ร้อยใจให้ร่วมรักษ์เมืองเลย |
|
เลย เมืองแห่งทะเลภูเขา ถิ่นอากาศหนาว ธรรมชาติงดงาม และวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม แต่วันนี้ ทั้งแม่น้ำ ป่าเขา วิถีชุมชน และคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีที่เมืองเลย กำลังมีปัญหา |
วีระพล เจริญธรรม ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.เลย
“ปีหนึ่งที่ผ่านมา พบว่า มันเป็นบริบทของสังคมไทยว่า ถ้าตราบใดก็ตาม นโยบายการพัฒนาประเทศ โดยวิธีการตัดรองเท้าเบอร์เดียวแจกคนทั่วประเทศ ต้องเป็นแน่ หนึ่งทำให้เขารอรับการสนับสนุน การช่วยเหลือจากคนนั้นคนนี้ ทำให้ศักยภาพความเชื่อมั่นของเขาหายไป สองคือใช้ทรัพยากรภายในไม่คุ้มค่า ทุนทางสังคมมีอยู่ แต่ตอนนี้ถูกลืม ไม่ได้ถูกเอามาใช้ อย่างกรณีเช่นน้ำเลย ซึ่งมันเสื่อม เสียหาย รัฐบาลต้องการพื้นที่ป่า |
|

|
|
แต่ส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าวโพด ต้นทุนการผลิตสูง แต่ราคาขายต่ำ เพราะฉะนั้นการขยายพื้นที่ การบุกรุกต้องมี เราต้องทำอย่างไร ที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้” |
|
ภูหลวง พื้นที่ป่าสำคัญของ จังหวัดเลย ที่มีเนื้อที่ครอบคลุม อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ อำเภอวังสะพุง และ อำเภอภูหลวง ซึ่งเคยเลื่องชื่อในด้านความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ปกคลุมด้วยผืนป่านานาชนิด มีสัตว์ป่าชุกชุม เป็นศูนย์กลางของดอกไม้ป่าหายาก และยังเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำเลย สายเลือดสำคัญของคนเมืองเลย แต่ปัจจุบันป่าภูหลวงกำลังถูกรุกราน ทั้งด้วยความตั้งใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนกระทั่งเกิดการแย่งชิงทรัพยากร และความขัดแย้งของคนในชุมชน |
 |
|
นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระยุพราชด่านซ้าย
“เชื่อไหมว่าปี 2545 เกือบทะเลาะกัน คือคนที่ลุ่มไปโทษคนบนเขาว่าตัดไม้ทำลายป่า จริงๆเขาไม่ได้ตัดหรอก มันมีนายทุนไปตัดเมื่อ 30 ปีก่อน นายทุนก็ตายไปแล้ว เขาทำอะไรไม่ได้ ตอนนี้เขาไม่รู้ทำอะไร เขาก็เลยต้องปลูกข้าวโพด ปีที่แล้วราคาดีด้วย ปีนี้ก็ปลูกหนักกว่าเก่าอีก เราก็เลยบอกว่า อย่าทะเลาะกันเลย มาเรียนรู้ว่าต้องทำยังไง” |
|
จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชุมชน โครงการชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดเลย จึงสร้างพลังการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยใช้วิทยุชุมชนเป็นกลไกสนับสนุน
ที่อำเภอภูหลวง แหล่งป่าต้นน้ำเลย วิทยุชุมชนคนภูหลวง เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจให้กับคนภูหลวง ที่มีอาชีพหลักในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นต้นเหตุในการทำลายป่า การใช้สารเคมี อันมีผลกระทบต่อคุณภาพแม่น้ำเลย |
|
ทองหล่อ ศรีหนารถ ประธานกรรมการวิทยุชุมชนคนภูหลวง
“ตอนแรก ตอนที่ไปบอกประชาคม บอกชาวบ้าน เขาไม่เห็นด้วย เขาว่าเอามาทำไมสถานีวิทยุก็มีเยอะแยะ เขามองไม่เห็นประโยชน์ แต่ตอนนี้ พอเราตั้งขึ้นมา เขาเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับชุมชน กับตัวเขา เป็นต้นว่า การส่งเสริมอาชีพ ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ความรู้เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม ด้านสภาพแวดล้อม” |
|

|
สมศักดิ์ พงพรม เกษตรกร ตำบลเลยวังใส อำเภอภูหลวง เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่เมื่อต้องใช้สารเคมีเป็นประจำ ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงเปลี่ยนมาทำ วนเกษตร คือปลูกพืชหมุนเวียนผสมผสาน และ ปลอดสารเคมี |
สมศักดิ์ พงพรม เกษตรกร ต.เลยวังใส อ.ภูหลวง จ.เลย
“คิดอยากทำเกษตรแบบยั่งยืน เอาแขม (ต้นแขม เป็นวัชพืช ที่ขึ้นอยู่ตามหนองน้ำและที่ราบลุ่ม ซึ่งเคยมีเป็นจำนวนมากในบริเวณเขตหนองแขม จนเป็นที่มาของชื่อเขตหนองแขม) มาปลูกบ้าง ทำอะไรบ้างผมทำแบบอยากให้ยั่งยืน หมายความว่า เก็บได้หลายปี เราอยู่ได้โดยเกิดจากน้ำมือของเรา” |
|

|
|
|
|
วัชราภรณ์ วัฒนขำ หัวหน้างานรณรงค์และเผยแพร่ มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เขามีความสุขกับการที่ทำ เหมือนกับมองเห็นแสงสว่าง นอกจากทำไร่แล้วได้ผลผลิตครั้งเดียวต่อปี ถ้าในพื้นที่ที่เราทำงาน ก็จะปลูกพืชท้องถิ่น ปลูกตาวที่เป็นพืชท้องถิ่น ในพื้นที่ ในแปลงของเกษตรกร จะขายได้ตลอด มีผลผลิตให้ได้ขายตลอด” |
|

|
ในขณะที่คนภูหลวง เริ่มตระหนักในการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ เพื่อรักษาชีวิตคนและชีพจรของแม่น้ำเลย โดยมีวิทยุชุมชนเป็นกลไกสร้างความตื่นตัวและความร่วมมือจากคนในชุมชน วิทยุชุมชนที่ อำเภอภูเรือ พื้นที่ที่มีปัญหาการบุกรุกป่า ก็กำลังทำบทบาทการสร้างความเข้าใจ ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
บุญหลาย โสประดิษฐ์ เกษตรกรบ้านแก่งม่วง ทำไร่ข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก สืบทอดจากบรรพบุรุษ ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 254 |
 |
|
บุญหลาย โสประดิษฐ์ ชาวบ้าน บ้านแก่งม่วง อ.ภูเรือ จ.เลย
“วันนั้นไปทำไร่ครับ มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้อยู่ๆก็มาจับครับ รู้สึกเสียใจครับ ถ้ารู้ว่าเขาจะมาจับผมคงไม่อยู่ให้จับ เพราะเราไม่ผิด เคยทำมาทุกปี” |
|
|
|
 |
|
สมบัติ จุตตโน ผู้ใหญ่บ้านนาน้อย อ.ภูเรือ จ.เลย
“เขาไม่มาแจ้ง ไม่เคยประสานมาทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เลยว่าจะทำแนวเขต จะทำกฎหมายใหม่ออกมา ไม่เคยมาบอก” |
|
เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ การสร้างพื้นที่แนวกันชน จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน ทั้งการอนุรักษ์ป่า และ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่า |
|
อาวุธ โกษาจันทร์ ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชน จ.เลย
“การรวมตัวของชาวบ้าน เราก็จะใช้เครื่องมือของเรา คือปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนที่ประชาสัมพันธ์ เมื่อชาวบ้านเขารู้ ก็อยากจะทำต่อ แล้วก็มีปัญหาอะไรก็มาคุยกัน การที่เราใช้สื่อวิทยุชุมชนประชาสัมพันธ์ไป ชาวบ้านเขาจะได้รู้ว่า การทำแนวเขตแก้ปัญหาที่ทำกินระหว่างรัฐกับเอกชน ทำยังไง เราจะได้อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข เราก็ใช้สื่อวิทยุชุมชนของเราเข้าประชาสัมพันธ์ ให้ชาวบ้านที่อยู่หัวไร่ปลายนาอยู่หลังเขา ได้รู้ ได้เห็นภาพจริง ว่าเขาอยู่กันอย่างไร ” |
|

|
|
|
|
 |
|
พิเศษ ศรีบุรินทร์ รองนายก อบต.ท่าศาลา อ.ภูเรือ จ.เลย
“ชาวบ้านก็มีความมั่นใจขึ้นนะครับ เพราะว่ามีผู้นำระดับหมู่บ้าน ระดับกำนัน แล้วก็ นายกอบต. มีนายอำเภอ มีปลัดอำเภอ มาให้ความมั่นใจ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ มาร่วมกัน ชาวบ้านก็มั่นใจขึ้น” |
|
|
|
แต่ที่ บ้านผาหวาย อำเภอภูกระดึง การที่ภาครัฐปักหมุดเขต และประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และ การสื่อสารกับชุมชน ความขัดแย้งและความไม่พอใจจึงเกิดขึ้น |
|
 |
|
จำรัส ชมชาลี กรรมการเครือข่ายอนุรักษ์ภูค้อภูกระแต อ.ภูกระดึง
“ตอนผมมาครั้งแรกปี 2510 ผมมาจากร้อยเอ็ด พ่อแม่พาอพยพมา เพราะที่ร้อยเอ็ดเป็นทุ่งหมดแล้ว ป่าแบบนี้ไม่มี แล้วก็ไม่ได้ขึ้นมาสูงอย่างนี้ แต่ไม่นานป่าก็หมด พวกผมก็เลยว่า ตอนนี้หมดไปขนาดนี้ ถ้ารุ่นลูกรุ่นหลานแทบจะไม่มีเหลือ อายุเท่าผมตอนนี้กินจนตายก็ไม่หมด แต่ลูกหลานเกิดขึ้นมาจะหากินยังไง ถ้าพ่อแม่ไม่ดูไม่แล” |
|
|
|
ไม่เพียงแต่คนบนต้นน้ำเท่านั้นที่ทำร้ายแม่น้ำเลย เรื่อยลงมาช่วงกลางถึงปลายน้ำ เป็นส่วนของชุมชน ที่มีปัญหาเรื่องขยะ มูลสัตว์ การปล่อยน้ำเสีย การสร้างเขื่อนหินทิ้ง ทำให้น้ำแช่ขังจนตลิ่งพังทลาย แม่น้ำตื้นเขิน และที่สำคัญ ผู้คนละทิ้งแม่น้ำ |
|
 |
|
อภิญญา กรรณลา ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรักษ์น้ำเลย
“ปัญหาหนึ่งที่พบมากในช่วงนี้ เป็นรูปธรรมที่เห็นคือ เด็กและเยาวชนไม่ได้มีความผูกพันความรักแม่น้ำ ก็เลยคิดว่ามีวิธีการเดียวที่เด็กจะได้ได้รู้เรื่อง พอเขาได้รู้ปัญหา ได้ย่างกรายลงแม่น้ำบ้าง มีความหวังว่า เขาน่าจะเกิดความรัก และเข้าใจในแม่น้ำ” |
|
|
|
เด็กๆเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ได้เข้ารับความรู้และสัมผัสกับแม่น้ำเลย วันนี้พวกเขาเป็นกระบอกเสียง นำปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม มากระจายให้คนเมืองเลยได้รับรู้ และตระหนักร่วมกันที่ วิทยุเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย |
|
|
|

|
|
บุญศิริ อรรคพงษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเลยพิทยาคม อ.เมือง จ.เลย
“สิ่งหนึ่งที่ได้คือประสบการณ์ต่างๆ ทำให้เราได้รับรู้ปัญหาของสังคม บางอย่างไม่สามารถรู้ได้ด้วยตนเอง บางทีก็มีผู้ฟังโทรเข้ามาเล่าให้ฟังว่า มีปัญหาตรงนั้น ตรงนี้ ให้เราช่วยแก้ไข ทำให้โลกของการมองคน ทัศนคติต่างๆกว้างขึ้น ทำให้เด็กที่เคยมีโลกแคบๆ ทำให้โลกกว้างขึ้นเยอะทีเดียวค่ะ” |
เพื่อให้เด็กและเยาวชนนำประสบการณ์ตรง มาขยายผลต่อทางวิทยุชุมชน โครงการธรรมธาราต่อชะตาน้ำเลยจึงเกิดขึ้น |
ประพนธ์ พลอยพุ่ม ประธานคณะทำงานโครงการธรรมธาราต่อชะตาแม่น้ำเลย |
“ในการที่เรารวมคนเข้ามา โครงการเรามีเป้าหมาย คือต้องมาโสกัน ภาษาอีสานเราใช้คำว่า โส คือมาคุยกันก่อน เมื่อ โส จนได้ที่ประจักษ์ เพราะแต่ละคนต้องการไม่เหมือนกัน แต่ว่าคุณมีวิธีการอย่างไร ที่จะไม่ให้แม่น้ำสกปรก อันนี้เป็นเป้าใหญ่ แต่วิธีการที่ลึกซึ้งก็มีหลายเรื่อง หนึ่ง คือการดำเนินงาน ที่เราถือว่า เป็นรูปธรรม โดยเราเชิดชูรัฐเป็นหลัก เพราะเป็นผู้ที่ต้องดูแล สองคือประชาชนรองลงมา สามคือนักธุรกิจก็ต้องเข้าใจ สี่ผู้สืบสานจริงๆคือนักเรียน ชุมชน ห้าคือผู้ที่ให้ความอบอุ่นเราเสมอไปคือพระพุทธศาสนา” |
|

|
เช่นเดียวกับคนด่านซ้าย ที่มีความผูกพันกับแม่น้ำหมัน สถานที่สำหรับประกอบพิธีเบิกอุปคุต ส่วนหนึ่งของ งานบุญหลวง วิถีชุมชนบนความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนาที่สืบเนื่องมาหลายชั่วอายุคน แต่กำลังถูกสั่นคลอน ด้วยวิธีคิดด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ละเลยคุณค่าและความหมายแท้จริงของงานบุญหลวง ไปให้ความสำคัญกับการละเล่นผีตาโขน แล้วปรุงแต่งรูปแบบ จนน่าเป็นห่วงว่า การละเล่นที่ผูกโยงกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชุมชน จะกลายเป็นเพียงการแสดง เพื่อบริการนักท่องเที่ยวเท่านั้น วิทยุชุมชนคนด่านซ้าย จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะฟื้นฟู และ เชิดชูคุณค่าทางวัฒนธรรม สร้างความเข้าใจอันถูกต้อง และสร้างกระแสให้คนในชุมชน ร่วมรักษาสิ่งดีงาม สืบต่อสู่คนรุ่นหลังต่อไป
|
 |

|
|
|
พิธีเบิกอุปคุต
|
|
จากบทเรียนของเมืองเลยพิสูจน์ให้เห็นว่า ชุมชนต้องมีสิทธิและส่วนร่วมในการใช้เครื่องมือทางการสื่อสารสาธารณะ ทั้งวิทยุกระจายเสียงและกิจกรรมชุมชน เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและรักษาความสมบูรณ์ งดงาม ของทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่คู่เมืองเลย ตลอดไป |
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ข้อมูลและภาพประกอบ : ทีมงานพัฒนาการสื่อสารฯ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |