน้ำ
 |
ธีรชัย บัวพุม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.พลายวาส อ.กาญจนดิษฐุ์ จ.สุราษฏร์ธานี
“พอมีการสร้างเขื่อนขึ้นมา น้ำไม่ได้ไหลลงไป วิถีก็เปลี่ยนไป จากที่เขาอาบน้ำในลำคลองเขาก็ไม่ได้อาบเขาจะซักผ้าในลำคลอง เขาก็ไม่ได้ซัก เพราะมันเป็นน้ำที่สกปรก” |
ด้วยความยาวเพียง 20 กิโลเมตรของคลองกะแดะ มีเขื่อนเกิดขึ้นถึง 5 เขื่อน เป็นเขื่อนใหญ่ 1 เขื่อน เขื่อนกักน้ำ 3 เขื่อน และเขื่อนน้ำล้นอีก 1 เขื่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นประติมากรรมอันเสื่อมโทรม ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการจัดการแล้ว ยังมีผลทำให้เกิดสภาพขาดห้วงของน้ำในลำคลอง จนกลายเป็นต้นตอความขัดแย้งของคนในชุมชน
 |
พรศักดิ์ พัฒนศรีรารัตน์ ประธานวังปลาโสด
“นายกอบต.บอกว่าน้ำไม่มี น้ำมันน้อยถ้าปล่อย คนข้างบนจะเดือดร้อน แต่เมื่อเราไปดูสภาพแล้ว น้ำหน้าเขื่อนมันท่วมหัว คือคล้ายๆว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวนิดหนึ่ง เราก็บอกว่า ขอร้อง ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนักเลย สิบกว่าวันยี่สิบกว่าวันแล้ว แล้วปลาที่ปากกระแดะที่ริมทะเล ปลาโชงโลงที่เขาเลี้ยงไว้ก็ตายหมดเลย เพราะน้ำเค็มมันขึ้นมาถึง” |
เมื่อเกิดวิกฤติในสายน้ำ ทำให้ชาวลำคลองกะแดะ ที่เคยต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาหากิน ได้รวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา เพื่อต่อชีวิตสายน้ำให้ยั่งยืน
 |
ประเสริฐ ศรัทธาสุข ประธานวังปลาแก้มช้ำ
“วังปลานี่คือส่วนหนึ่ง เพราะว่าถ้ามีปลา ต้องมีน้ำ เราคิดที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปลาเดิม คือปลาแก้มช้ำของคลองกระแดะ เคยมีเยอะมาก แต่มันสูญพันธุ์ไป จากน้ำไม่มี น้ำเน่าน้ำเสีย จากคน จากสารพิษ จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพราะฉะนั้นเราต้องมาอนุรักษ์ไว้ เมื่อมีปลาเราต้องมีน้ำ” |
 |
พรศักดิ์ พัฒนศรีรารัตน์ ประธานวังปลาโสด
“เราได้รักษาปลาไว้ด้วย รักษาน้ำด้วย แล้วได้รักษาสภาพแวดล้อม ต้นไม้ น้ำ ปลา เพื่อจะให้ลูกหลานได้ใช้กันต่อไป สมัยก่อนนี่ปลาเยอะ ตอนนี้ไม่มีเลย หมดเลย” |
จากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่ง ร้อยรวมจนกลายเป็นเครือข่ายวังปลา ห้าจุด ห้า ชุมชน ตลอดสายน้ำ จนมีแนวโน้มที่จะก่อตัวเป็นประชาคมลุ่มน้ำในอนาคต
 |
ชำนิ เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“เครือข่ายจุดนี้ อาจารย์อยากเน้นว่า เน้นจุดเรียนรู้ เน้นถึงระบบนิเวศน์ เพราะฉะนั้นจะทำให้โรงเรียนซึ่งอยู่ในลำคลองกระแดะแห่งนี้ จะมีแหล่งเรียนรู้ อย่างน้อยก็เป็นวังปลา ชุมชนชาวบ้านก็จะมีจิตสำนึก บริเวณวังปลาแห่งนี้ทุกแห่งที่เปิดไว้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ชุมชน และคนทั่วไป และจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และจัดสรรน้ำอย่างมีระบบ โดยเริ่มจากวังปลาเล็กๆ ก็มีกระบวนการที่จะทำเป็นประชาคมลุ่มน้ำได้” |
ภาพการจัดงาน “ ร้อยดวงใจรักษ์คลองกระแดะ ” เป็นเสมือนบทพิสูจน์ของความสำเร็จในการรวมตัวกันของคนในชุมชนรอบคลองกระแดะ และยังเป็นทั้งการบ่งบอกและสะท้อนให้สาธารณะได้รับรู้เรื่องราว และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมในการคิด และแก้ปัญหาชองชุมชน อันเป็นประเด็นสาธารณะ ที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ พร้อมทั้งถ่ายโอนความรู้สู่คนรุ่นต่อไป เพื่อให้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทวีศักดิ์ สุขรัตน์ ที่ปรึกษาโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.สุราษฏร์ธานี
“ความตื่นตัวของชาวบ้านเร็วมาก เหมือนกับเป็นการแพร่ระบาดเลย พอเกิดวังปลาวังที่1 วังที่2 ที่ 3 ก็ตามมา โดยเฉพาะเมื่อมีวังปลาโสด ที่ชุมชนบ้านหนองสวนหมู่ที่8 เป็นการจัดการรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ แล้วก็ปล่อยนกปล่อยปลา ตามประเพณีโบราณซึ่งมีความสำคัญ ทำให้เห็นมิติของศาสนา ความเชื่อกับข้อธรรมะที่ปฏิบัติอยู่ ตรงนี้มันสอดคล้องกันพอดี แล้วการสร้างเขตอภัยทาน อย่างน้อย ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะเป็นหลักชี้นำสังคมและชุมชน ไปในทางที่ดีได้” |
 |
 |
ปรีชา จันทร์ภักดี ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่
จ.สุราษฏร์ธานี
“ชาวบ้านมีเกียรติประวัติของเขาอยู่แล้ว โครงการชีวิตสาธารณะไม่ได้ไปสร้างคนตรงนั้นขึ้นมาเท่าไร เราเพียงไปต่อคน แล้วชวนเขามาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วยกศักยภาพ ยกคุณภาพของเขาขึ้นมา เขามีจิตมีใจอยู่แล้ว” |
ไตรรัตน์ จงจิตร รองผู้ว่าราชการ จ.สุราษฏร์ธานี
“รู้สึกชื่นชมยินดี เพราะเป็นความตื่นตัวของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง โดยการรวมตัวของคนในท้องถิ่นแล้วก็ไปประสานกับหน่วยอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ ที่จะต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนำกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เพื่อให้มีการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึกลงไปกับชุมชน ให้มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพันธุ์ปลาไว้ได้ตลอดไป น่าชื่นชมมากครับ” |
 |
งานร้อยดวงใจรักษ์คลองกะแดะ ไม่ใช่เพียงการประกาศจุดยืนที่แน่วแน่ในการอนุรักษ์คลองกะแดะเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื่อมร้อยอุดมการณ์สู่ลูกหลานแห่งลุ่มน้ำนี้ต่อไป
 |
นภดล ศรีภัทรา นักธุรกิจท้องถิ่น
“สิ่งที่สำคัญที่จะรักษาได้ตลอดคือ การศึกษา คือจิตสำนึกของคนในท้องที่ ภาคราชการต่อให้เอางบลงมาถมเท่าไหร่ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จ ถ้าคนในพื้นที่ไม่เข้าใจ ถ้าเด็กเยาวชนยังคิดแบบเก่าๆว่าจับเท่าไร ได้ก็ได้ไป เอาเท่าไร ได้ก็ได้ไป คิดอย่างนี้มันก็ไม่ยั่งยืน ถ้าจะยั่งยืนได้ต้องสร้างจิตสำนึก” |
สำราญ ขวัญชุม ชาวบ้านบ้านดอนยา อ.กาญจนดิษฐุ์ จ.สุราษฏร์ธานี
“ต้องปลูกจิตสำนึกให้เด็กๆรุ่นหลังเรียนรู้ คนแก่ๆไม่ได้อะไร เพราะหมดไปแล้ว ต้องปลูกค่านิยมให้เด็กรุ่นใหม่ จะได้มีจิตสำนึกรักผืนน้ำ” |
 |
(บทกวี ประพันธ์และลำนำโดย ละม้าย ทวดสิญ) เรามาสร้างนิเวศน์ให้กับสายน้ำ เหมือนปลูกความสามัคคีดียิ่งใหญ่ คุณธรรมนำมาร้อยเป็นมาลัย คล้องร่วมใจให้อยู่คู่ธารา ไม้ยืนต้นร่มบังสองฝั่งคลอง พระพายต้องกิ่งใบ พันดั่งสรรหา วิหคเพรียกเรียกปูมองดูปลา ในธาราแหวกว่ายตามสายธาร
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |