ประเภทความรู้
ความรู้อาจแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ความรู้ที่เด่นชัด เป็นความรู้ที่อยู่ในรูปแบบที่เป็นเอกสาร ตำรา คู่มือต่างๆ หรือวิชาการ ส่วนความรู้อีกประเภทหรือ คือ ความรู้ซ่อนเร้น เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวบุคคล เป็นประสบการณ์ที่ถูกสั่งสมายาวนาน เป็นภูมิปัญญา ซึ่งความรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้จะมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันดังนี้
1. ความรู้ที่เด่นชัด (Explicit Knowledge) การจัดการความรู้ประเภทนี้นั้นจะเน้นที่การเข้าถึงแหล่งความรู้ ตรวจสอบ และตีความได้ เมื่อนำไปใช้แล้วเกิดความรู้ใหม่ก็นำมาสรุปไว้เพื่อใช้อ้างอิงหรือให้ผู้อื่นเข้าถึงได้
2. ความรู้ซ่อนเร้น (Tacit Knowledge) การจัดการความรู้จะเน้นไปที่การจัดเวทีเพื่อให้มีการแบ่งปันความรู้ที่อยู่ในตัวผู้ปฏิบัติ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน อันนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ที่แต่ละคนสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานต่อไปได้
ในชีวิตจริงความรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้จะเปลี่ยนสภาพสลับปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา และในการประยุกต์ใช้นั้นควรทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้ง 2 ความรู้ควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน
การจัดการความรู้ที่ทาง สคส. ได้ดำเนินการนั้นใช้โมเดล “ปลาทู” เป็นโมเดลง่ายๆที่เปรียบการจัดการความรู้เหมือนปลาทู 1 ตัว แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ
1. หัวปลา (Knowledge Vision : KV) หมายถึง ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ โดยก่อนที่จะทำการจัดการความรู้ต้องตอบให้ได้ว่า “เราจะจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร?”
2. ตัวปลา (Knowledge Sharing : KS) เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้โดยเฉพาะความรู้ที่ซ่อนเร้น (ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล เช่น ทักษะพิเศษ,ภูมิปัญญาต่างๆ เป็นต้น) โดยอาศัยบรรยายกาศการพูดคุยแลกเปลี่ยนให้เกิดการหมุนเวียนความรู้ หรือการยกระดับความรู้
3. หางปลา (Knowledge Assete : KA) เป็นส่วนของคลังความรู้หรือขุมความรู้ ที่ได้จากการสะสมเกร็ดความรู้ ที่เกิดจากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในช่วงตัวปลา เมื่อเราสามารถสกัดเกร็ดความรู้ต่างๆออกมาเป็นความรู้ที่เด่นชัดได้ ก็จะสามารถนำความรู้นั้นไปเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับการเรียนรู้ต่อไป
ซึ่งในการดำเนินกิจกรรมแต่ละขั้นทั้ง 3 ขั้นตอนนั้น จำเป็นต้องมีผู้ดำเนินการที่มีบทบาทสำคัญที่จะดำเนินการจัดการความรู้ให้เกิดขึ้นได้ คือ คุณเอื้อ คุณกิจ และคุณอำนวย โดยคุณเอื้อ (Chief Knowledge Officer :CKO) จะเป็นผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือให้เกิดหัวปลาขึ้นมา โดยนำเสนอหัวปลาให้กับผู้บริหารเพื่อให้ผู้บริหารเป็นเจ้าของหัวปลาให้ได้ ต่อมาจึงสรรหาคุณอำนวย (Knowledge Facilitator : KF) ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ ทำหน้าที่เป็นนักจุดประกายความคิดและนักเชื่อมโยงระหว่างผู้ปฏิบัติ(คุณกิจ) กับผู้บริหาร (คุณเอื้อ) สำหรับผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ถือได้ว่าเป็นพระเอกหรือนางเอกของการจัดการความรู้ คือ คุณกิจ (Knowledge Practitioner : KP) เพราะเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมจัดการความรู้ประมาณร้อยละ 90-95 ของการจัดการความรู้ทั้งหมด คุณกิจถือว่าเป็นเจ้าของหัวปลาที่แท้จริง และเป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หา สร้าง แปลง ความรู้เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุถึงเป้าหมายหรือหัวปลาที่ตั้งไว้ และสิ่งสำคัญบุคคลที่พึงระวังคือ คุณอำนาจ ที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นในการจัดการความรู้ เพราะอาจจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการแบ่งปันประสบการณ์ได้
|