ผู้เฒ่าเล่าความหลัง มิตรภาพตลอดกาลที่…ควนโนรี
เหตุร้ายรายวันที่พบเห็นอยู่ดาษดื่นตามรายงานข่าวสถานการณ์ปะยี่ห้อให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนแห่งความรุนแรง ให้ภาพราวกับว่าทุกตารางนิ้วของพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและศาสนา หรือไม่ก็เต็มไปด้วยผู้ฉวยโอกาส..
|
|
|
เหตุร้ายรายวันที่พบเห็นอยู่ดาษดื่นตามรายงานข่าวสถานการณ์ปะยี่ห้อให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนแห่งความรุนแรง ให้ภาพราวกับว่าทุกตารางนิ้วของพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและศาสนา หรือไม่ก็เต็มไปด้วยผู้ฉวยโอกาสโหนกระแสการก่อเหตุร้ายด้วยการก่อเหตุร้ายปิดบัญชีแค้นส่วนตัว
แม้ว่าเรื่องราวในพื้นที่แถบนี้จะเต็มไปด้วยความรุนแรง แต่ก็ใช่ว่าทุกอณูของพื้นที่จะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ข้อที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือความร้าวฉานของผู้คนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม อันเป็น “ความแตกต่าง” ที่นำมาสู่การเอาตัวออกห่าง และยกระดับไปสู่ความเป็นศัตรู ซึ่งเป็นมิติที่ลึกกว่าปรากฏการณ์รายวันที่เห็นกันอยู่ทุกวัน |

|
สายสัมพันธ์สองศาสนาผ่านสองผู้นำศาสนาทั้งสอง – โต๊ะอีหม่ามและเจ้าอาวาส
|
|
ทั้งๆ ที่ หลายพื้นที่ยังมีเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าอกเข้าใจที่ฝังลึกมาตั้งแต่อดีตกาล
หนึ่งในพื้นที่เหล่านี้คือ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
|
 |
“เมาะวามะ” และ “ยาย
แหล้ม” ในอริยาบทครื้นเครงน้ำหูน้ำตาไหลเมื่อย้อนความหลัง
|
|
“ยายแหล้ม” หรือ นางแฉล้ม คงทน และ “เมาะวามะ” หรือ นางนาวามะ กอแต เติบโตมาด้วยกันที่บ้านควนโนรี ทั้งคู่เป็นเกลอกันมาตั้งแต่เด็ก แม้วันเวลาลุล่วงจนเป็นสาวต่างคนต่างมีครอบครัว จวบจนสูงวัยมาถึงปัจจุบัน แต่ทั้งสองยังคงมิตรภาพไว้ได้อย่างยั่งยืน แม้ว่า “ยายแหล้ม” จะเป็นพุทธศาสนิกชน และ “เมาะวามะ” เป็นมุสลิม แต่ความแตกต่างของศาสนาไม่เป็นอุปสรรคใดๆในสายสัมพันธุ์ของมนุษย์คู่นี้ พอเล่าถึงสมัยเรียนประถมที่ทั้งสองเรียนอยู่ “ใต้ถุนสุเหร่า” เมื่อ 70 ปีก่อน ทั้งคู่ต่างหัวเราะกันจนน้ำหูน้ำตาไหล ทำให้บรรยากาศที่ดูเรียบๆมาตั้งแต่ต้น พลอยคึกครื้นขึ้นมาทันตา
|
นานกว่า 1 ปีแล้วที่เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดความร้าวฉานในชุมชน ซึ่งที่บ้านควนโนรีแห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากสมาชิกในท้องถิ่น 9 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์นองเลือดที่กรือเซะแล้ว ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นประปรายในพื้นที่เป็นระยะๆ ซึ่งทุกคนได้แต่คาดหวังถึงความสุขสงบอย่างคืนวันเก่าๆจะหวนกลับคืนมา แต่ความเป็นจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“ตอนเรียนเราก็ห่อข้าวไปกินด้วยกัน กับข้าวก็พวกปลาเค็ม พวกไข่ บ้านเราติดกัน” ยายแหล้มเป็นคนเล่า ขณะที่เมาะวามะได้แต่หัวเราะและพยักหน้า
“พอพักเที่ยงก็ไปขึ้นลูกค้อ เอามาเคาะกินเนื้อใน แย่งกันก็มี” คราวนี้เสียงหัวเราะดังลั่นกว่ารอบแรก พาผู้คนรอบข้างฮาลั่นครืนใหญ่
“เราก็พยายามให้ลูกหลานได้รู้จักกัน สนิทกันเหมือนพวกเรา” หญิงสูงวัยทั้งสองคนพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ความผูกพันเพื่อเชื่อมโยงให้คนรุ่นหลังเอาเป็นตัวอย่าง แม้ตอนแรกพวกแกจะยังกลัวๆกล้าๆและไม่รู้จะเริ่มต้นบอกเล่าอย่างไร แต่พอมีคนเริ่มถอยจุดประกาย ยายแหล้มก็สามารถเล่าเรื่องราวความสนุกในวัยเด็กเมื่อ 60-70 ปีก่อนได้อย่างคล่องแคล่ว สายตาที่แกมองมายังเมาะวามะส่องประกายถึงความผูกพันลึกซึ้ง |
เช่นเดียวกับ “หลวงพ่อเคลื่อน มะโนมา” เจ้าอาวาสวัดพลานุภาพ และ “โต๊ะอิหม่ามหะยีสะนิ วาเลง” สมาชิกคนสำคัญในชุมชนซึ่งเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่เด็ก ร่ำเรียนมาพร้อมกันที่ “โรงเรียนวัด” ในหมู่บ้าน จนเดี๋ยวนี้ทั้งคู่อายุ 74 ปีแล้ว แต่มิตรภาพตั้งแต่เด็กจวบจนบัดนี้ยังคงเหนียวแน่น
แม้ต้นไม้ของแต่ละคนต่างเติบโตในกระถางของตัวเองในการดำรงตนเป็นผู้นำศาสนาที่ตัวเองยึดมั่นและศรัทธา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอาวาสและโต๊ะอิหม่ามคู่นี้ไม่เคยเปลี่ยน
“ตอนหนุ่มๆ เราก็ทำนา ตัดยางด้วยกัน ปลูกผักปลูกหญ้าก็แบ่งกันกิน เราอยู่กันอย่างให้เกียรติ ไม่ว่าลูกใครจะเป็นพุทธหรือมุสลิม ถ้าทำตัวไม่ดีเราตีได้หมด ไม่มีใครว่ากัน”
“ยิ่งตอนเดือนรอมฎอนแบบนี้นะ เพื่อนเขาถือบวชกัน (ถือศีลอด) ตอนเย็นๆ อาตมาก็เดินดูตามบ้านเพื่อนมุสลิมเลยว่าบ้านไหนทำอะไรกินบ้าง ไม่ค่อยได้กินข้าวบ้านหรอก” เจ้าอาวาสวัดพลานุภาพเล่าให้ฟังอย่างครึกครื้น
มีบ้างบางช่วงระหว่างการสนทนา เจ้าอาวาสในวัยชราหันกลับไปฟื้นความหลังกับโต๊ะอิหม่ามในวัยเดียวกันด้วยภาษามลายูอย่างชัดถ้อยชัดคำ อาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับคนภายนอก ที่ไม่ค่อยเห็นคนไทยพุทธโดยเฉพาะนักบวชที่ได้รับความเลื่อมใสอย่างสูงสื่อสารด้วยภาษามลายูอย่างคล่องแคล่ว แต่สำหรับที่นี่เป็นเรื่องปกติของคนในหมู่บ้านนี้ ที่ใช้ถึง 3 ภาษาในการสื่อสาร คือ ภาษาไทยกลาง ภาษาถิ่นใต้ และภาษามลายู
“เขาพูดกันอย่างนี้ อาตมาก็พูดได้เหมือนกัน ไม่มีปัญหาอะไร” สาวกของพุทธองค์กล่าวพร้อมกลับไปคุยกับชาวบ้านอีก 2 – 3 ประโยค
ไม่แตกต่างกับ “เมาะวามะ” แม้ว่าตอนเด็กๆ จะใช้ภาษาถิ่นใต้ในการสื่อสารระหว่างเพื่อนๆ แต่เมื่อโตเป็นสาว กระทั่งถึงวัยชรา “เมาะวามะ” กลับถนัดที่จะพูดภาษามลายูมากกว่า ในขณะเดียวกันก็รับฟังภาษาไทยกลางและถิ่นใต้ได้อย่างชัดเจน สื่อสารโต้ตอบได้เป็นอย่างดี
วันนี้ผู้เฒ่าผู้แก่บ้านควนโนรีนั่งจับกลุ่มกันประมาณ 15 คนในโรงเรียนบ้านป่าไร่ อำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งมีนายพูนศักดิ์ พงษ์ธัญญะวิริยาผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ประสานเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสมานใจชุมชนให้กลับคืนมาดั่งเดิม โดยถ่ายทอดประสบการณ์อันงดงามของคนรุ่นก่อน แม้เป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ แต่สร้างความชุ่มชื่นได้ดีทีเดียว
|
 |
ยืนยันฟื้นสันติสุข
|
|
“หากเรายังแตกแยกกัน คงเป็นไปได้ยากที่เราจะกลับมาเหมือนเดิม เราต้องลืมเหตุการณ์ร้ายๆในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ควรเริ่มต้นกันใหม่ ถ้ายังตายกันฝ่ายละคน สุดท้ายแทบไม่เหลือใคร เหลือเพียงคนบงการผู้เดียวที่ยืนหัวเราะอยู่บนซากศพ” ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกอย่างมุ่งมั่น ซึ่งที่ผ่านมาเขาได้รับคำสั่งย้ายให้ไปอยู่ที่อื่น แต่เพราะความผูกพันที่ดีต่อชาวบ้าน และเสียงตัดพ้อในทำนอง “ทิ้งกันหรือ” ทำให้เขาลุกขึ้นฮึดอีกครั้ง โดยมีพระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม ผู้นำชาวบ้านและสมาชิกเข้าร่วมอย่างเทใจ
“ใครเอาด้วยขอให้ยกมือขึ้น” สิ้นเสียง ผู้ร่วมประชุมต่างยกมือ แม้บางคนจะช้าหน่อยเพราะต้องถ่ายทอดจากภาษาไทยเป็นภาษามลายูอีกครั้ง ทั้งยายแหล้มและเมาะวามะก็ไม่พลาด |
ยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน มิตรภาพจากรุ่นก่อนไม่สามารถถ่ายทอดสู่รุ่นหลังให้แนบแน่นดุจเดียวกันได้ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ช่องว่างของคนรุ่นหลังยิ่งถ่างออก จนกลายเป็นความหวาดระแวงขึ้นในชุมชน ทั้งๆที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างปรารภนาให้ความสุขสงบกลับมาเหมือนเดิม
ขณะที่สีเหลืองของจีวรของเจ้าอาวาสวัดและสีขาวจากเสื้อกูรงของโต๊ะอิหม่ามช่วยกันหล่อหลอมของชุมชนควนโนรีมาให้อยู่กันอย่างสันติสุขมายาวนาน และสามารถบ่มเพาะแก่นแท้ของชีวิตมาหลายช่วงอายุคน เพราะฉะนั้นจึงเกิดคำถามถึงคนรุ่นหลังว่าจะเลือกดำรงวิถีประชากันอย่างไร |
|
|
ที่มา ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
|
5 ตุลาคม 2548
|