ข้อเสนอรัฐธรรมนูญใหม่วงเล็บหนึ่งถึงวงเล็บสี่
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเขื่อน, โรงไฟฟ้า, นิคมอุตสาหกรรม, เอฟทีเอ, อุทยานแห่งชาติ, เหมืองโปแตช, เหมืองเกลือ, พนังกันน้ำท่วม, ฯลฯ ไม่เคยมี ส.ส.เข้าไปศึกษาเก็บข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนที่เคลื่อนไหวเลย …
การเมืองภาคประชาชนและสังคมกับรัฐธรรมนูญใหม่ |
ข้อเสนอรัฐธรรมนูญใหม่ จากวงเล็บหนึ่งถึงวงเล็บสี่ |
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
รัฐธรรมนูญใหม่ (1) ส.ส. พรรคการเมือง และการตรวจสอบของประชาชน ประชาธิปไตยกับการเมืองภาคพลเมือง ความเป็นประชาธิปไตยนั้นขึ้นอยู่กับการเมืองภาคพลเมืองมากกว่าการเมืองภาคนักการเมือง แม้กระนั้นสองส่วนนี้ก็เชื่อมโยงกัน อย่างชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ การจัดการเมืองภาคนักการเมืองในลักษณะที่พลเมืองสามารถตรวจสอบควบคุมได้ จึงเป็นแกนหลักของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จริงอยู่อำนาจและสมรรถภาพที่ประชาชนจะสามารถตรวจสอบควบคุมนักการเมือง ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเครื่องมือที่ดีอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย นับตั้งแต่เข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้รอบด้าน (มีสื่อที่ดี) ได้เรียนรู้ในชีวิตอยู่ตลอดเวลา (มีระบบการศึกษาเรียนรู้ที่ดี) และมีอำนาจจัดการทรัพยากรในระดับที่นักการเมืองต้องต่อรองอย่างจริงจังกับประชาชน (มีการกระจายอำนาจบริหารถึงมือประชาชนจริง) แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยาก หรือถึงเกิดขึ้นได้ ก็ทำงานถ่วงดุลได้ยาก หากไม่จัดการเมืองภาคนักการเมืองให้ตอบสนองต่อภาคพลเมืองอย่างได้ประสิทธิผล หน้าที่หลักของ ส.ส. คือผู้สะท้อนปัญหาที่เกิดในชีวิตจริง ส.ส.ควรมีจำนวนรวมเท่าไร และควรแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไร ไม่ควรมุ่งเป้าหมายที่ขจัดการซื้อเสียง, ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล หรือประกันความมั่นคงของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่หน้าที่หลักของ ส.ส.คือเป็นผู้สะท้อนปัญหาที่เกิดในชีวิตจริงของชาวบ้านให้รัฐและสังคมรับรู้ จนนำไปสู่การแก้ไข แทบจะกล่าวได้ว่า หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2500 เป็นต้นมา หน้าที่หลักอันนี้ของ ส.ส.หายไปหรือถูกลดความสำคัญในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ตามมา (ด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ ส.ส.ทำงานด้านนี้ได้ยากขึ้น เช่น ให้อำนาจพรรคในการกำหนดการทำหน้าที่ของ ส.ส.มากเกินไป เป็นต้น) ความเป็น ส.ส.หมายถึงคะแนนเสียงของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายค้าน สำหรับการชิงไหวชิงพริบกันทางการเมืองในสภาเท่านั้น และนี่คือ “ราคาและค่า” ของ ส.ส.ในการเมืองไทย ไม่ใช่ความเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตเลือกตั้งของตน ที่จะต่อรองกับคนกลุ่มอื่นจากฐานผลประโยชน์และโลกทรรศน์ของประชาชนอีกต่อไป ฉะนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ ส.ส.ย่อมกลายเป็นผู้นำของเครือข่ายอุปถัมภ์ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถคุมคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งของตนได้ด้วยเงินหรืออิทธิพล หาก ส.ส.ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล ย่อมสามารถดึงทรัพยากรส่วนกลางเข้ามาในท้องถิ่นได้สะดวกและมากกว่า หล่อเลี้ยงเครือข่ายอุปถัมภ์ของตนให้เติบโตเข้มแข็งขึ้น ในขณะที่ประชาชนย่อมมองไม่เห็นคุณค่าของ ส.ส.มากไปกว่า “ราคา” น่าสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเขื่อน, โรงไฟฟ้า, นิคมอุตสาหกรรม, เอฟทีเอ, อุทยานแห่งชาติ, เหมืองโปแตช, เหมืองเกลือ, พนังกันน้ำท่วม, ฯลฯ ไม่เคยมี ส.ส.เข้าไปศึกษาเก็บข้อมูลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนที่เคลื่อนไหวเลย (นอกจากเข้าไปในฐานะนายหน้าให้แก่โครงการ) ไม่ได้หมายความว่า ส.ส.ต้องเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านเสมอไป แต่ตัวแทนที่จะสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้แก่รัฐหายไปเช่นนี้ จะเหลือช่องทางอะไรให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากการประท้วงสาธารณะ ในขณะที่โครงการของรัฐย่อมถูกตัดสินบนฐานผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และมักเฉพาะกระเป๋าของบุคคลด้วย การทำหน้าที่เช่นนี้ของ ส.ส.ไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองแต่อย่างใด เราควรมองเสถียรภาพทางการเมืองให้กว้างกว่ามือที่ยกสนับสนุนรัฐบาลในสภา ฐานของเสถียรภาพของรัฐบาลที่แท้จริงอยู่ที่การสนับสนุนของประชาชน รัฐบาลทักษิณทำได้สำเร็จเป็นรัฐบาลแรก ด้วยวิธีทางการตลาดซึ่งมุ่งที่ความนิยมในสินค้าเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งประโยชน์สุขของผู้บริโภคเป็นธรรมดา ถ้าอยากจะลดอิทธิพลของวิธีทางการตลาดในการเมืองลงบ้าง ก็ต้องทำให้ ส.ส.เป็นตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม และสามารถสะท้อนปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาเพื่อการต่อรองในการวางนโยบายสาธารณะได้จริง เขตเลือกตั้งควรกว้างแค่ไหน จึงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ ส.ส.จะสามารถเข้าไปสัมผัสกับประชาชนได้โดยตรง ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่าเขตเลือกตั้งจะกว้างหรือแคบแค่ไหน การสร้างและรักษาเครือข่ายอุปถัมภ์ในปัจจุบันสามารถครอบคลุมได้เกือบทั้งนั้น (ขนาดสามารถซื้อ ส.ส.ได้เป็นหลายๆ จังหวัด) จึงไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายใดๆ ที่จะขจัดการซื้อเสียง (ทั้งโดยตรงและอ้อม) ได้จริง นอกจากทำให้นักการเมืองเป็นเครื่องมือการต่อรองที่แท้จริงของชาวบ้าน เมื่อนั้นก็ไม่มีใครอยาก “ขายเสียง” ด้วยเงินจำนวนน้อยนิดแค่นั้นอีกต่อไป ในส่วนการควบคุมพฤติกรรมของ ส.ส.ในสภา การ “ซื้อเสียง” กับการ “ขายตัว” เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน พรรคการเมืองคืออะไร ตลอดเวลาที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เราฝากการควบคุม ส.ส.ไว้กับพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองคืออะไร สรุปก็คือเอเย่นต์ของนายทุน หรือนายทุนรวมตัวกันตั้งพรรคขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง พรรคการเมืองนั่นแหละที่เป็นผู้รวบรวมทุนไว้สำหรับการ “ซื้อเสียง” กับซื้อนักการเมือง และพรรคการเมืองนั่นแหละที่เป็นนายหน้าสำคัญสำหรับการ “ขายตัว” ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะฝากการควบคุมพฤติกรรมของ ส.ส.ไว้กับพรรคการเมือง ยิ่งให้อำนาจพรรคการเมืองมาก ก็ยิ่งกีดกันมิให้ ส.ส.น้ำดีบางคนได้ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างได้ผล ในทางตรงกันข้ามไม่ได้ป้องกันมิให้นักการเมือง “ขายตัว” แต่อย่างใด หากกฎหมายบังคับให้ขายขาดในสี่ปี ก็ราคาแพงหน่อย หากกฎหมายอนุญาตให้ขายเป็นเรื่องๆ ได้ ก็ราคาถูกลงมาหน่อย ประเด็นว่ามี ส.ส.อิสระได้หรือไม่ จึงไม่เกี่ยวกับการ “ขายตัว” โดยตรง เพราะถึงอย่างไรก็มีการ “ขายตัว” เหมือนเดิม เพียงแต่ขายเหมาหรือขายปลีกเท่านั้น ฉะนั้นการเปิดให้มี ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคจึงไม่มีอะไรเสียหายมากไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่ยังอาจได้ข้อดีบางอย่างของ ส.ส.อิสระด้วย อำนาจของพรรคการเมืองเหนือ ส.ส.ควรมาจากของจริง ไม่ใช่บัญญัติของกฎหมายลอยๆ และของจริงที่ว่าก็คือชื่อของพรรคการเมืองต้องมีความสำคัญในการเลือกตั้งมากกว่าตัวบุคคล พรรคประชาธิปัตย์สามารถทำเช่นนั้นได้ในภาคใต้, พรรค ทรท.ทำได้ในภาคเหนือและอีสาน, แม้ว่าทั้งสองพรรคไม่ได้บริสุทธิ์จากการซื้อเสียงเสียทีเดียวนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อของพรรคมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเงิน ในระยะยาว พรรคการเมืองที่จะเหลือรอดอยู่ได้ต้องพัฒนาไปในทิศทางนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจเขียนรัฐธรรมนูญสนับสนุนให้พรรคการเมืองพัฒนาไปในทางนี้ แต่ไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจพรรคการเมืองประหนึ่งว่าพรรคการเมืองได้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ถ้าพรรคการเมืองเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ก็เกิดอำนาจในการควบคุม ส.ส.ของตนได้เอง โดยไม่ต้องมีกฎหมายรับรองสักฉบับเดียว ประชาชนควรมีส่วนในการตรวจสอบ ส.ส. เราไม่เคยไว้วางใจประชาชนว่าควรเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบ ส.ส.ที่ตนเลือกเข้าไป รัฐธรรมนูญ 2540 เปิดให้ประชาชน 50,000 คนเริ่มกระบวนการพิจารณาไต่สวน ส.ส.ได้ แต่กระบวนการพิจารณาไต่สวนหลุดจากมือประชาชนไปอยู่ในมือขององค์กรอิสระและวุฒิสภา ซึ่งประชาชนควบคุมอะไรไม่ได้เลย จึงควรคิดกลไกและกระบวนการอันหลากหลายที่ประชาชนจะสามารถเข้ามาคุม ส.ส.ได้โดยตรง และหนึ่งในกลไกกระบวนการดังกล่าวน่าจะเป็นการให้สิทธิการถอนคืนผู้แทน (ที่จริงควรรวมตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด) แก่ประชาชนโดยตรง เช่นประชาชนในเขตเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลงมติถอนคืนผู้แทนของตนได้ หากในการลงมติปรากฏว่า ส.ส.คนนั้นได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง เป็นต้น การย้ายพรรค, การ “ขายตัว”, การป่วนเพื่อเรียกเงิน ฯลฯ อาจทำได้ยากขึ้น เพราะอาจถูกประชาชนหรือฝ่ายตรงข้าม จัดการให้เกิดการลงมติถอนคืนได้ ในขณะเดียวกันก็บังคับให้ ส.ส.ต้องตอบสนองประชาชนในเขตเลือกตั้งของตนหลากหลายกลุ่มมากขึ้นกว่าเครือข่ายอุปถัมภ์ของตน ส.ส.อิสระหรือ ส.ส.สังกัดพรรคจะต้องอยู่ในความควบคุมของประชาชนมากขึ้น ส.ส.พรรคต้องมีภาระรับผิดชอบทั้งแก่ประชาชนและพรรคไปพร้อมกัน เพราะพรรคเป็นพลังช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง และพรรคย่อมมีพลังที่จะบั่นทอนคะแนนเสียงในการลงมติถอนคืนเหมือนกัน และนี่คืออำนาจควบคุม ส.ส.ของพรรคซึ่งโดยตัวของมันเองต้องถูกประชาชนตรวจสอบได้ตลอดเวลา ไม่ใช่อำนาจที่ได้จากกฎหมายโดยประชาชนไม่อาจตรวจสอบได้เลยว่า พรรคใช้อำนาจนั้นไปในทางฉ้อฉลหรือไม่เพียงใด ในทางตรงกันข้าม อำนาจของพรรคในการควบคุมการลงมติของ ส.ส.ในสภาก็ไม่จำเป็น ส.ส.อาจลงมติตามมโนธรรมของตนเอง หากเป็นมโนธรรมที่ดีและมีประโยชน์ต่อประชาชนจริง ส.ส.ก็กล้าที่จะเผชิญกับการลงมติถอนคืนตำแหน่งได้ เราควรเลิกทำให้การเลือกตั้งเป็นการแจกตั๋วให้ไปปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้ฟรีสี่ปีเสียที ผู้ได้รับเลือกตั้งไม่มีวันขาดจากการควบคุมดูแลของประชาชนตลอดไป |
รัฐธรรมนูญใหม่ (2) ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยประชาชน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ก่อนจะตัดสินใจว่า ควรมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือไม่ น่าจะหันกลับไปดูว่า ส.ส.ร.ชุด 2539 คิดถึงเรื่องนี้อย่างไร เหตุใดจึงกำหนดให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แม้ว่า ส.ส.ร.ชุดนั้นวิตกกังวลกับการซื้อเสียงในการเลือกตั้งมาก (เกินจำเป็นในทรรศนะของผม) แต่การกำหนดให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อไม่ได้มีเจตนาจะขจัดการซื้อเสียง เท่าที่ผมตรวจดูจากคำอภิปรายของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ และของสภาร่างฯ สรุปได้ดังนี้
และด้วยเหตุผลนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ จึงลงมติไม่รับข้อเสนอของสมาชิกบางท่าน ที่ให้ซอยบัญชีย่อยลง เป็นแต่ละภาคหรือแต่ละกลุ่มจังหวัด ทั้งๆ ที่ยอมรับว่า ระบบสื่อสารมวลชนของเราย่อมทำให้ประชาชนรู้จักแต่บุคคลจากส่วนกลางเท่านั้น แต่ยอมให้เติมข้อความว่าในการจัดทำบัญชีรายชื่อนั้นให้คำนึงถึงการกระจายไปทุกภูมิภาคอย่างเป็นธรรม (น่าสังเกตว่าไม่ได้พูดถึงการกระจายตามเพศและกลุ่มอาชีพ) |
รัฐธรรมนูญใหม่ (3) การตรวจสอบ ประชาพิจารณ์ และสิทธิด้านข้อมูลข่าวสาร การตรวจสอบถ่วงดุลโดยกลไกการเมือง และภาคประชาสังคม ปัญหาที่วิตกกันมากในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คือ หากฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็ง จะถูกตรวจสอบได้อย่างไร? รัฐธรรมนูญ 40 ได้สร้างกลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารเอาไว้ดีพอสมควร คือองค์กรอิสระและวุฒิสภา ในขณะที่เปิดให้ประชาชนสามารถผลักดันการตรวจสอบได้บ้าง เช่น ยื่นถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางตำแหน่ง แต่ก็ยังต้องอาศัยมือขององค์กรอิสระและ/หรือวุฒิสภาในการถอดถอนอยู่นั่นเอง อาจนับว่าเป็นครั้งแรกในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ความต้องการมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ไม่ได้เกิดจากความต้องการผดุงอำนาจของกลุ่มเผด็จการให้ยั่งยืน แต่เพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศต้องเผชิญตลอดมา คือรัฐบาลขาดเสถียรภาพและกำลังพอจะริเริ่มนโยบายใหม่ๆ หรือปรับปรุงแก้ไขปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน ต้องปล่อยให้ปัญหาหมักหมมและยุ่งเหยิงซับซ้อนมากขึ้นตลอดมา อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 40 เป็นเงื่อนไขแรกของการ “ปฏิรูปการเมือง” คือวางกติกาที่จะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นธรรมดาที่ในการปฏิรูป ย่อมมีแรงเสียดทานจากฝ่ายที่เสียผลประโยชน์อยู่ไม่น้อย รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจึงออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งเพื่อนำการปฏิรูป ความหวังของผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกลไกที่จัดวางไว้ไม่บรรลุเป้าหมาย การปฏิรูปที่แท้จริงไม่เกิดขึ้นมากไปกว่า การเบนงบประมาณไปยังคนระดับล่างมากขึ้น เพื่อสร้างฐานมวลชนสำหรับพรรคการเมือง โดยไม่แตะด้านโครงสร้างที่ทำให้คนระดับล่างเสียเปรียบเลย ในขณะที่กลไกที่จัดวางไว้เพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารถูกอำนาจทางการเมืองและเงินแทรกแซง จนไม่ทำงานอย่างที่ควร วุฒิสภาซึ่งมีหน้าที่แต่งตั้งองค์กรอิสระเองก็ถูกแทรกแซง จนกระทั่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระกันตามใบสั่ง ฉะนั้น วุฒิสภาจึงเป็นเป้าสำคัญที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันมุ่งจะแก้ไขปรับเปลี่ยนมากที่สุด ในขณะที่วางแผนจะให้สมาชิกขององค์กรอิสระมีที่มาหลากหลายทางมากขึ้น สิ่งที่รัฐธรรมนูญ 40 จัดวางการตรวจสอบถ่วงดุลไว้อีกทางหนึ่ง แต่ก็ทำด้วยความลังเล คือภาคประชาสังคม รัฐธรรมนูญฉบับนั้นให้สิทธิแก่ประชาชนในการริเริ่มกระบวนการตรวจสอบได้ แต่เมื่อกระบวนการเริ่มขึ้นแล้ว ก็จะหลุดจากมือของประชาชนไป อีกด้านหนึ่งคือประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น, การตรวจสอบถ่วงดุลโครงการของรัฐ, สิทธิการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล, การสื่อสารสาธารณะ อันที่จริงกลไกการตรวจสอบขององค์กรอิสระก็ตาม ของพรรคการเมืองก็ตาม ของสื่อเชิงพาณิชย์ก็ตาม ของฝ่ายตุลาการก็ตาม ทำงานได้ผลก็ต่อเมื่อมีภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระและเข้มแข็งในการตรวจสอบควบคู่กันไป และภาคประชาสังคมเท่านั้นที่สามารถตรวจสอบผู้ตรวจสอบได้ ในขณะที่ตระหนักถึงความล้มเหลวของกลไกการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญ 40 แต่ความตระหนักถึงความสำคัญของภาคประชาสังคมในฐานะพลังการตรวจสอบที่สำคัญที่สุดกลับมีไม่สู้มากนัก ฉะนั้น ไม่ว่าจะวางกลไกการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญใหม่ไว้อย่างไร หากไม่คิดสร้างพลังของภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง ก็แน่ใจได้เลยว่ากลไกใหม่นั้นจะล้มเหลวอีก ฉะนั้น รัฐธรรมนูญใหม่จึงควรออกแบบให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งขึ้น มีบทบาทในการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ, และองค์กรอิสระต่างๆ ได้โดยตรงและใกล้ชิดขึ้น กลวิธีที่จะทำเช่นนั้นคงมีหลายประเภทซึ่งต้องร่วมกันคิดให้ดี เช่นกระบวนการตรวจสอบที่ฝ่ายประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม ควรมีทางดำเนินไปได้หลายทาง บางเรื่องอาจสิ้นสุดลงแค่การริเริ่ม บางเรื่องก็อาจดำเนินต่อไปในกระบวนการตรวจสอบโดยตรง บางเรื่องก็อาจนำไปสู่การเรียกคืนตำแหน่ง ฯลฯ สิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวต้องได้รับการประกันอย่างแข็งขัน การละเมิดสิทธิเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องอุกฉกรรจ์ เช่น กรณียกกำลังตำรวจเข้าทำร้ายประชาชนที่ต้องการยื่นหนังสือถึงนายกฯ ที่หาดใหญ่ ฝ่ายการเมืองและองค์กรอิสระอาจมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโดยตรง และอาจตั้งข้อกล่าวหาและพิสูจน์ ซึ่งทำให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีมหาดไทย ต้องออกจากตำแหน่งตามกฎหมาย กระบวนการประชาพิจารณ์ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสิทธิการสื่อสาร กระบวนการประชาพิจารณ์ต้องมีความโปร่งใส การตั้งกรรมการทำประชาพิจารณ์อาจไม่ใช่อำนาจเด็ดขาดของฝ่ายบริหาร คำให้การและผลการประชาพิจารณ์ต้องเผยแพร่แก่สาธารณชนโดยเร็ว การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการขนาดใหญ่ รัฐต้องสนับสนุนการเงินให้ฝ่ายประชาชนในพื้นที่สามารถจ้างนักวิชาการทำอีกฉบับหนึ่งควบคู่กันไป ฉะนั้น สัญญาโครงการก็ตาม ตัวรายละเอียดของโครงการก็ตาม จึงต้องเปิดเผยแก่สาธารณะมาแต่ต้น รวมทั้งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (และสุขภาพ) ก็ควรจะเปิดเผยเช่นกัน สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ต้องทำให้เกิดผลจริงจัง ไม่เฉพาะแต่ภาคราชการเท่านั้น ข้อมูลข่าวสารของฝ่ายนิติบัญญัติเองก็มีความสำคัญในการเพิ่มอำนาจตรวจสอบของประชาชน รายงานการประชุมสภาและการลงมติของ ส.ส.แต่ละคนต้องเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ แม้รายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการก็ต้องเผยแพร่ เช่นเดียวกับการบริหารงานของ อปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ต้องเปิดเผยได้ทุกเรื่อง และประชาชนในท้องถิ่นสามารถตรวจสอบได้เสมอเช่นกัน เพราะในขณะที่เราควรเพิ่มบทบาทของ อปท. โดยเฉพาะในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เราก็ควรเพิ่มอำนาจประชาชนท้องถิ่นในการตรวจสอบ อปท.เช่นกัน ไม่เฉพาะแต่การตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสารเท่านั้น หากต้องรวมถึงการให้อำนาจตัดสินใจโดยตรงในเรื่องการจัดการทรัพยากรแก่ประชาชนด้วย ใช้ประชาธิปไตยทางตรงในทุกกรณีที่ทำได้ ฉะนั้น การอนุมัติให้คนภายนอกมาใช้ทรัพยากรท้องถิ่นระดับตำบล จึงต้องเป็นประชามติ ไม่ใช่ที่ประชุม อบต.เท่านั้น สิทธิการสื่อสารสาธารณะของประชาชนต้องทำให้เกิดผลในทันที ไม่ว่าจะเป็นการทำวิทยุ (หรือแม้โทรทัศน์ ซึ่งในอนาคตก็จะต้องเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลอยู่แล้ว) หรือหนังสือพิมพ์, ใบปลิว, และสื่ออินเตอร์เน็ต โดยฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวที่จะบังคับควบคุมตามใจชอบ หากต้องมีกรรมการและอนุกรรมการที่มาจากหลายฝ่ายเป็นผู้กำหนดแนวทางให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติ มีหนทางที่จะเพิ่มกำลังความสามารถในการตรวจสอบควบคุมภาคประชาสังคมได้อีกหลายอย่าง ซึ่งควรร่วมกันคิดให้ดี และทำให้ภาคประชาสังคมเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการตรวจสอบฝ่ายการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ หรือองค์กรที่ทำงานสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรม หรือองค์กรที่ให้บริการ ตราบเท่าที่ยังไม่ทำให้สังคมเข้มแข็งพอจะเข้ามาเป็นตัวหลักในการเมือง ไม่ว่าจะออกแบบให้องค์กรอิสระและวุฒิสภามีความสลับซับซ้อนอย่างไร องค์กรเหล่านี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารที่ชนะคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดได้ เพราะไม่มีชนชั้นนำในสังคมอะไรในโลกนี้ ที่จะทำงานเพื่อมวลชนข้างล่าง หากมวลชนเป็นเพียงผู้ไร้อำนาจและไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการพึ่งพิง ปัญหาจริงๆ จึงกลับมาอยู่ที่ว่า ผู้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในเวลานี้ มีความศรัทธาต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด หากยังมองเห็นเขาเป็นคนอ่อนแอ, ไร้การศึกษา, โง่, ขายเสียง, ฯลฯ อย่างที่เป็นอยู่ รัฐธรรมนูญใหม่ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญแห่งการอบรมปกป้อง (tutelage) สืบต่อระบอบอาณานิคมภายใน ซึ่งสงวนอำนาจไว้แก่คนชั้นนำส่วนน้อย ประหนึ่งว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ไม่เคยมีในโลก |
รัฐธรรมนูญใหม่(4) รัฐธรรมนูญที่กินได้ รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม เรียกร้อง “รัฐธรรมนูญที่กินได้” เป็นความเข้าใจผิดของผู้นำคณะรัฐประหารที่คิดว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ดีอยู่แล้ว เสียแต่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญไม่ดี เพราะผู้ใช้รัฐธรรมนูญไม่ได้มีแต่นักการเมือง ประชาชนทั้ง 60 ล้านคน รวมทั้งตัวผู้นำคณะรัฐประหารด้วย ก็มีส่วนใช้รัฐธรรมนูญร่วมกันทั้งสิ้น และในแง่นี้ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ประชาชนระดับล่างได้หยิบมาใช้มากเท่าฉบับ 2540 ในการต่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือของเอกชน ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ประชาชนได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ทั้งการตั้งข้อเรียกร้องต่อรัฐหลายต่อหลายครั้ง ก็ทำและอ้างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แม้เป็นคดีในศาลก็ยังใช้รัฐธรรมนูญในการปกป้องสิทธิของตนเอง ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เข้าใจประเด็นนี้ ก็จะมัวให้ความใส่ใจแต่กับการเมืองในระบบ ซึ่งมีผู้ “ใช้” อยู่ไม่ถึง 10,000 คนทั้งประเทศ ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ก็อาจกล่าวได้ว่าอายุไม่ยืนอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งเกิดในประเทศไทยได้ ประชาชนระดับล่างเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญที่กินได้” นั่นคือรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น อันที่จริงรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คำนึงถึงประเด็นนี้พอสมควร แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (หากต้องการให้ดำรงอยู่ได้จริงนอกอำนาจของกองทัพ) จะต้องผลักดันประเด็นนี้ให้เด่นชัดและก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก โดยจะตราเป็นบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยตรง หรือตราเป็นแนวทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องเทคนิค ซึ่งมีผู้รู้สามารถจัดการได้ สิทธิและอำนาจของประชาชน 5 ประการในรัฐธรรมนูญใหม่ ในความเห็นของผู้เขียน เมื่อคำนึงถึงสภาพที่เป็นจริงในหมู่ประชาชนระดับล่าง และความเป็นไปได้ในการปฏิบัติของประเทศไทย มีสิทธิและอำนาจของประชาชน 5 ประการที่รัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และผูกมัดให้ต้องปฏิบัติ
รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม |
ที่มา : มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน |