ป่า 40% หมกมุ่นในเป้าหมาย หรือวิธีการ “ตอนที่ 1 ว่าด้วยคำถาม”

Share Post :

๓  ทศวรรษกับความเชื่อและนโยบาย ว่าประเทศนี้ต้องมีป่า ๔๐%ของพื้นที่จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ  ๓๒๑ ล้านไร่ คือ ๑๒๙ ล้านไร่ จุดเริ่มต้นในมติ ครม. ปี ๒๕๒๘ ตามข้อเสนอของกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ  แปลกใจไหม?
ที่สังคมไทย ไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมต้องป่า ๔๐% และเหลือ ๖๐% เป็นอะไร
ป่าไม้ไทย
สำหรับผมแล้ว ไม่แปลกใจกับการไม่ตั้งคำถาม เพราะคนไทยไม่คุ้นกับการตั้งคำถามต่อนโยบายรัฐ แต่แปลกใจในตัวเลข ป่า ๔๐% และใน ๔๐%ช่วงเริ่มต้น เป็นป่าอนุรักษ์ ๑๕% ป่าเศรษฐกิจ ๒๕% แต่แล้วต่อมากลับ ตัวเลขป่าอนุรักษ์ ๒๕ %ป่าเศรษฐกิจ ๑๕% ซึ่งผมเชื่อว่ามีคนสงสัย และตั้งคำถามแบบผมอยู่ไม่น้อย และแน่นอนว่าข้อสงสัยของผม ไม่ใช่ปกติ ภาวะของสังคมไทยที่ไม่ค่อยตั้งคำถาม
เหตุที่ไม่แปลกใจที่สังคมไทยไม่ตั้งคำถาม เพราะคนไทยชอบทำอะไรตามๆกันอย่างไม่รู้  ซึ่งเป็นข้อสรุปสภาวะวิสัยของคนไทยจากคนญี่ปุ่นโดยค้นพบจากหุ่นขี้ผึ้ง  เรื่องพิพิธภัณฑ์ไทยในญี่ปุ่น นำเสนอภาพทารกคนไทยสมัยก่อนวางอยู่ในกระด้งท่ามกลางหมู่ญาติพี่น้องผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนยืนจับกระด้งร่อนด้วยรอยยิ้ม สุขใจ เขาบอกว่า นี่คือ “สังคมไทย”
หากค้นลึกลงไปเป็นภูมิปัญญาอันฉลาดของสังคมไทยที่วางชนบทปฏิบัติไว้ว่าการคลอดบุตรมาได้และรอดชีวิตเป็นเรื่องน่ายินดี ญาติพี่น้องจะมาชื่นชม จึงจับเด็กมาใส่กระด้ง เพื่อรับขวัญด้วยแม่โพสพ  นัยว่าถ้าให้อุ้มทุกคนอาจเป็นอันตราย ทั้งติดเชื้อและพลัดตกได้ จึงเอาภาชนะที่สะอาดเรียบ กว้างใหญ่มาใส่ทารกให้ทุกคนได้ชื่นชมโดยไม่ต้องแตะต้องตัว  ตั้งแต่คนแรกได้คิดด้วยความชาญฉลาด และวางขนบทปฏิบัติไว้อย่างมีเหตุผล และปัญญา ทำให้เกิดความเชื่อและปฏิบัติมาตลอดเสมือนพิธีการสำคัญ โดยไม่เคยคิดว่าทำไปทำไม แต่ทุกคนต้องเอาเด็กวางในกระด้งแล้วร่อนรับขวัญ ญี่ปุ่นจึงสรุปว่า “คนไทยชอบทำอะไรตามๆกันอย่างไม่รู้ ไม่ถามว่าทำไปทำไม”  จึงผลิตของมาขายคนหนึ่งแล้วให้คนอื่นซื้อตามโดยไม่รู้ว่าซื้อไปทำไม (ฮา)

เรื่องตัวเลข ๔๐% คือ ป่าอนุรักษ์ + ป่าเศรษฐกิจ ; ๑๕+ ๒๕ มาเป็น ๒๕+๑๕ ก็คงเช่นเดียวกันคงเป็นเรื่องที่คิดว่าเป็นขนบ อันดีงามอยู่แล้ว ควรทำตามๆกันไปโดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าทำไปทำไม จึงเห็นคนไทย ไม่แปลกใจ และไม่ตั้งคำถามกับตัวเลข ๔๐% ว่าจำเป็นหรือไม่อย่างไร  จะต้องสร้างและสลับตัวเลข ๑๕ กับ ๒๕ ทำไม

ก่อนที่จะให้เกิดการทำตามๆกันไปอย่างไม่รู้จนขาดสติปัญญา และหมกมุ่นกันเกินไปในเป้าหมาย และวิธีการผมจึงขอเป็น “คนไทยถาม” ขอตั้งคำถามเพื่อร่วมกันแสวงหาคำตอบว่าอะไรคือปัญญา อะไรคืออวิชชา
คำถามที่ ๑ : ป่า ๔๐% จำเป็นจริงไหม?  อย่างไร?
คำถามที่ ๒ : ป่า ๔๐% เป็นคัมภีร์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องยึดถือ และต้องทำอย่างไม่รู้ว่าทำไปทำไม? ใช่หรือไม่?
คำถามที่ ๓ : ป่า ๔๐% ใครเป็นคนคิด บนแนวทางและหลักการอะไร?
คำถามที่ ๔ : เหตุใดจึงไม่คิดว่า ป่า ๔๐% ควรอยู่ตรงไหน และเพื่อตอบโจทย์อะไร
คำถามที่ ๕ : ป่า ๔๐%  ประชาชนได้อะไร หรือไม่เกี่ยว
คำถามที่ ๖ : เมื่อป่า ๔๐% ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่และหน้าที่ของประชาชน  ป่า ๔๐% จึงเป็นภาระหน้าที่อันผูกขาดของรัฐ(กรมป่าไม้) ใช่หรือไม่?
คำถามที่ ๗ : ป่า ๔๐% กลายเป็นสิ่งมาตรฐานเสมือนคู่มือวิชาการ และอำนาจรัฐ ทั้งมิติความรู้ และพื้นที่ใช่ไหม?
คำถามที่ ๘ : การออกแบบเป้าหมาย วิธีการ จึงจะทำโดยรัฐและทำอย่างไร ก็ได้กระนั้นหรือ?
คำถามที่ ๙ : ป่า ๔๐% จึงติดกับดักด้วยตัวเลข ๒๕+๑๕ หรือ๑๕+ ๒๕ ใช่หรือไม่?
คำถามที่ ๑๐ : ป่า ๔๐% จึงเป็นการจัดกรอบทั้งรูปแบบ และพื้นที่ว่าต้องเป็นป่าอยู่ในป่า เป็นอย่างอื่นไม่ได้ใช่หรือไม่
คำถามที่ ๑๑ : ตัวเลข ๑๕+๒๕  หรือ  ๒๕+๑๕ หมกมุ่นกับ ๔๐% และยิ่งห่างไกลจากประชาชนไปทุกทีหรือไม่
คำถามที่ ๑๒ : ป่า ๔๐% จึงเคลื่อนตัวเลขเข้าไปในป่า ที่เป็นป่าที่ผูกขาดโดยรัฐและระบบทุนใช่ไหม!
คำถามที่ ๑๓ : ชุดความเชื่อของรัฐ เชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ในการฟื้นฟูเป็นป่าเศรษฐกิจทั้งยูคาลิปตัส และยางพารา ปาล์มน้ำมันใช่ไหม  มีหลักฐานความเชื่อที่ลงตัวของวิชาการ ราชการและด้านการเมืองเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างไร?
คำถามที่ ๑๔ : ปี๒๕- ๓๐จึงเห็นการประกาศ  ให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหลายแห่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และอีกปีถัดมา มีมติครม.ให้เป็นป่าเสื่อมโทรม อีกไม่นานให้เช่าใช้ประโยชน์โดยรายใหญ่สร้างป่าเศรษฐกิจ ใช่หรือไม่?
คำถามที่ ๑๕ : หลังปิดป่า ๒๕๓๑ แม้นหมกมุ่นในตัวเลข ๔๐% แต่เริ่มลังเลในวิชาการใช่หรือไม่  อย่างไร?
คำถามที่ ๑๖ : การเตรียมประกาศ พื้นที่อนุรักษ์ ๒๕%  อย่างเข้มข้นเริ่มขึ้นและมีพื้นที่ทั้งป่าปลูก และการอนุรักษ์เข้มข้นใช่ไหม?
คำถามที่ ๑๗ : ขณะที่การส่งเสริมให้เอกชนรายใหญ่ เริ่มขึ้นแต่ไม่บรรลุผลในช่วงเวลาเดียวกันใช่ไหม?มันบ่งบอกพิรุธอะไร?
คำถามที่ ๑๘ : จึงปรับแนวสู่การส่งเสริมรายย่อยให้ปลูกป่าด้วยพ.ร.บ.สวนป่า ๒๕๕๕ ใช่หรือไม่
คำถามที่ ๑๙ : หลังมี พ.ร.บ.สวนป่า ๒๕๓๕ โครงการปลูกป่าเศรษฐกิจรัฐให้ฟรีพื้นที่ไร่ละ ๓,๐๐๐ บาท ตัวเลขราว ๒ ล้านไร่ และด้วยปัญหาในวิธีการใช่ไหม ผู้ปลูกป่าจึงโค่นต้นไม้และเปลี่ยนเป็นพืชไร่ พืชสวนจนเหลือไม่ถึง ๕ แสนไร่ มันคืออะไร
คำถามที่ ๒๐ : นั่นหมายถึงการผูกขาดทั้งวิธีการ และพื้นที่โดยรัฐ เป็นความล้มเหลว แต่ไม่เคยจดจำใช่ไหม?
คำถามที่ ๒๑ : ทำไมจึงสร้างรูปแบบวิธีการป่า ๔๐% ที่ราชการเป็นผู้กำหนดอยู่ร่ำไป
คำถามที่ ๒๒ : นิยามป่านั้นนานาชาติ เขากำหนด แต่ครึ่งแฮกแตร์ มีเรือนยอดไม้สูง ๕ เมตร ปกคลุมเป็นป่าแล้ว ใช่หรือไม่?
คำถามที่ ๒๓ : สวนป่ายูคาลิปตัส, วนเกษตร, สวนยางพารา, สวนปาล์ม, สวนผลไม้, ทำไมจึงไม่ได้รับการนับเข้าเป็นป่าด้วยนิยามอย่างประเทศอื่นๆ
คำถามที่ ๒๔ : ตัวเลขพื้นที่สวนยางพาราจากการใช้สมการของผมยางพารา ราว ๓๐ ไร่ เท่ากับ ๑๐% ถ้านับรวมกับพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ๑๐๒ ล้านไร่ ก็เกิน ๔๐% แล้วหรือไม่
คำถามที่ ๒๕ : การปลูกรายย่อยในพื้นที่เกษตร จึงไม่ตรงประเด็นคำว่าป่า ๔๐%ทั้งพื้นที่ และวิธีการ จึงไม่มีทางรวมนับเข้า๔๐%ได้เลย ใช่หรือไม่?
คำถามที่ ๒๖ : แนวทวงคืนผืนป่าอีก ๒๖ ล้านไร่ จึงเข้มข้น เข้มแข้งและตอบโจทย์ คำว่าพื้นที่ และวิธีของรัฐใช่ไหม เพราะอะไร?
คำถามที่ ๒๗ : การทวงคืนผืนป่า อีก ๒๖ ล้านไร่, มันตอบแนวคิด,มุมมองพลเมืองตามลัทธิจักรวรรดินิยมว่า “ดื้อ ชั่ว โง่ อ่อนแอ” หรือไม่?  จึงมุ่งเน้นไปในการบังคับ ควบคุม อนุญาต และทำให้ใช่ไหม?
คำถามที่ ๒๘ : ตัวเลขจะทวงคืนป่า ๒๖ ล้านไร่ จะเอามาจากไหน?
คำถามที่ ๒๙ : เป็นตัวเลขที่ดินทำกิน ประเทศ ๓๕ ล้านไร่ ยังไม่มีเอกสาร คือ เป้าหมายทวงคืน ใช่หรือไม่ ?
คำถามที่ ๓๐ : มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าแนวคิดป่า ๔๐% แบบอำนาจนิยม
คำถามที่ ๓๑ : ตรรกะวิบัติจึงเกิดขึ้นเชิงสมการว่า ; ทวงคืนผืนป่าสงวน ๒๖ ล้านไร่ แล้วปลูกต้นไม้ = จะได้ป่า ๒๖ ล้านไร่  บนทฤษฎีสมคบคิด และสมประโยชน์  โดยไม่ถามว่า หากรัฐได้ป่ามา ๒๖ ล้านไร่ ประชาชนจะมีการสูญเสียที่ดินทำกิน ๒๖ล้านไร่ใช่ไหม?
คำถามที่ ๓๒ : ชุดความคิดนานาชาติที่สร้างป่าสำเร็จ เขาทำด้วยวิธีใดตั้งกองกำลังติดอาวุธ หรือโดยพลังประชาชน
คำถามที่ ๓๓ : ทำไมความคิดชุดใหม่ต้องเข้ามา ด้วยปัญญาและไม่หมกมุ่น และอยู่บนหลักการอะไร?
คำถามที่ ๓๔ : มีป่า ๔๐ ล้านไร่ แล้วไง ประชาชนมีความสุขจริงไหม?
 
-พงศา ชูแนม  ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้
 
Credit
[1] รูป ป่าไม้ไทยเหลือเท่าไร, http://www.greenintrend.com/

Share Post :
Scroll to Top