ร่วมสร้างชุมชนคนรักอุทัยธานี
ท่ามกลางขุนเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของเมืองอุทัยธานีแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งจีน มอญ ลาวครั่ง และกะเหรี่ยง ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมายาวนาน
ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2548
|
ท่ามกลางขุนเขาที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติของเมืองอุทัยธานีแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งจีน มอญ ลาวครั่ง และกะเหรี่ยง ที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขมายาวนาน แต่ด้วยชีวิตที่สงบสุขเรียบง่ายบนวิถีเกษตรกรรม ปราศจากการแย่งชิงแข่งขันของคนอุทัยธานีในวันนี้ อาจง่ายต่อการซัดส่ายไปตามกระแสการพัฒนา เพราะในความเป็นจริง อุทัยธานีกำลังถูกรุมล้อมและท้าทายจากสถานการณ์รอบด้าน ด้วยโครงการพัฒนาหลายโครงการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว หากคนอุทัยธานียังไม่เตรียมที่จะตั้งรับและปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงจะนำพาอุทัยธานีไปสู่ทิศทางใด ลาวรรณ ทัยคุปต์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี “ถ้าพูดถึงอุทัยธานีมันจะเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติความเป็นมา แล้วก็สิ่งที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันมันจะเป็นภาพต่อเนื่องของอดีตกับปัจจุบัน ทีนี้ถ้าเราขาดความรู้ความเข้าใจ สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนามันก็จะง่าย ก็เลยมาจับเรื่องความรู้เรื่องเมือง จริงๆ ความรู้เรื่องเมือง ถ้าคนไม่เข้าใจจะมองเห็นแค่เพียงความสวยงาม แต่ไม่รู้ว่ากว่าจะมาเป็นความสวยงาม มันมีที่มาที่ไปอย่างไร มันก็น่าให้คนที่อยู่ในเมืองเองได้เรียนรู้เรื่องราวของตัวเอง” บรรยาย ตลาดริมน้ำ บ้านเรือนแพ วัดโบสถ์ ยังคงเป็นภาพต่อผืนเดียวกันที่เป็นเอกลักษณ์และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองอุทัยธานี ที่ยังคงความมีชีวิตชีวา ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองได้เป็นอย่างดี โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดอุทัยธานี จึงเชิญชวนเยาวชนมาสืบค้นเมืองจากผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งไม่เพียงเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ วิถีชุมชนและภูมิปัญญาเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้คนอุทัยรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกรักและผูกพันต่อชุมชนของตนเอง ลาวรรณ ทัยคุปต์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี “เด็กจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ จากคนรุ่นพ่อแม่ ในการไม่เรียนรู้บ้านเมืองตนเอง มันคงไม่ได้ สืบต่อเรื่องของคุณค่า ความดีความงาม เรื่องของผู้คน” น้องแอ้-น้องเบญ ผู้เข้าร่วมค่ายความงามของวิถีชีวิตผ่านงานศิลปะ “ก็ได้รู้ว่าเมืองอุทัยมีของดียังไง เก่าแก่มาก สวยด้วย มีแม่น้ำที่สำคัญ มีแม่น้ำสะแกกรัง มีร้านค้าเยอะ” ฉัตรทิพย์ คำด้วง ผู้เข้าร่วมค่ายเขียนบ้านอ่านเมือง “อยากให้อยู่อย่างนี้ไปนานๆ เหมือนว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุทัย จังหวัดอุทัยถ้าไม่นึกถึงห้วยขาแข้งก็จะนึกถึงเรือนแพ” ไพโรจน์ ตรุณาวงษานนท์ ผู้เข้าร่วมโครงการภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุทัย “ผมว่าเหมาะดีนะครับ อย่างน้อยทำให้เด็กรุ่นหลังหรือรุ่นผมสามารถสืบสาวราวเรื่องในอดีตของเมืองอุทัย ธานีอย่างชัดเจน พอเราเห็นภาพ คนที่รู้อาจจะมีอายุก่อนผมตอนที่ผมยังไม่เกิด เขาก็สามารถชี้แจงได้ว่าลักษณะภาพนี้อยู่ตรงไหน” บรรยาย การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชนมีให้เห็นหลายพื้นที่ในประเทศไทย บ้านทัพคล้าย อำเภอบ้านไร่ เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ความผูกพัน เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ตามวิถีชุมชนเริ่มจืดจาง ด้วยเหตุจากการแบ่งพื้นที่การปกครอง และการมุ่งหารายได้ ตามวิถีการแข่งขันทางการตลาด ตลอด 200 ของตลาด ที่ทำให้การผลิตเปลี่ยนรูป จากการผลิตเพื่อใช้ที่เหลือจึงขาย กลายเป็นการผลิตเพื่อขาย จนนำมาสู่กว่าปีที่ผ่านมา ชาวทัพคล้ายคือผู้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของชนชาวลาวครั่ง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนเกิดความต้องการการแข่งขันกันทางการค้าของคนในชุมชน อรสา สิทธิธัญกิจ แกนนำเครือข่ายผ้าทอ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี “เมื่อก่อนนี้ก็เป็นชุมชน เป็นหมู่บ้านเดียว แต่พอเป็นเขตการปกครองมันก็เริ่มที่จะแยกหมู่บ้านกิจกรรมความสัมพันธ์ต่างๆที่ทำร่วมกันก็เริ่มห่างหายไปเริ่มที่จะไม่ได้ทำกิจ กรรมร่วมกัน เพราะจะทำหมู่ใครหมู่มัน ก็มามองดูว่ากิจกรรมที่จะทำให้เกิดความสามัคคีกันคืออะไร เราก็มองว่าวิถีชีวิตของคนที่นี่คือเขาคือทอผ้า เราจะใช้กิจกรรมทอผ้าเป็นตัวเชื่อม แล้วจะเป็นกิจกรรมอะไร ก็เลยบอกว่างานที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับคน เรื่องของประเพณีงานบุญเชื่อมง่าย ก็เลยมองที่จุลกฐิน เราก็เลยคิดว่าอยากจะมีเวทีทำจุลกฐินของทับคล้ายดูนะ เพราะที่นี่ทุกหมู่บ้านทอผ้าหมด” ปัญญา ขุนแท้ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านทัพคล้าย ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี “ความรู้สึกของเขา เขาก็ดีใจนะครับ ที่เราได้มีโอกาสร่วมกันทำงาน งานใหญ่นะครับ ถือว่าเป็นงานที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับชุมชนของเรา แสดงถึงความสามัคคีของเราให้คนอื่นได้เห็นนะครับ ว่าวัฒนธรรมของเรานั้นที่เราสืบสาน ไม่เสียเปล่า เราใช้วัฒนธรรมตรงนั้นดึงคนเข้ามารวมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นชุมชนของเราเอง ชุมชนอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงในตำบลของเราทั้ง 15 หมู่บ้าน ปัจจุบันนี้ก็ให้ความร่วมมือทุกหมู่บ้านครับ” บรรยาย งานจุลกฐิน ไม่ใช่เพียงร้อยใจให้คนมารวมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุรักษ์การทอผ้าแบบดั้งเดิม ทำให้คนในชุมชน ตระหนักและภาคภูมิใจในคุณค่าแห่งภูมิปัญญาที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษจนเกิดความรู้สึกผูกพันและมุ่งมั่นร่วมกันรักษาให้คงอยู่คู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน นิทัศน์ จันทร ประธานเครือข่ายผ้าทอ บ้านทัพคล้าย คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.อุทัยธานี “ในความคิดของผมนะ ผมคิดว่าถ้าหมดคนตั้งแต่รุ่นอายุ 40 ปีถึง50ปี รุ่นที่มีอยู่ปัจจุบันนี้ไป ผมคิดว่าเอกลักษณ์พวกนี้มันจะถูกเลือนหายไปทั้งหมดเลย จะไม่มีใครรู้ที่ไปที่มาและก็จะไม่มีใครเก็บข้อมูลตรงนี้ได้เหมือนกับชุมชนเราเอง ถ้าเราไม่ปลูกฝัง ถ้าเราไม่เริ่ม เพื่อที่จะเรียนรู้ของเราเองว่าทุนเดิมของเราจริงๆน่ะมันมีอะไรบ้าง ก็จะทำให้สิ่งเหล่านี้ลบเลือนหายไปได้เหมือนกัน อันนี้ก็ทำให้เราคิดได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องของเราจริงๆ คนในพื้นที่ของเราจริงๆไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้เท่าไร แต่กลับไปเผยแพร่ให้คนอื่นเขาสนใจเรื่องราวของบ้านเราเอง มันทำให้ฉุกคิดว่า คนอื่นแท้ๆที่ไม่ใช่คนของเราเอง เขากลับสนใจในเรื่องราวพวกนี้ แล้วทำไมคนเราเองไม่สนใจ ไม่ค้นคว้า เพื่อที่จะเก็บหลักฐานพวกนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ดูบ้าง” บรรยาย ที่อำเภอลานสัก ความพยายามในการเก็บรักษาสิ่งดีงามไว้ให้ลูกหลานอีกรูปแบบหนึ่งกำลังเกิดขึ้นป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ของชาวลานสักกว่า 4 หมู่บ้าน เพราะมีพื้นที่กว้างถึง 6,600 ไร่ แต่หากขาดการดูแลรักษา ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ อาจหมดไปอย่างรวดเร็วสมเกียรติ พูลเขตร์กรณ์ คณะกรรมการป่าชุมชนเขาหินเหล็กไฟ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี |
สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา |