องค์กรระดับชาติสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำ
ปัจจุบันประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ลักษณะเช่นนี้รวมทั้งระบบการจัดสรรงบประมาณที่ซับซ้อนในแต่ละหน่วยงาน ทำให้การวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำไม่อาจประสานงานกัน บางโครงการของหน่วยงานหนึ่งอาจมีผลกระทบต่อโครงการของหน่วยงานอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ คณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการแหล่งน้ำแห่งชาติขึ้น แต่คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ที่จำกัด โดยจะเน้นในด้านให้คำปรึกษาและกำหนดนโยบาย จะไม่ทำด้านการบริหาร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรจัดตั้งองค์กรระดับชาติสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำ ให้มีหน้าที่วางแผนและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และหน่วยงานอื่น การตั้งองค์กรดังกล่าวจะช่วยให้การใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น องค์กรระดับชาตินี้จะประสานงานด้านโครงข่ายของแหล่งข้อมูลทรัพยากร แหล่งน้ำ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านอุทกวิทยา และอุทกธรณีวิทยา แต่ยังไม่มีรูปแบบมาตรฐานในการตรวจวัด การบันทึก การเก็บรักษา และการวิเคราะห์ข้อมูล บางหน่วยจึงทำงานซ้ำซ้อนกัน
องค์กรบริหารจัดการน้ำของประเทศ
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบาย แผนงาน/โครงการควบคุมดูแล ติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
2. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มี 2 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการก่อสร้างแหล่งน้ำและบริหารจัดการระบบน้ำ เน้นเพื่อการเกษตรกรรมเป็นหลักได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน
3. กระทรวงมหาดไทย มี 3 หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม ได้แก่ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4. กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่พัฒนาบำรุงรักษาและบริหารจัดการเขื่อนเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
5. ภาคเอกชน มีบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (East Water) ได้รับสัมปทานโครงข่ายท่อส่งน้ำและให้บริการจำหน่ายน้ำดิบแก่ภาคอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
องค์กรประสานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชาติและระดับลุ่มน้ำ
เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดความสมดุลและเป็นเอกภาพ จึงมีการกำหนดคณะกรรมการทรัพยากรน้ำระดับชาติและระดับลุ่มน้ำขึ้น เพื่อบริหารจัดการน้ำในด้านนโยบาย การวางแผนพัฒนา และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ รวมทั้งประสานการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดังนี้
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนา จัดสรรและควบคุมการใช้น้ำและอนุรักษ์น้ำ
คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำ เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน โครงการ แนวทางแก้ไขปัญหา ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชน
คณะทำงานด้านวิชาการ ปัจจุบันมีคณะทำงานด้านวิชาการ 3 คณะ คือ คณะทำงานด้านแผนบูรณาการลุ่มน้ำ คณะทำงานด้านข้อมูล และคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
คณะทำงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ เสนอความต้องการแผนงาน/โครงการในการพัฒนาอนุรักษ์และฟื้นฟู การแก้ปัญหาอุทกภัยและคุณภาพน้ำ การประนีประนอมไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งในพื้นที่ลุ่มน้ำ |