ข่าวการสัมมนาโต๊ะกลม ชำแหละร่างพรบเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….
ชำแหละ! กฎหมายตั้งเมืองเทวดา ที่ประชุมเห็นร่วม “รับไม่ได้” รวบอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งหมดที่ไว้เขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วกำหนดเขต “กฎหมายห้ามเข้า” บรรเจิดชี้ เมืองเทวดาขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักประชาธิปไตย ขัดหลักการจัดองค์กรที่ดี ส่อแววการปฏิวัติ
ข่าวการสัมมนาโต๊ะกลม “ชำแหละร่างพรบเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ….” ที่วุฒิสภา
วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
ชำแหละ! เขตเศรษฐกิจพิเศษ
รวบอำนาจ ห้ามกฎหมายเข้า |
|
|

|

|
|
|
ร่วมชำแหละกฎหมายตั้งเมืองเทวดา ที่ประชุมเห็นร่วม “รับไม่ได้”
รวบอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งหมดที่ไว้เขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วกำหนดเขต
“กฎหมายห้ามเข้า” บรรเจิดชี้ เมืองเทวดาขัดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักประชาธิปไตย
ขัดหลักการจัดองค์กรที่ดี ส่อแววการปฏิวัติ
จากงานสัมมนาโต๊ะกลมเรื่อง ชำแหละร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่วุฒิสภา
เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๔๘ จัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีผู้เข้าร่วมประชุมคับคั่ง
ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าในสมัยปี ๑๙๓๐ ประเทศเยอรมันซึ่งเดิมเป็นมลรัฐ พอเข้าสู่สมัยของฮิตเลอร์ ระบบการปกครองเปลี่ยนเป็นรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พรรคนาซี และออกกฎหมายให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของฮิตเลอร์แต่เพียงผู้เดียว ท้ายสุด กฎหมายฉบับนี้นำไปสู่การล่มสลายของประเทศเยอรมัน และสงครามโลกในเวลาต่อมา ซึ่งหากพิจารณาจากร่างกฎหมายฉบับนี้เชื่อมโยงกับมาตรา ๑๐ ของร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ที่แก้ไขให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจบริหารรับผิดชอบแทนคณะรัฐมนตรีทั้งหมดได้ เนื้อหาลักษณะนี้ เชื่อมต่อกับร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่สร้างระบบเผด็จการรัฐสภา โดยรวบอำนาจไว้ที่คนเพียงคนเดียว
ดร.บรรเจิดกล่าวถึงมุมมองที่มีต่อกฎหมายฉบับนี้ไว้ ๔ ประเด็น คือ
หนึ่งร่างพรบ.ดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ๗-๘ มาตรา ซึ่งนายสักเรียกว่า เป็นการเอาข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญ มาเป็นหลักของกฎหมาย และขัดต่อหลักการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งอรทัย ก๊กผล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจหน้าที่อยู่ในความดูแลของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยยกเว้นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่เข้าใจว่า เมื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะยังคงมีบทบาทใด
“นี่คือเทคนิคในการร่างกฎหมายของผู้มีกระบวนยุทธ เพราะหากจะยกเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะกระทบต่อความรู้สึกและทำได้ยาก จึงเขียนกฎหมายให้ยังคงองค์กรไว้ แต่ไม่ให้มีอำนาจใดๆ แทน” นายบรรเจิดกล่าว
ทั้งนี้ ดร.อรทัย ก๊กผล กล่าวว่า ร่างพรบ.ดังกล่าวสวนทางกับทิศทางของรัฐธรรมนูญ ที่เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนโดยเพิ่มอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ กลับลดทอนอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นเอง
ประเด็นที่สอง กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักประชาธิปไตย ในหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีหลักว่า
สาระสำคัญของกฎหมายต้องผ่านรัฐสภา แต่อำนาจดังกล่าวของฝ่ายนิติบัญญัติถูกช่วงชิงไป เช่น
เรื่องของการเก็บอัตราภาษี กรณีในเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ข้ามอำนาจ ซ้ำยังเขียนกฎหมายแบบเติมช่องว่างไว้ รอให้มีการจัดตั้งแล้วให้กำหนดเองได้ ซ้ำแล้วเกณฑ์ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจก็ไม่มีระบุไว้เลย นั่นคือ เปิดช่องให้กระทำการได้ตามอำเภอใจ
ประเด็นที่สาม ขัดต่อหลักการจัดองค์กรที่ดี คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้อำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จแก่ ประธาน ซึ่งคือนายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ ยังขัดต่อหลักการจัดการที่ดี เพราะไม่มีการคุ้มครองสิทธิ และไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบใดๆ
ประเด็นสุดท้าย คือ ร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการปฏิวัติเงียบ เพราะกำหนดเขตกฎหมายห้ามเข้า แล้วยังรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่คนเพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ทั้งอำนาจในการตรากฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย และอำนาจตัดสินทางตุลาการ รวมทั้งบังคับคดี
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการนโยบายยุทธศาสตร์ฐานทรัพยากร แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาใหญ่ที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เรื่องการได้มาซึ่งที่ดินของเขตเศรษฐกิจ เป็นที่น่าตกใจว่า ที่ดินทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของราชการ ของเอกชน คลอบคลุมไปถึงที่ธรณีสงฆ์ สามารถอยู่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ และคำถามใหญ่คือ คนที่อยู่เดิมในพื้นที่ ก่อนจะมีการประกาศจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจจะทำอย่างไร ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ระบุทำนองว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจเข้ารื้อถอนได้
ในส่วนของผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อ. เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ชี้ว่า โดยปกติ การจัดทำโครงการใดๆ ต้องมีการศึกษาถึงจุดวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ที่จะกระทบต่อพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าการทำอีไอเอ แต่ในตัวร่างนี้ ไม่กำหนดอะไรเลย เพียงให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ ศึกษาความเป็นไปได้และผลประโยชน์ ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ ต้องมีกระบวนการพิจารณาด้านกฎหมายตั้งแต่ขั้นตอนก่อนที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ
นายเจริญ คัมภีรภาพ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาแล้วและพยายามผลักดันในกระบวนการเจรจาการค้าเสรีแบบทวิภาคี (เอฟทีเอ) แต่เหตุใดที่เอฟทีเอยังไม่ทันเริ่ม ก็ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา
ซึ่งนี่คือเทคนิคในการรวบรัดอำนาจ เพื่อใม่ให้สภาสามารถตรวจสอบการประกอบการใดๆได้ ตามรธน.มาตรา ๒๒๔
นายสัก กอแสงเรือง สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า แม้หลักการอันเป็นที่มาของกฎหมายฉบับนี้ กล่าวอ้างไว้ว่า
เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ในเอกสารการของฝ่ายคณะวิจัย แทบไม่มีหน้าใดที่กล่าวถึงประโยชน์ของประชาชนหรือประเทศ ซ้ำยังปรากฏว่า ออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของคณะรัฐมนตรี ที่เคยปรารภว่าจะดำเนินการตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดเชียงราย เมืองใหม่ที่นครนายก รวมไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ทางการนิคมอุตสาหกรรมจึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ทำวิจัยศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เอื้อต่อการทำโครงการแบบOne Stop Service โดยศึกษาจากต่างประเทศที่มีเขตพิเศษ เช่น เสิ่นเจิ้น ดูไบ รัสเซีย จอร์แดน ฯลฯ ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัท สำนักงานกฎหมายมีชัย ฤชุพันธุ์ จำกัด ในราคา ๖ ล้านบาท
“ที่ว่าศึกษาจากประเทศต่างๆ นั้นไม่ใช่บทเรียน แต่เป็นเพียงวิธีการ ว่าเขาทำอย่างไร แต่ไม่ได้ดูถึงผลกระทบ มีเพียงทีบอกว่าได้ผลดีคือที่เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน แต่ก็คือผลดีเรื่องเศรษฐกิจขยายตัว ไม่ได้พูดเลยว่าผลกระทบที่เกิดกับคนที่นั่นเป็นยังไง” ผศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว
ด้านผลกระทบต่อมนุษย์นั้น นายพิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้อำนาจรัฐในการจัดการพื้นที่มีมานานแล้ว แต่ทำไมจึงต้องออกร่างพรบ. ฉบับนี้ออกมา และงานวิจัยนี้อยู่บนฐานอ้างอิงของเอกชน ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีหลักคิดที่มุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพทางภาคธุรกิจ มากกว่าผลกระทบต่อชุมชน และเนื้อหาในกฎหมายที่เปิดให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ไม่ตอบคำถามว่าความเป็นมนุษย์จะได้รับการดูแลอย่างไร เพราะขณะที่ยอมให้ไม่ใช้การแบ่งเขตแดนในการทำโครงการ แต่กลับจัดการคนกลุ่มหนึ่งไม่ให้เคลื่อนย้ายพื้นที่ ยอมให้เงินไหลเร็วแต่กลับมีมาตรการกีดกันไม่ให้คนเคลื่อนไปมา
ทั้งนี้ ขั้นตอนของร่างกฎหมายนี้เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๔๘ อยู่ในขั้นการตรวจสอบของกฤษฎีกา ซึ่งปรากฏว่าบุคคลที่ทำหน้าที่ตรวจ มีคนสองคนซึ่งก็เป็นคณะวิจัยที่ร่างกฎหมายนี้ขึ้น และหนึ่งในนั้นคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์
“คงต้องช่วยกันคิดว่า ทำยังไงถึงจะหยุดกฎหมายฉบับนี้ได้ อย่าให้แม้แต่เข้ามาในสภา เพราะไม่งั้นมันผ่านฉลุยแน่ เพราะวุฒิสภาก็ไม่มีน้ำยาอะไร” นายพนัส ทัศนียานนท์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตากกล่าว
นายสักกล่าวว่า การที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านมติครม.เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคมที่ผ่านมา น่าจะบ่งบอกถึงนัยยะในการประกาศนโยบายต่อประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งหากได้รับเลือกแล้วก็จะเหมารวมว่า เสียงของประชาชน ๑๑ ล้านคนเลือกมา
และคะแนนที่ได้รับก็เพื่อยอมให้ตนดำเนินการดังกล่าวเหมือนที่เคยอ้างไว้
ดร.บรรเจิดกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ ยกเว้นหลักนิติรัฐ (รัฐที่มีกลไกกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ใช้ในการบริหารจัดการประเทศ) ซึ่งเป็นทิศทางการปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ อย่างไรก็ดี เนื้อหาในกฎหมายที่ปรากฏ เป็นเพียงอาการของโรค
สิ่งที่ต้องทำคือยุติร่างพรบ.ฉบับนี้ แต่หากจะแก้ปัญหาจริง ไม่ใช่แก้ที่ความหยุมหยิมในกฎหมาย แต่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือต้องล้มล้างเผด็จการรัฐสภา
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา
กล่าวสรุปการสัมมนาไว้สามประเด็นคือ
หนึ่งมติครม.ที่เห็นชอบในร่างกฎหมายดังกล่าว ละเมิดอำนาจอธิปไตยของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ เป็นการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ สอง การยอมให้เปิดการค้าเสรีโดยให้ทุนต่างชาติ ทุนในประเทศ และฝ่ายการเมืองเข้ามา ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนธรรม วิธีคิดในระบบเศรษฐกิจชุมชน และสาม มองในมิติด้านพื้นที่แล้ว ถือเป็นการรวบอำนาจ มองไม่เห็นถึงสิทธิของชุมชน ทั้งหมดนี้ ทำให้ความมั่นคงของสังคมไทยเกิดปัญหา
ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า
ในส่วนของวุฒิสภาจะประชุมร่วมกับประธานทุกคณะกรรมาธิการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าว
และจะลงพื้นที่เพื่อทำงานกับภาคประชาชน ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นต่อมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบร่างพรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ |